xs
xsm
sm
md
lg

ชะตากรรมเจ้าหญิงศรีอยุธยายามกรุงแตก! จากดอกฟ้าต้องมาบำเรอชาวดิน!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค



เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในปี ๒๓๑๐ พม่าได้เผาทำลายทุกอย่างแม้ปราสาทราชวัง เก็บกวาดทรัพย์สินทุกอย่างทั้งของราษฎรและท้องพระคลัง เมื่อจะถอยทัพกลับไปก็กวาดต้อนผู้คนไปด้วย มีตัวเลขว่าพม่ากวาดต้อนคนไทยไปในครั้งนี้กว่า ๓๐,๐๐๐ คน ในจำนวนนี้มีเชื้อพระวงศ์กว่า ๒,๐๐๐ คน ส่วนขุนนางข้าราชการและเชื้อพระวงศ์ที่เจ็บป่วยหรือเดินทางไกลไม่ไหว ก็นำไปคุมขังไว้ที่ค่ายโพธิ์สามต้น ในบังคับบัญชาของ สุกี้พระนายกอง ผู้ได้รับมอบหมายให้ดูแลกรุงศรีอยุธยาต่อไป

พงศาวดารพม่าได้จดบัญชีเฉพาะเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงที่ถูกกวาดต้อนไปในครั้งนี้ มีทั้งอดีตกษัตริย์อย่าง พระเจ้าอุทุมพร และระดับพระมเหสี พระโอรส พระธิดา พระอนุชา พระขนิษฐา พระนัดดา มี ๖๘ พระองค์ ยังไม่นับระดับรองลงมาและพระสนม แต่ทุกองค์ก็ได้รับการดูแลอย่างดีมีตำหนักให้อยู่อย่างสมศักดิ์ศรี ไม่ได้เป็นแค่เชลยศึก มีงานการให้ทำคามความสามารถ อย่าง พระเจ้าอุทุมพร ทรงได้รับมอบงานให้รวบรวมพงศาวดารของกรุงสรีอยุธยาไว้ ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่า “คำให้การของขุนหลวงหาวัด” ฝ่ายหญิงหลายองค์ก็ได้รับการอภิเษกเป็นพระมเหสีของกษัตริย์พม่าหรือเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง มีทายาทได้บริหารราชการแผ่นดินในราชวงศ์พม่า

ส่วนที่ถูกควบคุมไว้ที่ค่ายโพธิ์สามต้น เมื่อพระเจ้าตากสินยึดค่ายโพธิ์สามต้นได้ ก็พบเชื้อพระองศ์หลายองค์ถูกควบคุมตัวอยู่ที่นั่น พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า

“...เจ้าฟ้าสุริยา เจ้าฟ้าจันทวดี สองพระองค์นั้นดับสูญสิ้นพระชนม์ ยังอยู่แต่เจ้าฟ้าพินทวดี พระองค์เจ้าฟักทอง พระองค์เจ้าทับทิม ซึ่งเรียกว่าเจ้าครอกจันทบูรนั้น และเจ้ามิตร บุตรีกรมพระราชวัง โปรดให้ชื่อ เจ้าประทุม หม่อมเจ้ากระจาด บุตรีกรมหมื่นจิตรสุนทร โปรดให้ชื่อ เจ้าบุปผา กับหม่อมเจ้าอุบล บุตรีกรมหมื่นเทพพิพิธ หม่อมเจ้าฉิม บุตรีเจ้าฟ้าจีด ทั้งสี่องค์นี้ทรงพระกรุณาเลี้ยงเป็นห้าม...”

เจ้าฟ้าสุริยา เจ้าฟ้าจันทวดี เจ้าฟ้าพินทวดี พระองค์เจ้าฟักทอง ๔ พระองค์นี้เป็นพระราชธิดาพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ๒ องค์แรกสิ้นพระชนม์ก่อนที่สมเด็จพระเจ้าตากสินจะไปถึง หม่อมเจ้ามิตร เป็นธิดาของ “เจ้าฟ้ากุ้ง” เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ กรมพระราชวังบวร

หม่อมเจ้าฉิม เป็นธิดาเจ้าฟ้าจีด กรมขุนสุรินทรสงคราม แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง และเป็นพระเจ้าหลานเธอในสมเด็จพระเพทราชา

