รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยเหตุผลที่ควรปิดอุทยานทั่วประเทศทุกปี ชี้กว่า 2 เดือนที่ปิดอุทยานเพราะโควิด-19 ทรัพยากรธรรมชาติฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด สัตว์ป่าออกมารวมฝูงหาอาหาร สัตว์ทะเลหายากหลายชนิดกลับมาให้พบเห็น และยกตัวอย่างอ่าวมาหยา ที่โด่งดังของนักท่องเที่ยว เห็นภาพได้ชัดสุด เนื่องจากปิดฟื้นฟูมากว่า 2 ปีแล้ว
จากกรณีอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้มีการประชุมและมีข้อสรุปให้แต่ละอุทยานทั่วประเทศ จำนวน 133 แห่ง จัดทำแผนการปิดอุทยานตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้พิจารณาปิดไม่ต่ำกว่า 2 เดือนต่อปี หรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ของอุทยานฯ เนื่องจากพบข้อดีจากการฟื้นตัวของทรัพยากรธรรมชาติ หลังจากต้องปิดอุทยานทั่วประเทศมามากกว่า 2 เดือน จากสถานการ์ระบาดของโควิด-19
ล่าสุด วันนี้ (12 พ.ค.) เพจ “TOP Varawut-ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา” หรือ นายวราวุธ ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกมาเผยถึงเหตุผลที่ต้องปิดอุทยานทั่วประเทศ โดยระบุว่า “2 วันมานี้ เชื่อว่าหลายคนคงได้เห็นข่าวผ่านตากันบ้างแล้วถึงแนวคิดของผม กับการปิดอุทยานแห่งชาติทุกแห่งอย่างน้อยปีละ 3 เดือน หลังจาก 2 เดือนที่ผ่านมา ที่เราจำเป็นต้องปิดอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ เพื่อลดการระบาด Covid-19 แล้วพบว่าทรัพยากรธรรมชาติฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด สัตว์ป่าออกมารวมฝูงหาอาหาร สัตว์ทะเลหายากหลายชนิดกลับมาให้พบเห็น เพราะปราศจากการรบกวนจากมนุษย์ ซึ่งแนวคิดนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาข้อมูลร่วมกับนักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนการปิดอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป
วันนี้ ผมเลยอยากพาทุกคนมารู้จัก “อ่าวมาหยา” สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลก ที่ปิดมาแล้ว 2 ปี ว่า มีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างไรบ้างครับ”
อย่างไรก็ตาม มีชาวเน็ตเข้ามาสนับสนุนแนวคิดของรัฐมนตรีเป็นจำนวนมาก โดยเชื่อเป็นเรื่องที่ดี และสมควรทำ เพราะภาพการฟื้นตัวของธรรมชาติมีมาต่อเนื่องอย่างชัดเจน