xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.ธรณ์” หนุนปิดอุทยานฯ ปีละ 3 เดือน ถือเป็นแอ็กชัน new normal หลังโควิดที่ดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผศ.ดร.ธรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล สนับสนุนปิดอุทยานแห่งชาติ 157 แห่ง เพื่อฟื้นฟูความสมบูรณ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสัตว์ป่า เป็นเวลา 3 เดือนในทุกปี ชี้หากไม่รอบคอบจะเจอกระแสต้าน ดังนั้นรอบคอบจะได้ระบบที่ดีและถาวร

เมื่อวันที่ 9 พ.ค. เฟซบุ๊ก”Thon Thamrongnawasawat” หรือ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์สนับสนุนแนวคิด นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้สั่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เร่งทำตารางกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับปิดอุทยานแห่งชาติ 157 แห่งเพื่อฟื้นฟูความสมบูรณ์ของผืนป่าทรัพยากรธรรมชาติ และสัตว์ป่า เป็นเวลา 3 เดือนในทุกปี

โดย ดร.ธรณ์เผยว่า “แนวคิดปิดอุทยานปีละ 3 เดือนของนายวราวุธ ถือเป็นแอ็กชันของ new normal หลังโควิด และอาจต้องวางแผนการปฏิบัติให้รอบคอบและครบถ้วน โดยเฉพาะอุทยานทางทะเลที่มี 26 แห่ง อยู่กระจายไปทุกพื้นที่ มีทรัพยากรต่างกัน มีการใช้ประโยชน์ต่างกัน บางอุทยาน เช่น “ลำน้ำกระบุรี” พูดชื่อไปแทบไม่มีใครรู้จัก มีนักเที่ยวทั้งปีแค่หลักหมื่น ขณะที่บางอุทยาน เช่น พีพี เกาะเสม็ด สิมิลัน ฯลฯ มีนักท่องเที่ยวหลักแสน บางแห่งถึงหลักล้าน แม้แต่อุทยานที่มีคนเยอะ กลุ่มนักท่องเที่ยวก็ต่างกัน บางแห่ง 95% เป็นต่างชาติ บางแห่งไทยครึ่งต่างชาติครึ่ง บางแห่งไทยเยอะต่างชาติน้อย บางอุทยานปิดตามฤดูอยู่แล้ว เช่น สิมิลัน สุรินทร์ ปีละเกิน 3 เดือน บางแห่งปิดบางพื้นที่ในบางฤดูกาล เช่น ลันตาปิดเกาะรอก ฤดูมรสุม แต่อุทยานยังเปิดอยู่ เป็นต้น โดยอุทยานเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว สร้างรายได้มหาศาล เอาเฉพาะภูเก็ตก็ปีละ 4.4 แสนล้าน

ดังนั้น การอนุรักษ์ที่รอบคอบจะทำให้เกิดการท่องเที่ยวที่ดีงาม และทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน หากอยากทำเช่นนั้นต้องมองครบทุกมุม จากนั้นดูในภาพใหญ่รวมกัน โดยแบ่งให้ถูกต้อง เช่น กลุ่มนักเที่ยวภูเก็ตไปไหน กระบี่ไปไหน เพราะบางวันไม่ได้เข้าแค่อุทยานเดียว ภาพใหญ่ยังอาจสัมพันธ์กับการท่องเที่ยว จะมีคลัสเตอร์อยู่แล้ว เช่น อันดามัน สมุย ตะวันออก เป็นต้น และเมื่อข้อมูลฐานเรียบร้อยค่อยขยับขึ้นมาเป็นลำดับ จากกรมมากระทรวง เพราะทะเลไทยไม่ได้มีเพียงอุทยาน พื้นที่ธรรมชาติสำคัญอีกครึ่งหนึ่งอยู่ในการดูแลของกรมทะเล สัตว์หายากที่เข้ามา หลายพื้นที่ไม่ใช่อุทยาน เช่น เต่ามะเฟืองเกินครึ่งออกไข่นอกเขตอุทยาน พะยูนบ้านเพว่ายข้างนอก แน่นอนว่าหากเริ่มจากอุทยานที่มีกฎหมายชัดเจนอยู่เป็นเรื่องดี แต่นี่เป็นขั้นแรกยังมีอีกหลายขั้นที่ต้องมองในภาพรวม เมื่อได้แผนว่าจะปิดเปิดที่ไหนอย่างไร ลองกลับไปที่พื้นที่พูดคุยปรับเปลี่ยนให้เหมาะจากนั้นส่งมารวมกันอีกที แล้วค่อยลงมือทำให้เกิดผลทางปฏิบัติ ทั้งหมดนี้จะเห็นว่าซับซ้อนและกินเวลาพอสมควร และไม่ง่ายเหมือนแค่สั่งไปให้แต่ละอุทยานหาเวลาปิด 3 เดือนมา จากนั้นก็เอามารวมกันแล้วออกประกาศ

โดย ดร.ธรณ์ทิ้งท้ายว่า เพียงสนับสนุนแนวคิดของนายวราวุธที่สอดคล้องกับกระแสคนไทยที่อยากรักษาธรรมชาติไว้ให้อยู่ต่อไปนานๆ แต่ทราบดีว่าพอถึงเวลาจริง หากไม่รอบคอบก็จะเจอกระแสต้าน ดังนั้น หากเรารอบคอบเริ่มต้นแบบเหนื่อยหน่อย เราจะได้ระบบที่ดีและถาวรและการอนุรักษ์จะไปคู่กับการพัฒนาได้




กำลังโหลดความคิดเห็น