เจ้าฟ้าพินทวดี เป็นพระพี่นางของพระเจ้าเอกทัศน์และพระเจ้าอุทุมพรนั้น พระเจ้าตากสินทรงอุปการะจนมีพระชนม์ยืนยาวมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นเจ้านายที่ถ่ายทอดขนบธรรมเนียมและพระราชพิธีของกรุงศรีอยุธยามาสู่กรุงรัตนโกสินทร์ เรียกกันว่า “เจ้าฟ้าหญิงแก่” ทรงได้รับการยกย่องเป็นเจ้าฟ้าจนสิ้นพระชนม์ชีพใน พ.ศ.๒๓๔๔ ขณะมีพระชนมายุ ๙๔ ปี ทรงเป็นเจ้าฟ้าถึง ๓ แผ่นดิน คือกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์

วิถีพระชนม์ชีพของเจ้าฟ้าพินทวดีนั้นสูงส่ง แต่เจ้าหญิงกรุงศรีอยุธยาอีกกลุ่มหนึ่ง บางคนก็ออกจากค่ายโพธิ์สามต้นมาด้วยกัน กลับต้องผจญกับวิบากกรมอย่างหนัก

เจ้าหญิงจากค่ายโพธิ์สามต้นอีก ๒ องค์ พระเจ้าตากสินทรงรับมาอยู่กรุงธนบุรีในฐานะนางห้าม คือ หม่อมเจ้ามิตร ธิดาเจ้าฟ้ากุ้ง พระราชทานนามใหม่ว่า เจ้าประทุม กับ หม่อมเจ้ากระจาด บุตรีกรมหมื่นจิตรสุนทร โปรดให้ชื่อ เจ้าบุปผา

ส่วน หม่อมเจ้าอุบล บุตรีกรมหมื่นเทพพิพิธ กับ หม่อมเสม นางห้ามของกรมหมื่นเทพพิพิธ ที่หนีออกจากกรุงศรีอยุธยาไปได้ก่อนกรุงแจก กลับต้องสำบุกสำบันอย่างหนัก

กรมหมื่นเทพพิพิธเคยต้องข้อหากบฎต่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระราชบิดา ถูกเนรเทศไปอยู่ลังกา แต่ตอนพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยา กรมหมื่นเทพพิพิธแอบกลับเข้ามาทางเมืองมะริด ไปส้องสุมกำลังอยู่ที่ปราจีนบุรี แล้วส่งคนสนิทกลุ่มหนึ่งไปพาลูกเมียหลบออกมาจากกรุงศรีอยุธยาได้ ต่อมาส่งคนไปลอบฆ่าเจ้าเมืองนครราชสีมาและเข้ายึดเมืองขึ้นเป็นเจ้าเมืองเอง แต่ก็เป็นช่วงเวลาสั้นๆ จากนั้นก็ถูก หลวงแพ่ง น้องชายเจ้าเมืองที่ถูกฆ่ามาชิงเมืองคืน โอรสและคนสนิทถูกฆ่าตายหมด ลูกสาวกับเมียก็ถูกหลวงแพ่งแจกจ่ายไปให้ลูกน้อง หม่อมเจ้าอุบล ธิดา ต้องตกไปเป็นเมียนายแก่น ส่วนหม่อมเสม นางห้าม ก็ตกเป็นเมียของนายย่น

กรมหมื่นเทพพิพิธรอดไปได้ กลับไปตั้งตัวเป็นใหญ่ในเมืองพิมาย เพราะพระยาพิมายนิยมกษัตริย์ และเห็นว่ากรมหมื่นเทพพิพิธเป็นเจ้าองค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา น่าจะขึ้นเป็นกษัตริย์ได้ นำกำลังมาตีนครราชสีมาคืน หลวงแพ่ง นายแก่น นายย่น ถูกฆ่าตายหมด หม่อมเจ้าอุบลเลยเป็นหม้าย ส่วนหม่อมเสมได้กลับเป็นนางห้ามของกรมหมื่นเทพพิพิธตามเดิม

เมื่อพระเจ้าตากสินทรงมาปราบก๊กเจ้าพิมายนี้ กรมหมื่นเทพพิพิธจะพาครอบครัวหนีออกจากนครราชสีมา แต่ถูกจับตัวไปถวาย กรมหมื่นเทพพิพิธยังคิดว่าตัวเองเป็นเจ้า จึงไม่ยอมถวายความเคารพพระเจ้าตาก ในที่สุดก็ถูกประหารชีวิต ส่วนหม่อมเจ้าอุบลและหม่อมเสมนั้น พระเจ้ากรุงธนรับไว้เป็นพระชายา

