“ดร.ธรณ์” โพสต์ มีนักดำน้ำเผยปลาที่กองหินชุมพร จุดดำน้ำสำคัญของเกาะเต่าลดลงจำนวนมากในช่วงโควิด ชี้อาจเพราะไม่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ แนะหากกฎหมายไม่ครอบคลุม คนในท้องถิ่นสามารถนำเสนอขึ้นมาได้ และหวังว่าคงมีการตรวจสอบจริงจัง
วันนี้ (8 พ.ค.) เฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” หรือ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เปิดเผยถึงกรณีที่มีเพื่อนนักดำน้ำโพสต์ว่าปลาที่กองหินชุมพร จุดดำน้ำสำคัญของเกาะเต่าลดลงเป็นจำนวนมาก โดยคาดว่าอาจเกิดจากการเข้ามาจับปลาในช่วงท่องเที่ยวปิดโควิด
“ผมขอเสริมดังนี้ครับ กองหินชุมพรไม่ได้อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ กฎหมายที่เกี่ยวข้องเท่าที่ค้นเจอ คือ
1. ประกาศกรมประมง (2519) ห้ามทำการประมงรอบเกาะเต่าและเกาะหางเต่า รัศมี 3,000 เมตร แต่มีข้อยกเว้นว่า สามารถทำเบ็ดราว อวนลอย หรือลอบทะเลได้
2. ประกาศเขตรักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำ คุ้นๆ ว่าหินชุมพรน่าจะอยู่ แต่ไม่มั่น ต้องถามผู้เกี่ยวข้องโดยตรงหากอยู่ จะมีกฎหมายกำหนดว่าห้ามจับสัตว์น้ำ มีบทลงโทษรุนแรงตามขนาดเรือด้วย สูงสุดถึง 30 ล้านบาท (150+ ตันกรอส)
3. ประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากร (หมดอายุ 2564) น่าจะอยู่ในพื้นที่ 1 (ต้องดูรายละเอียดว่าคลุมถึงไหม) ในประกาศห้ามจับปลาสวยงานและการทำประมงบางประเภท (ลองอ่านที่แนบมาครับ)
สำหรับคำถามว่า มีการจับสัตว์น้ำในบริเวณนั้นหรือเปล่า? หน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะติดตามดูได้จากระบบติดตามเรือ VMS ประกอบกับการขอภาพถ่ายข้อมูลจากผู้แจ้ง รวมถึงการสำรวจเพิ่มเติมในพื้นที่หากจำเป็น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในที่นี้คงเป็นกรมประมงและกรมทรัพยากรทางทะเล หวังว่าคงมีการตรวจสอบต่อไป และหากกฎหมายไม่ครอบคลุมหรือใดๆ คนในท้องถิ่นสามารถนำเสนอขึ้นมาได้ เช่น เสนอให้เป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ฯลฯ โดยผ่านตัวแทน/อบต. ฯลฯ เข้ามาทางกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งประจำจังหวัดสุราษฎร์ฯ ครับ”
คลิกลิ้งที่มาไป
ทั้งนี้ มีชาวเน็ตที่รักทะเลจำนวนมากเข้ามากกดไลก์และแสดงความคิดเห็นว่าเห็นด้วย และควรประกาศพื้นที่คุ้มครอง เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติทางทะเลที่สร้างรายได้น่าจะเป็นอันดับต้นๆ ของอ่าวไทย โดยมียอดกดไลก์แล้วกว่า 300 ครั้ง