ตราด - ไม่เชื่ออย่าลบหลู่! ชาวประมงพื้นบ้าน จ.ตราด แห่นำปลัดขลิกบนบานเจ้าแม่มัจฉา หรือ “เจ้าแม่แหลมกระทือ” ให้ทำประมงได้ดี-ค้าขายกำไรมาก หลังโควิด-19 พ่นพิษทำความเดือดร้อนถ้วนหน้า
วันนี้ (27 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวได้เดินทางลงพื้นที่หมู่บ้านชาวประมง ซึ่งอยู่ภายในซอยท่ากระดาน บ้านธรรมชาติล่าง ต.คลองใหญ่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด หลังได้รับแจ้งจากชาวบ้านในพื้นที่ว่า หมู่บ้านเล็กๆ ซึ่งมีประชากรเพียง 50 ครัวเรือนแห่งนี้ นิยมนำปลัดขลิกไปบนบานขอพรให้ทำการประมงได้ดี และค้าขายได้กำไรที่ศาลเจ้าแม่มัจฉา หรือชื่อเดิมที่ชาวบ้านเรียกว่า “เจ้าแม่แหลมกระทือ”
และจากการสอบถามชาวบ้านทราบว่า ภายในศาลเจ้าแม่มัจฉา หรือ “เจ้าแม่แหลมกระทือ” จะมีรูปปั้นปูนนางมัจฉา ซึ่งมีลักษณะลำตัวเป็นเงือก หางเป็นปลา เพื่อเป็นตัวแทนขององค์เจ้าแม่ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งทุกครั้งก่อนออกเรือไปทำประมง หรือค้าขายจะต้องเข้ามาบนบาน ณ ศาลแห่งนี้เพื่อให้โชคดี
โดยสิ่งของที่ชาวบ้านนิยมใช้บนบานศาลกล่าวต่อองค์เจ้าแม่ก็คือ ปลัดขลิกทาสีแดง รวมทั้งน้ำแดง ทำให้ปัจจุบันพื้นที่ภายในศาลที่มีขนาดความกว้างเกือบ 2 เมตร เต็มไปด้วยปลัดขลิกทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก มากกว่า 30 อัน
นางสมทรง หรือป้าดำ สินสุระ อายุ 50 ปี บอกว่า ศาลเจ้าแม่มัจฉา (เจ้าแม่แหลมกระทือ) เดิมตั้งอยู่บริเวณชายเขามานานกว่า 50-60 ปี แต่เมื่อศาลดังกล่าวเกิดการชำรุดเสียหาย ชาวบ้านจึงได้ตั้งศาลแห่งใหม่ให้ที่บริเวณแหลมกระทือ และพากันเรียกติดปากว่า ศาลเจ้าแม่แหลมกระทือ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ชาวบ้านมีความเชื่อว่า หากได้กราบไหว้หรือบนบานก่อนออกทำการประมง หรือเดินทางไปค้าขายต่างถิ่นจะทำให้จับปลาหรือค้าขายได้กำไรมากมาย และเมื่อทำสำเร็จก็จะนำปลัดขลิก และน้ำแดงมาถวาย ซึ่งปลัดขลิกที่ถวาย ผู้บนบานจะต้องนำไปทาสีแดง เพื่อให้เหมือนกับของจริง ส่วนสาเหตุที่ต้องถวายปลัดขลิก เพราะเชื่อว่าเจ้าแม่เป็นผู้หญิง จึงน่าจะชอบของถวายดังกล่าว
ขณะที่ นายกิตติคม โกสินทร์นรพัฒน์ อายุ 56 ปี บอกว่า ตนเองเพิ่งนำปลัดขลิก ขนาดความยาวกว่า 2 เมตร ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 12 นิ้ว จำนวน 2 อัน มาถวายเจ้าแม่ โดยเป็นปลัดขลิกที่ทำจากไม้ขนุน พร้อมเพิ่มสีสันด้วยการทำลิ้นและตาเพื่อให้เหมือนของจริง และทำให้เกิดความรู้สึกขลัง ก่อนนำไปตั้งไว้ที่หน้าบ้านซึ่งเป็นร้านค้าเพื่อให้ทำการค้าได้ดี
นอกจากนั้น ยังนำไปตั้งไว้ที่บริเวณหน้าเรือเกาะช้างเฟอร์รี่ เพื่อให้เดินทางปลอดภัย ส่วนการใช้ไม้ขนุนทำปลัดขิก เพราะเชื่อว่า ขนุน เป็นต้นไม้มงคล ซึ่งจะสามารถเกื้อหนุนการทำมาหากินได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้นักท่องเที่ยวไม่เดินทางเข้ามาในพื้นที่