ในจำนวนเจ้าหญิงกรุงศรีอยุธยาที่พระเจ้าตากสินทรงอุปการะไว้ นอกจากหม่อมอุบลและหม่อมเสมแล้ว ยังมีอีกตัวละครที่สำคัญในตอนจบนี้อีก ๒ องค์คือ หม่อมฉิม กับ หม่อมประทุม

“หม่อมฉิม” หรือ พระองค์เจ้าหญิงฉิม เป็นธิดา เจ้าฟ้าจีด แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง และเป็นพระเจ้าหลานเธอในสมเด็จพระเพทราชา เมื่อตอนที่พม่ายกเข้ามาก่อนกรุงแตกนั้น เจ้าพระยาพิษณุโลกได้ยกทัพไปยันพม่าที่กรุงสุโขทัย เจ้าฟ้าจีดกลับถือโอกาสยกกำลังจากกรุงศรีอยุธยาขึ้นไปยึดเมืองพิษณุโลก แล้วตั้งตัวเป็นเจ้าเมืองแทน เจ้าพระยาพิษณุโลกทราบข่าวก็วางมือจากพม่า กลับมายึดเมืองพิษณุโลกคืน จับเจ้าฟ้าจีดถ่วงน้ำ ครอบครัวของเจ้าฟ้าจีดรวมทั้งพระองค์เจ้าฉิม ต้องตกเป็นเชลยอยู่ในเมืองพิษณุโลก จนพระเจ้าตากสินขึ้นไปปราบก๊กเจ้าพระยาพิษณุโลกได้ รับพระองค์เจ้าหญิงฉิมไว้เป็นพระชายา

อีกองค์คือ “หม่อมประทุม” ธิดาเจ้าฟ้าธรรมธิเบศ ถูกจับเป็นเชลยอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น เมื่อพระเจ้าตากสินทรงรับมาอยู่กรุงธนบุรี ยกไว้ในตำแหน่งพระชายา พระราชทานนามใหม่จาก “หม่อมเจ้าหญิงมิตร” เป็น “หม่อมเจ้าหญิงประทุม”

ใน ๔ พระชายาคนโปรดนี้ ทรงโปรดหม่อมฉิมและหม่อมอุบลเป็นพิเศษ ให้บรรทมบนพระที่ซ้ายขวา ทำให้เป็นที่อิจฉาของพระชายาทั้งหลาย

ในปี พ.ศ.๒๓๑๒ ได้เกิดความแห้งแล้งอย่างหนัก หนูจากทุ่งนาได้บุกเข้าไปกัดพระวิสูตรในห้องบรรทมขาด รับสั่งให้มหาดเล็กที่ใกล้ชิด ๒ คนซึ่งเป็นฝรั่งสัญชาติโปรตุเกส มีตำแหน่ง ชิตภูบาล กับ ชาญภูเบศร์ เข้าไปกำจัดหนูในห้องบรรทมและห้องเสวย ต่อมาโจษขานกันว่า หนุ่มฝรั่ง ๒ คนได้ค้นเจอ “น้องหนู” ของหม่อมฉิมกับหม่อมอุบล ชายาองค์โปรดเข้า หม่อมประทุมจึงนำเรื่องขึ้นกราบทูล
เมื่อรับสั่งเรียกหม่อมทั้งสองมาสอบถาม หม่อมอุบลปฏิเสธตลอดข้อหา แต่หม่อมฉิมเป็นคนโวหารกล้า แสดงอาการแค้นเคืองคนที่ใส่ความ และประชดด้วยการรับว่าเป็นเรื่องจริง ขอตายดีกว่าถ้าไม่ทรงเชื่อ ทั้งยังยุหม่อมอุบลด้วย หม่อมอุบลก็เลยรับสารภาพประชดบ้าง
ถึงตอนนี้พระเจ้าตากสินทรงกริ้วอย่างหนัก รับสั่งให้ลงโทษสองพระชายาองค์โปรดด้วยความแค้นพระทัย
พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวว่า

