xs
xsm
sm
md
lg

‘ดร.ธรณ์’ หนุนพลิกวิกฤตเป็นโอกาส New Normal อุทยานทางทะเลไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนับสนุนแนวคิด วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. ยกกรณีเกาะยูงที่ถูกปิดถาวร และการปิดอ่าวมาหยา จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง ทำให้ระบบนิเวศบริเวณโดยรอบดีขึ้นตามลำดับ


ช่วงนี้จึงได้พบเห็นสัตว์หายากบริเวณรอบๆ เกาะ “เป็นผลจากโควิดทำให้คนรักทะเลยิ้มแป้นเลยครับ อะไรที่เคยฝันกัน เช่น ปิดอุทยานบางช่วง/บางพื้นที่ จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว ตอนนี้ท่าน รมต.สั่งการ อุทยานขานรับกันแล้วครับ ท่านอธิบดีธัญญา บอกว่า จะเน้นทั้งการปิด/จำกัดจำนวน และจะเร่งให้อุทยานโชว์ให้ดูว่าก่อนปิด/หลังปิด เกิดผลดีอย่างไร


ผมอยากให้ดูพีพีโมเดล เป็นตัวอย่าง ที่นั่นเราปิดเกาะยูงถาวร และปิดอ่าวมาหยาจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง ที่เกาะยูง ปะการังโตพรึ่บ พื้นที่ปะการังน้ำตื้นเพิ่มขึ้นทุกปี 4 ปีติดต่อกัน ล่าสุด มีฉลามหูดำเข้ามาเพียบ ลองย้อนไปดูคลิป 21 วินาที มีฉลาม 3 ตัว ว่ายผ่านที่อ่าวมาหยา ดูภาพประกอบได้ ผมนำมาให้ดูเป็นตัวอย่าง (เพจเฟซบุ๊ค Thon Thamrongnawasawat)


หากยังมีแต่เรือท่องเที่ยวเข้ามามากมาย คงไม่มีคลิปฝูงฉลามว่ายเกยฝั่ง จนเป็นข่าวกระหึ่มไปทั่วไทยทั่วโลก ยังมีฉลามที่เกาะตาชัยที่ปิดถาวร รวมถึงเรื่องดีๆ จากสิมิลัน ผมสนับสนุนแนวทางเช่นนี้แน่นอน เพราะเป็นแนวทางที่บอกไว้หลายต่อหลายหน ว่า อุทยานทางทะเลต้องมี


- มีแผนจัดการ 3-5 ปี และทำตามแผนอย่างเคร่งครัด- มีพื้นที่ปิดเพื่อเป็นเขตสงวน- มีพื้นที่เปิดปิดเป็นระยะเพื่อให้ทะเลพัก- มีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวแต่ละจุดให้ชัดเจนและปฏิบัติได้



เกาะยูงหลังจากปิดมา 4 ปี พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นเศษซากปะการัง แต่วันนี้กลายเป็นดงปะการังน้ำตื้นขนาดยักษ์สีน้ำตาลลามไปทุกทิศทาง จนเกือบชิดชายหาด (เครดิตภาพ กรมอุทยานฯ)
ดร.ธรณ์ บอกว่าทั้งสัตว์ทั้งคนมีเขตที่อยู่ หากินร่วมกันได้ในทะเลแห่งเดียวกัน เพราะฉะนั้น การเปิดโอกาสให้ทะเลพักผ่อน คือการหาจุดที่ลงตัวระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์ สมดุลพอดีอยู่ตรงไหน


วิธีการต่างๆ ที่ใช้บริหารจัดการ มีมากมายมหาศาล แล้วแต่ว่าพื้นที่ไหนควรเป็นอย่างไร
ปิดแค่ไหน ปิดบางฤดูกาล/บางเวลา จำกัดจำนวนเรือ/คนให้เหมาะ ทุ่นจอดเรือ/ทุ่นบอกเขต/ทุ่นลดความเร็ว
ระบบลงทะเบียน/อบรมส่งเสริม เปิดโอกาสรายย่อย/ท้องถิ่นมีส่วนร่วม ต้องค่อยๆ คิดให้พอเหมาะ




อีกอย่างที่สำคัญคือต้องให้พี่น้องท้องถิ่นมาช่วยคิด หลังจากนี้คงมีช่องทางต่างๆ ส่งตรงไปหาเพื่อนๆ ตามชายฝั่งและบนเกาะ ขอเพียงแค่รวมตัวเป็นเครือข่าย ช่วยกันสอดส่องดูแล ช่วยกันฟังช่วยกันคิด อันที่จริง เมืองไทยมีกลไกด้านนี้ค่อนข้างดี เช่น กรรมการที่ปรึกษาอุทยานแต่ละแห่ง กรรมการทะเลในแต่ละจังหวัด กก.ท่องเที่ยว ฯลฯ


กลไกเหล่านี้ก็มีทุกภาคส่วนอยู่ร่วมอยู่แล้ว ยังรวมถึงกลไกระดับชาติที่มีเยอะเลย ในอดีตกลไกเหล่านี้อาจยังไม่เต็มประสิทธิภาพ แต่ยุค new normal ถึงเวลาแล้วที่ต้องช่วยกัน รวมถึงเสริมช่องทางต่างๆ ในการรับฟังความคิดเห็นให้มากขึ้น เพื่อให้สัตว์หายากกับคนอยู่ด้วยกันได้ เพื่อให้แนวปะการังสดใสในขณะที่คนไปก็ยิ้มแย้ม ให้พี่น้องมีโอกาสลืมตาอ้าปาก ไม่ใช่ให้ทุนใหญ่กินรวบ ทะเลกลายไปแหล่งหาเงินแบบไม่ลืมหูลืมตาเหมือนอดีต


หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเป็นไปได้ เพราะนี่คือโอกาสสุดวิเศษของพวกเรา การท่องเที่ยวจะค่อยๆ กลับมา ระหว่างที่เรามีโอกาสเรียนรู้ปรับตัวปรับมาตรการให้เหมาะสม เพื่อทะเลและเพื่อคนไทยมีรอยยิ้มมากกว่าเมื่อวันวานครับ


ทั้งหมดนี้ ต้องรอบคอบ และมีการนำเสนอแผนเพื่อช่วยกันคิดกับหน่วยงานในพื้นที่/ผู้ประกอบการ/ชาวบ้าน ฯลฯ ซึ่งกลไกอุทยานมีคณะที่ปรึกษาประจำอุทยานแต่ละแห่งอยู่แล้ว ควรเร่งให้มีการดำเนินการ และรับฟังให้ถ้วนถี่ ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาภายหลัง


ข้อมูลอ้างอิง เพจเฟซบุ๊ค Thon Thamrongnawasawat

ฉลามหูดำว่ายน้ำหากินร่าเริง ผู้ประกอบการลอยเรืออยู่ข้างนอกเห็นลิบๆ เรียกว่าทั้งสัตว์ทั้งคนมีเขตที่อยู่ หากินร่วมกันได้ในทะเลแห่งเดียวกัน (เครดิตภาพ กรมอุทยานฯ)


กำลังโหลดความคิดเห็น