อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เดินหน้าปิดอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ 133 แห่ง ปีละไม่น้อยกว่า 2 เดือน หรือมากกว่านั้น พร้อมผลักดันการคุมปริมาณนักท่องเที่ยวไม่ให้มากจนเกินไป จนกระทบกับการฟื้นตัวทรัพยากรธรรมชาติ
จากกรณี ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์สนับสนุนแนวคิด นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้สั่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เร่งทำตารางกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับปิดอุทยานแห่งชาติ 157 แห่ง เพื่อฟื้นฟูความสมบูรณ์ของผืนป่าทรัพยากรธรรมชาติ และสัตว์ป่า เป็นเวลา 3 เดือนในทุกปี
อย่างไรก็ตาม วันนี้ (11 พ.ค.) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวอีกครั้ง โดยได้ระบุข้อความ โดยได้ยกเกาะยูงที่ถูกปิดถาวร และการปิดอ่าวมาหยา จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง ทำให้ระบบนิเวศบริเวณโดยรอบดีขึ้นตามลำดับ พบเห็นสัตว์หายากบริเวณรอบๆ เกาะ ทั้งนี้ ดร.ธรณ์ ได้ระบุข้อความว่า
“ผลจากโควิดทำให้คนรักทะเลยิ้มแป้นเลยครับ อะไรที่เคยฝันกัน เช่น ปิดอุทยานบางช่วง/บางพื้นที่ จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว ตอนนี้ท่าน รมต.สั่งการ อุทยานขานรับกันแล้วครับ ท่านอธิบดีธัญญา บอกว่า จะเน้นทั้งการปิด/จำกัดจำนวน และจะเร่งให้อุทยานโชว์ให้ดูว่าก่อนปิด/หลังปิด มีผลดีอย่างไร
ผมจึงนำ พีพีโมเดล มาเป็นตัวอย่าง ที่นั่นเราปิดเกาะยูงถาวร และปิดอ่าวมาหยาจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง ที่เกาะยูง ปะการังโตพรึ่บ พื้นที่ปะการังน้ำตื้นเพิ่มขึ้นทุกปี 4 ปีติดต่อกัน ล่าสุด มีฉลามหูดำเข้ามาเพียบ ลองย้อนไปดูคลิป 21 วินาที มีฉลาม 3 ตัว ว่ายผ่านที่อ่าวมาหยา ดูภาพประกอบได้ ผมนำมาให้ดูเป็นตัวอย่าง
หากมีแต่เรือเช่นนั้น คงไม่มีคลิปฝูงฉลามว่ายเกยฝั่ง จนเป็นข่าวกระหึ่มไปทั่วไทยทั่วโลก ยังมีฉลามที่เกาะตาชัยที่ปิดถาวร รวมถึงเรื่องดีๆ จากสิมิลัน ผมสนับสนุนแนวทางเช่นนี้แน่นอน เพราะเป็นแนวทางที่บอกไว้หลายต่อหลายหน ว่า อุทยานทางทะเลต้องมี
- มีแผนจัดการ 3-5 ปี และทำตามแผนอย่างเคร่งครัด
- มีพื้นที่ปิดเพื่อเป็นเขตสงวน
- มีพื้นที่เปิดปิดเป็นระยะเพื่อให้ทะเลพัก
- มีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวแต่ละจุดให้ชัดเจนและปฏิบัติได้
แต่ทั้งหมดนี้ ต้องรอบคอบ และมีการนำเสนอแผนเพื่อช่วยกันคิดกับหน่วยงานในพื้นที่/ผู้ประกอบการ/ชาวบ้าน ฯลฯ ซึ่งกลไกอุทยานมีคณะที่ปรึกษาประจำอุทยานแต่ละแห่งอยู่แล้ว ควรเร่งให้มีการดำเนินการ และรับฟังให้ถ้วนถี่ ไม่เช่นนั้น จะเกิดปัญหาภายหลัง เท่าที่ทราบ กรมทรัพยากรทางทะเลฯ ก็กำลังเร่งทำแผนอยู่เช่นกันครับ มีข่าวคืบหน้าอย่างไรจะรีบนำมาบอกเพื่อนธรณ์
ชอบครับชอบ ทั้งอุทยาน ทั้งกรมทะเล ทำงานแข็งขัน ดีใจมากที่ความฝันของคนรักทะเลไทยเริ่มใกล้ความจริง และอยากเห็นการเดินหน้าเต็มกำลังในช่วง 1-3 เดือนต่อจากนี้ เดี๋ยวจะหาภาพที่เกาะยูงมาโพสต์ให้ดูครับ”
นอกจากนี้ ทางเพจ “I Green” ได้รายงานเพิ่มเติมว่า นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้มีการประชุมและมีข้อสรุปว่าให้แต่ละอุทยานทั่วประเทศ จำนวน 133 แห่ง จัดทำแผนการปิดอุทยานตามนโยบายของนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้พิจารณาปิดไม่ต่ำกว่า 2 เดือนต่อปีหรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่
อีกนโยบายที่จะนำมาพิจารณาควบคู่กัน คือ การจำกัดนักท่องเที่ยวไม่ให้มากจนเกินไป แม้ที่ผ่านมาจะมีรายได้มาก โดยเฉพาะอุทยานทางทะเล แต่จะพบว่าจำนวนมากนักท่องเที่ยวมากจนเกินไป ซึ่งไม่สอดคล้องกับนโยบาย ดังนั้น นอกจากปิดแล้วจะจำกัดปริมาณด้วย เพราะอุทยานไม่ได้ต้องการรายได้เป็นหลัก แต่เน้นการฟื้นฟูของทรัพยากรธรรมชาติด้วย