“ถึงวันจันทร์ เดือน ๗ แรมค่ำ ๑ หม่อมเจ้าอุบล หม่อมเจ้าฉิม กับนางละครอีก ๔ คน เป็นชู้กับฝรั่งมหาดเล็กสองคน พิจารณาเป็นสัตย์แล้ว มีพระบรมราชโองการสั่งให้พวกฝีพาย ทนาย เลือกไปทำชำเราประจาน แล้วตัดแขน ตัดศีรษะ ผ่าอกทั้งชายหญิง อย่าให้ใครดูเยี่ยงกันต่อไป”
เมื่อรับสั่งให้ประหารพระชายาองค์โปรดไปแล้ว

พระเจ้าตากสินก็ไม่มีความสบายพระราชหฤทัยเลย ทรงอาลัยหม่อมอุบลซึ่งกำลังมีครรภ์สองเดือน ทำให้พระราชโอรสในครรภ์ต้องพลอยรับกรรมไปด้วย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชวิจารณ์เรื่องนี้ไว้ว่า

“การที่ทรงอาไลยหม่อมอุบลขึ้นมานั้น จะไม่ใช่แต่มีครรภ์ จะคิดเห็นไปว่าหม่อมอุบลพลอยรับไปด้วยตามคำหม่อมฉิม ฤาบางทีพิจารณา พอหม่อมฉิมรับก็ทึกทักเอาเปนรับทั้งสองคน จึงทรงอาไลยสงสาร”

ความอาลัยในหม่อมอุบลนี้ ทำให้ทรงโทรมนัสอย่างหนัก ถึงกับตรัสว่าจะตายตามพระชายา และถามว่า “ใครจะตายกับกูบ้าง”

จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี บันทึกไว้ว่า

“เสม เมียกรมหมื่นเทพพิพิธ ว่าจะตามเสด็จ หม่อมทองจันทร์ หม่อมเกษ หม่อมลาสังบุษบาจะตามเสด็จด้วย ประทานเงินคนละ ๑ ชั่งให้บังสุกุลตัวเอง ทองคนละ ๑ บาทให้ทำพระ แล้วให้นั่งแพหยวก นิมนต์พระเข้ามาบังสุกุล แล้วจะประหารคนที่ยอมตามเสด็จนั้นก่อน แล้วท่านจะแทงพระองค์ท่านตามไปอยู่ด้วยกันเจ้าข้า พระสตินั้นฟั่นเฟือน”

พระราชวิจารณ์ของ ร.๕ ตอนนี้มีว่า

“เสมเมียกรมหมื่นเทพพิพิธที่ยอมตายตามเสด็จคนนี้ เคยตกเป็นเมียนายย่นพวกหลวงแพ่งครั้งหนึ่งมาแล้ว ทั้งเวลากรมหมื่นเทพพิพิธเปนเจ้าพิมายอยู่ดังนั้น ทีจะเปนคนแปดเหลี่ยมแปดคม”

เมื่อเหตุการณ์ไปถึงขั้นนี้ ท้าวทรงกันดาร (ทองมอญ) ซึ่งเป็นแม่วังอยู่ จึงนิมนต์พระสงฆ์เข้ามาชุมนุมทูลขอชีวิตไว้ ว่าแม้พระองค์สละพระชนม์ชีพไป จะได้พบพระชายาก็หามิได้ เหตุการณ์บ้านเมืองยามนี้ หากขาดพระประมุขที่ทรงกอบกู้ชาติมา ประชาชนชาวไทยจะพึ่งใครได้เล่า เมื่อบรรดาสงฆ์ให้สติ พระเจ้าตากสินจึงคืนพระสติ ล้มเลิกเรื่องจะตายตามพระชายา และประทานเงินเพิ่มแก่ผู้จะตายตามเสด็จ

หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้แล้ว พระอารมณ์ของพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ไม่เหมือนเดิม ทรงโมโหง่ายและดุร้ายขึ้น ทรงมุ่งแต่การนั่งพระกรรมฐาน บางครั้งก็ประทับแรมที่วัดอินทาราม บางยี่เรือ ทั้งคืน จนสำคัญว่าพระองค์บรรลุโสดาบันแล้ว จึงเชื่อกันว่า การจำต้องสังหารหม่อมคนโปรด และพระราชโอรสที่อยู่ในครรภ์ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พระสติของพระเจ้ากรุงธนบุรีฟั่นเฟือน

นี่ก็เป็นเรื่องราวของเจ้าหญิงอยุธยาที่ต้องเผชิญชะตากรรมยามบ้านแตกสาแหรกขาด
กำลังโหลดความคิดเห็น