ตราด - น่าตกใจ! ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 4 จ.ตราด ระบุพฤติกรรมมนุษย์ การเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยว และการใช้ทรัพยากรทางทะเลที่มากเกินไป ทำฝูงโลมาอิรวดี พะยูน และเต่าทะเล เริ่มหายจากท้องทะเลตราด จากผลกระทบความเป็นอยู่และการผสมพันธุ์
จากกรณีที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 4 จ.ตราด ได้นำเรือพลังงานแสงอาทิตย์ชื่อ “พิทักษ์สมุทร” ออกสำรวจท้องทะเลบริเวณอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง ควบคู่กับการใช้โดรนบินสำรวจเพื่อประเมินสถานภาพพะยูน และสัตว์ทะเลหายาก ระหว่างวันที่ 17-24 เม.ย.2563 ปรากฏว่า พบฝูงโลมาอิรวดีเพียง 1 ฝูง ที่จำนวน 6-10 ตัวเท่านั้น
วันนี้ (26 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายสุวรรณ พิทักษ์สินธร ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 4 จ.ตราด ว่า สาเหตุที่ทำให้โลมาอิรวดีในท้องทะเลเมืองตราด มีจำนวนลดลงน่าจะมาจากการใช้พื้นที่อ่าวตราดทำการประมงมากจนเกินไป อีกทั้งการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวใน จ.ตราด ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้อาหารของสัตว์ทะเล ทั้งจำนวนปลาทะเล หรือหญ้าทะเลลดน้อยลง ไม่เพียงเท่านั้นพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษยัง กระทบต่อความเป็นอยู่และการผสมพันธุ์ ของสัตว์ทะเล
ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 4 จ.ตราด มีภารกิจสำคัญในการสำรวจจำนวนสัตว์ในทะเลและทรัพยากรทางทะเลในพื้นที่รับผิดชอบ 2 แห่งคือ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง จ.ตราด และอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า หมู่เกาะเสม็ด จ.ระยอง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาพบว่า สัตว์ทะเลมีปัญหาจากการกระทำของมนุษย์และพฤติกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก
และจากการสำรวจท้องทะเลในห้วงเวลาที่ผ่านมา พบว่า โลมาอิรวดี ในอ่าวตราด ที่น่าจะมีจำนวนมากกว่า 100 ตัว และถือเป็นจำนวนที่น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ กลับพบเพียง 6-10 ตัว
ขณะที่ พะยูน ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายากอีกชนิดที่เคยพบเห็นในท้องทะเลตราด จากการสำรวจหลายครั้งกลับไม่พบเห็น ทั้งที่ทะเลตราดมีความอุดมสมบูรณ์ และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง ยังถือเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางทรัพยากรธรรมชาติมากอีกเเห่งหนึ่งของประเทศไทย
เช่นเดียวกับเต่าทะเล ที่แม้จะยังพอพบเห็นได้บ้างแต่ก็ไม่มากนัก