xs
xsm
sm
md
lg

“วราวุธ” ผุดไอเดีย ปิดการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทุกปี หลังสัตว์ป่าเริงร่าช่วงโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยว เลียงผาสัตว์หายากก็ออกมาเที่ยวยังผาเดียว อช. เขาใหญ่ (ภาพ ปชส. กรมอุทยานฯ)
“วราวุธ” เสนอแนวคิด ปิดการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศทุกปี อย่างต่ำ 3 เดือน เพื่อให้ธรรมชาติได้พักฟื้น หลังเห็นผลชัดเจนจากการปิดอุทยานช่วงปิดโควิด-19 พบสัตว์ป่า สัตว์ทะเล ปรากฏตัวให้เห็นเป็นจำนวนมาก

หลังวิกฤติโควิด-19 ทำให้ต้องปิดแหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทั้งหมดชั่วคราว แต่นั่นกลับทำให้ธรรมชาติฟื้นตัว สัตว์จำนวนมาก ทั้งสัตว์ป่า สัตว์ทะเล ต่างเริงร่ามาอวดโฉมเป็นจำนวนมากและบ่อยครั้ง อีกทั้งยังพบเจอสัตว์หายากที่มีโอกาสพบเจอยากมาก จนมีกระแสเรียกร้องให้มีการจัดความสมดุลระหว่างการท่องเที่ยวกับธรรมชาติหลังโควิด-19 คลี่คลาย

นายวราวุธ ศิลปอาชา
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้เปิดเผยถึงเรื่องดังกล่าวว่า ในช่วงเกือบ 2 เดือนหลังมีการปิดแหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ พบเรื่องดี ๆ ว่ามีสัตว์ป่ามากมายออกมาหาอาหารและออกมารวมฝูงนอกพื้นที่มากขึ้น เพราะไม่มีมนุษย์เข้าไปรบกวนถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า

ทั้งนี้หากสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ รมว.ทส. ได้กำชับให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทำตารางกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมในการปิดแหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศในทุก ๆ ปี อย่างต่ำเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ผืนป่า และสัตว์ป่า

นายวราวุธ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในส่วนของประชาชนต้องขอความร่วมมือว่า หากจะเข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติขอให้ศึกษาตารางการเปิด-ปิดอุทยานแต่ละแห่งก่อน เพราะอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งจะปิดไม่ตรงกัน ถือเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่ใช้เพื่อการอนุรักษ์และเกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

นายธัญญา เนติธรรมกุล
ด้าน นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า จากกรณีดังกล่าว กรมอุทยานฯได้ร่วมหารือกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว เบื้องต้นได้ข้อสรุปว่า นับแต่นี้ต่อไป จะให้อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศทั้ง 133 แห่ง ทำแผนปิดพื้นที่อุทยานเพื่อให้ทรัพยากรในพื้นที่ได้ฟื้นฟูตัวเอง ปีละ 1 ครั้ง ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

นายธัญญา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การปิดแหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติแม้จะทำให้ขาดรายได้ไปจำนวนมาก แต่สิ่งที่ได้กลับมา คือ การฟื้นคืนของธรรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นมูลค่ามหาศาลที่ประเมินราคาไม่ได้

“ผมสั่งการให้หัวหน้าอุทยานทุกแห่งทำแผนมาว่า ต่อไปนี้ เราจะต้องปิดทำการ คือ ห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่ เพื่อให้ทรัพยากร สัตว์ป่าได้พัก ได้ฟื้นฟูตัวเอง อย่างน้อยปีละไม่ต่ำกว่า 2 เดือน” นายธัญญากล่าว

หมีหมาเดินข้ามถนนที่เขาใหญ่ในระหว่างปิดการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ช่วงโควิด-19 (ภาพ? : นายปกครอง ทองเนื้อแข็ง หัวหน้าศูนย์กู้ภัยอุทยานแห่งชาติที่ 3 จ.นครราชสีมา)
นอกจากนี้ อธิบดีกรมอุทยานฯ ยังได้ยกตัวอย่างกรณีอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่เป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลกว่า แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวเขาใหญ่มากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น ปัญหาเรื่องขยะ จนมีสัตว์ป่าออกมากินขยะ ซึ่งที่ผ่านมา กรมอุทยานฯ ไม่เคยปิดเขาใหญ่เลย แต่นับไปนี้เขาใหญ่จะต้องปิดทำการ เพื่อให้ทรัพยากรได้มีโอกาสฟื้นตัว ซึ่งที่ผ่านมาเห็นผลชัดเจนมาจากการปิดอุทยานแห่งชาติต่าง ๆ ในช่วงโควิด-19

ขณะที่ในส่วนของอุทยานแห่งชาติทางทะเลนั้น นายธัญญากล่าวว่า ปกติอุทยานแห่งชาติทางทะเลจะปิดทำการทุกปีในช่วงฤดูมรสุม ซึ่งหลังจากนี้ก็ต้องทำแผนเพิ่มเติมเข้ามาช่วงที่ปิดทำการนั้นจะดำเนินการอย่างไรบ้าง โดยแต่ละแห่งก็จะมีวิธีปฏิบัติที่ไม่เหมือนกัน

ฝูงโลมาเริงร่าบริเวณหมู่เกาะสิมิลัน (ภาพ เพจ อช.หมู่เกาะสิมิลัน)
อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวต่อว่า อุทยานแห่งชาติทางทะเลจะมีความแตกต่างจากอุทยานทางบก คือ มีเรื่องของการท่องเที่ยวที่บริษัททัวร์บางแห่งอาจจะเปิดการขายตั๋วล่วงหน้า สำหรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ อุทยานจึงต้องประกาศเป็นนโยบายออกมาให้ทราบชัดเจนว่าจะมีการปิดทำการในช่วงวันไหน เพื่อให้บริษัททัวร์ได้บริหารจัดการเวลาได้อย่างเหมาะสมด้วย

”การปิดทำการอุทยานแห่งชาตินั้นจะปิดเฉพาะเรื่องการบริการนักท่องเที่ยว ห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไป แต่เจ้าหน้าที่ทุกคนยังคงปฏิบัติงานทุกวันตามปกติ โดยเฉพาะเรื่องการลาดตระเวนรักษาป่า เจ้าหน้าที่ทุกคนยังปฏิบัติงานทุกวันตามเดิม” นายธัญญากล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น