ตราด - อ่าวแหลมกลัดฟื้น หลังโควิด-19 ระบาด ชาวประมงพื้นบ้านสุดปลื้มแหล่งอาหารธรรมชาติสมบูรณ์ทำปูม้า และกั้งเพิ่มจำนวนซ้ำตัวใหญ่ขึ้น บางครั้งยังได้เห็นฝูงโลมาขณะทำประมง แต่ข้อเสียคือสัตว์ทะเลที่จับได้ขายไม่ออกเหตุไร้นักท่องเที่ยว ด้าน ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการทางทะเลที่ 4 เผยป่าชายเลนก็ฟื้นด้วย
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จากมาตรการปิดพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อของรัฐบาล ทำให้แหล่งท่องเที่ยวจำนวนมากไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าใช้บริการ เช่นเดียวกับแหล่งท่องเที่ยวใน จ.ตราด ที่ไม่มีนักท่องเที่ยวมานานกว่า 45 วัน จากมาตรการปิดเมือง ปิดเกาะ ป้องกันการแพร่ระบาดเข้าสู่พื้นที่ ซึ่งถือเป็นไข่แดงเดียวของภาคตะวันออกที่ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19
และผลจากการได้พักตัวของแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติต่างๆ ในพื้นที่ จ.ตราด ทำให้ในวันนี้พื้นที่ชายทะเลหาดลานทราย บ้านแหลมกลัด ต.แหลมกลัด อ.เมืองตราด ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัด และยังเป็นพื้นที่ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว ได้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งจากการฟื้นตัวทางธรรมชาติ จนทำให้น้ำทะเลมีความใส สะอาด ชายหาดได้กลับมามีความสวยงาม ป่าชายเลนมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นอีกครั้ง
ขณะที่ นายวัชระ ทศดารา อายุ 53 ปี ชาวประมงพื้นบ้านแหลมกลัด บอกว่า ในวันนี้ชาวประมงสามารถทำการประมงได้มากขึ้นเนื่องจากสัตว์ทะเลได้พักฟื้นและยังมีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้ปูม้าและกั้งที่จับได้มีน้ำหนักตัวและขนาดใหญ่ขึ้น
“ทุกวันนี้ชาวประมงจำนวนสัตว์น้ำได้มากขึ้น แต่ปัญหาคือภาวะเศรษฐกิจที่เกิดจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าพื้นที่ สัตว์ทะเลที่จับได้จึงขายได้ยากเพราะไม่ค่อยมีใครมาซื้อกิน วันนี้ชาวบ้านจึงเพิ่มงานบริการด้วยการนำปูที่จับได้มาต้มและแกะเนื้อขาย ขณะที่ปูตัวใหญ่จะขายทั้งตัวในราคากิโลกรัมละ 200 บาท ส่วนกั้งสดตัวใหญ่ราคา 700 บาทต่อกิโลกรัม”
นอกจากนั้น ในแต่ละวันที่ชาวประมงพื้นที่บ้านแหลมกลัด ออกทำประมง ยังมีโอกาได้พบปลาโลมาว่ายวนเวียนอยู่ในทะเลอ่าวแหลมกลัด ไม่น้อยกว่า 10 ตัวอีกด้วย สิ่งเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไทยที่กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง
นายวัชระ ยังบอกอีกว่า แม้ในวันนี้อ่าวแหลมกลัด จะยังไม่พบพะยูน และเต่าทะเลในขณะนี้ แต่ก็เชื่อว่าหากแหล่งอาหารทางธรรมชาติเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็อาจได้พบเห็นในไม่ช้าเช่นเดียวกับในท้องทะเลไม้รูด และท้องทะเลใน อ.คลองใหญ่ ที่คาดว่าขณะนี้น่าจะมีพะยูน และเต่าทะเลให้พบเห็นบ้างแล้ว
เช่นเดียวกับ นายสุวรรณ พิทักษ์สินธร ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 4 จ.ตราด เปิดเผยว่าการระบาดของโรคโควิด-19 แม้จะทำให้การท่องเที่ยวในพื้นที่หายไป แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือการฟื้นตัวของทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งการที่นักท่องเที่ยวหายอาจกระทบต่อรายได้ของประชาชนและชุมชนต่างๆ แต่ก็อยากให้ประชาชนเข้าใจว่ายังมีผลดีทางธรรมชาติชดเชย
“ซึ่งการบริหารจัดการพื้นที่เกาะนั้น ภาครัฐสามารถจัดการได้ด้วยการดูแลนักท่องเที่ยวหรือเรือท่องเที่ยวไม่ให้เข้าพื้นที่มากเกินไป อย่างเช่น เกาะรัง เกาะทองหลาง ที่ในวันนี้ภาครัฐได้ปิดพื้นที่ไว้เพื่อทำการวิจัยและศึกษาด้านวิชาการ เพื่อให้ทรัพยากรทั้งหมดเกิดประโยชน์และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้มากที่สุดในอนาคต” ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 4 จ.ตราด กล่าว