รายได้อุทยานฯ ปี62 ลดฮวบ กว่า 500 ล้าน ทำยอดส่วนแบ่ง อบต. 693 แห่ง 55 จังหวัด หดตาม พบแบ่งรอบแรกปี 62 แค่ 69 ล้าน หลังรอบสองปีก่อนแบ่งแค่ 44 ล้าน เผยอุทยานยอดฮิต เกาะพระทอง-หมู่เกาะสุรินทร์ ได้มากสุด 14 ล้าน "หมู่เกาะสิมิลัน-อ่าวพังงา" แบ่งให้ 5 อบต. จ.พังงา แห่งละ 1.3 ล้าน รวมแบ่ง อบต.ทั้งจังหวัด 23 ล้าน ส่วน แชมป์เก่า "อ่าวนาง-หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี" ยอดแบ่งลด จ.กระบี่ ลดเหลือแค่ 13 ล้าน
วันนี้ (12 ก.พ.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ในเร็ว ๆ นี้ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กว่า 693 แห่ง จาก 55 จังหวัด เตรียมได้รับโอนเงินที่จัดเก็บตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ และตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 จำนวนร้อยละ 5 ซึ่งเป็นเงินจัดเก็บรายได้เดือน ต.ค.2561 ถึง มี.ค. 2562 (รอบแรกปี 2562)
โดยได้รับการจัดสรรโอนจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นรายได้จากการจัดเก็บจากอุทยานฯ ทุกแห่งทั่วประเทศ 147 แห่ง วงเงินรวม 69,060,911.17 บาท
ทั้งนี้ หลังจาก อบต.55 แห่งได้รับโอน ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย เมื่อปี 2561ในช่วง เม.ย. 2561-ก.ย.2561 วงเงินรวม 44,089,480.46 บาท ระหว่างเดือน ต.ค. 2560 -มี.ค. 2561 วงเงิน 87,946,941.52 บาท ได้รับจัดสรร รวม 132,036,421.98 บาท
ปีงบประมาณ 2560 ระหว่างเดือน ต.ค. 2559 - มี.ค. 2560 ได้รับจัดสรร 67,333,236.94 บาท และช่วง เม.ย. 2560 - ก.ย. 2560 ได้รับจัดสรร 49,559,721.27 บาท ได้รับจัดสรร รวม 72,292,958.21 บาท
ปีงบประมาณ 2559 ระหว่างเดือน ต.ค. 2558 - มี.ค. 2559 ได้รับจัดสรร 53,998,310.70 บาท ระหว่างเดือน เม.ย. 2559 - ก.ย. 2559 ได้รับจัดสรร 42,644,820.59 บาท ได้รับจัดสรร รวม 96,643,131.29 บาท
ในรอบแรกนี้ ยังพบว่า อบต.ที่ได้รับจัดสรรเงินสูงสุด ยังเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวยอดนิยม ได้แก่ พื้นที่อุทยานในจ.พังงา คือ อุทยานแห่งชาติเกาะพระทอง เกาะระ หมู่เกาะสุรินทร์ อบต.เกาะพระทอง อ.เกาะยาว จ.พังงา ได้ส่วนแบ่ง 14,933,680.79 บาท ส่วนพื้นที่อื่นเช่นพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อบต.กระโสม อบต.กะไหล อบต.คลองเคียน อ.ตะกั่วทุ่ง หรือ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา อบต.เกาะปันหยี อบต.ตากแดด อ.เมืองพังา ได้รับจัดสรรเท่ากันแห่งละ 1,363,157.84 บาท โดย อบต. จ.พังงา ได้รับจัดสรรรวม 23,645,164.04 บาท
ขณะที่ พื้นที่ จ.กระบี่ ที่ได้รับจัดสรรสูงสุดปีที่แล้ว พื้นที่ อบต.ไสยไทย อบต.หนองทะเล อบต.อ่าวนาง อ.เมืองฯ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเขาทองป่าไสไทย ป่าอ่าวนาง เขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา และหมู่เกาะพีพี ได้รับจัดสรรเท่ากันแห่งละ 3,288,215.33 บาท ซึ่งต่ำจากช่วงเดียวกันในปีที่แล้วซึ่งได้รับจัดสรร 3,860,344.50 บาท ซึ่งทั้งจังหวัดได้รับจัดสรรในครั้งนี้ 13,264,125.25 บาท
ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ที่น่าสนใจ อุทยานแห่งชาติ ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ได้รับจัดสรรรวม 4,734,176.97 บาท ส่วน"อุทยานเกาะช้าง" จ.ตราด ในพื้นที่ อบต.เกาะช้างใต้ ได้รับจัดสรร 1,027,199 บาท ในพื้นที่เขาใหญ่ อบต. 2 แห่ง จ.นครราชสีมา ได้รับจัดสรรรวมประมาณ 3 แสนบาท ขณะที่ อบต.ในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี ได้รับจัดสรรวมทั้งจังหวัด 1,792,371.91 บาท อบต.ในจ.สุราษฎ์ธานี ได้รับจัดสรรรวม 2,644,969.24 บาท
"ที่น่าสนใจ อบต.ในพื้นที่ จ.ระยอง เช่น อบต.แกรง อบต.ตะพง อบต.เพ ที่มีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก ได้รับจัดสรรแห่งละ 1,932,836.50 บาท รวมทั้งจังหวัด 5,957,662.87 บาท หรือ อบต.เกาะสาหร่าย ในจ.สตูล ไดรับจัดสรร 1,362,105.78 บาท เป็นต้น "
เมื่อปลายปีที่แล้ว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สรุปการจัดเก็บเงินรายได้กรมอุทยานฯ ประจำปีงบประมาณ 2562
โดยมียอดการจัดเก็บเงินรายได้จากอุทยานฯ 153 แห่ง เป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 2,258,640,109 ล้านบาท ขณะที่ในปีงบประมาณ 2561 มียอดการจัดเก็บเงินรายได้จากอุทยานฯ 131 แห่ง เป็นเงินจำนวน 2,708,489,690 ล้านบาท ซึ่งยอดการจัดเก็บเงินรายได้ลดลงจำนวน 449,849,581 ล้านบาท
ทั้งนี้อุทยานฯ ที่ทำรายได้สูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.อุทยานฯ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ 374,299,080 ล้านบาท 2.อุทยานฯ หมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา 327,998,130 ล้านบาท 3.อุทยานฯ อ่าวพังงา จ.พังงา 272,472,915 ล้านบาท
4.อุทยานฯ เขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จ.ระยอง 247,652,890 ล้านบาท 5.อุทยานฯ เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา 118,151,334 บาท 6.อุทยานฯ เอราวัณ 105,330,406 ล้านบาท 7.อุทยานฯ ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ 101,088,937 ล้านบาท 8.อุทยานฯ เขาสก จ.สุราษฎร์ธานี 84,521,210 ล้านบาท 9.อุทยานฯ หมู่เกาะลันตา จ.กระบี่ 54,778,975 ล้านบาท และ10.อุทยานฯ หมูเกาะตะรุเตา จ.สตูล 33,620,130 ล้านบาท.