ภรรยา "บิลลี่" นักสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงที่หายตัวไป เชื่อมีความหวังหลังมือทำคดี "กรวัชร์" นั่งเป็นอธิบดีดีเอสไอ แม้จะดีใจแต่ก็เป็นห่วง เพราะเป็นคดีเจ้าหน้าที่รัฐ ด้านทนายความยังเชื่อ อัยการสูงสุดจะสั่งให้สอบสวนเพิ่มได้อีก
... รายงานพิเศษ
หลังนายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ แกนนำนักสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงที่ป่าแก่งกระจาน หายตัวไปตั้งแต่ 17 เมษายน 2557 โดยถูกพบเห็นครั้งสุดท้าย ถูกควบคุมตัวไว้โดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
จนกระทั่งเมื่อ 3 กันยายน 2562 พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในขณะนั้น แถลงข่าวพบชิ้นส่วนกะโหลก ที่ได้รับการยืนยันผ่านการตรวจด้วยวิธีไมโตรคอนเดรีย ดีเอ็นเอ โดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ว่าเป็นของบิลลี่ จึงเปลี่ยนจากคดีคนหาย เป็นคดีฆาตกรรม เพราะในจุดที่พบชิ้นส่วนกะโหลกที่ใต้สะพานแขวนของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ยังพบถังขนาด 200 ลิตร และเหล็กเส้น 2 ชิ้น ที่มีร่องรอยถูกเผาด้วยความร้อนสูง
แต่ต่อมา วันที่ 16 ตุลาคม 2562 มีคำสั่งให้โยกย้าย พ.ต.ท.กรวัชร์ ผู้ที่รื้อคดีนี้ขึ้นมา จากรองอธิบดีดีเอสไอ ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม โดยให้เหตุผลว่า เป็นตำแหน่งที่สูงขึ้นเทียบเท่ากับอธิบดี แต่ก็สร้างความกังวลใจและสับสนให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีของบิลลี่อย่างมาก เพราะก่อนหน้านี้ พ.ต.ท.กรวัชร์ เดินสายไปงานเสวนาหลายเวที และเปิดเผยถึงความยากลำบากในการทำคดีนี้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา
แต่คดีก็เดินหน้าต่อ โดยการสืบสวนดำเนินการไปเกือบ 3 เดือนตามกำหนดที่เคยประกาศไว้ ดีเอสไอจึงออกหมายจับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 4 คน รวมทั้ง นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานฯ ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ แต่ต่อมา ประมาณวันที่ 24 มกราคม 2563 มีเอกสารอัยการคดีพิเศษ มีคำสั่ง “ไม่ฟ้อง” ผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ใน 7 ข้อหา รวมทั้งข้อหาฆาตกรรม
แต่ยังมีช่องทางอื่น คือ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ สามารถยื่นเสนอความเห็นแย้งของอัยการคดีพิเศษได้ โดยยื่นให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาด และทางฝ่ายผู้เสียหาย คือ ภรรยาของบิลลี่ ก็ยังสามารถยื่นฟ้องเองต่อศาลได้เลย เป็นอีกแนวทางหนึ่ง
หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ วันที่ 29 มกราคม 2563 ก็ปรากฎเอกสารที่ถูกระบุว่า เป็นความเห็นแย้งต่อความเห็นของอัยการคดีพิเศษ 6 ประเด็น ที่ดีเอสไอ เตรียมยื่นต่ออัยการสูงสุด แต่มาจนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีการยื่นความเห็นแย้งใดๆจากดีเอสไอ ไปยังอัยการสูงสุด ในคดีของบิลลี่
อ่านเพิ่มเติม : อัยการสั่งไม่ฟ้อง “ชัยวัฒน์” และพวก คดีฆ่า “บิลลี่” แต่เปิดช่องผู้เสียหายยื่นฟ้องเองได้
6 ประเด็น “ดีเอสไอ” เห็นแย้งอัยการ สั่งไม่ฟ้องคดีฆ่า “บิลลี่” รออัยการสูงสุดชี้ขาด
แต่ช่วงหลังจากนั้น เป็นช่วงที่ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงษ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีอาการป่วย และต่อมาได้ขอลาออก ท่ามกลางความสับสนว่าใครจะได้เป็นอธิบดีดีเอสไอคนใหม่
จนกระทั่ง 28 เมษายน 2563 คณะรัฐมนตรี มีมติแต่งตั้งให้ พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร กลับสู่ดีเอสไอ ในตำแหน่งผู้นำสูงสุดขององค์กร คือ “อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ” ประเด็นความสับสนในคดีของบิลลี่ จึงกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง
วราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความ สมาคมนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นผู้ทำคดีต่างๆ มาตั้งแต่ยุคปู่คออี้ คดีของบิลลี่ และมาถึง “มึนอ” พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่ เปิดเผยเมื่อทราบข่าวว่า พ.ต.ท.กรวัชร์ กลับมาเป็นอธิบดีดีเอสไอ ก็ทำให้รู้สึกมีความหวังมากขึ้น
จากที่ก่อนหน้านี้ ทั้งทีมทนายความและ “มึนอ” เคยหมดหวังไปแล้ว เพราะตั้งแต่ พ.ต.ท.กรวัชร์ ถูกโยกย้ายไป และอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องเนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ทางทนายความก็รอดูความเห็นแย้งจากดีเอสไอ ซึ่งก็หวังว่าความเห็นแย้ง 6 ข้อ ที่หลุดมาเป็นข่าวก่อนหน้านี้ จะถูกปรับปรุงไปมากแล้ว เพราะยังเป็นประเด็นที่กว้างเกินไป และเชื่อว่าในที่สุดแล้ว อัยการสูงสุดจะอนุญาตให้ “ดีเอสไอในยุคของ พ.ต.ท.กรวัชร์” ได้มีโอกาสสอบพยานเพิ่มเติมในคดีบิลลี่ได้อีก
ส่วนจุดยืนของทีมทนายความ จะยังไม่ให้ “มึนอ” ยื่นฟ้องคดีด้วยตัวเอง เพราะยังต้องการรอว่าอัยการสูงสุดจะอนุญาตให้ดีเอสไอสอบพยานเพิ่มเติมได้หรือไม่ ส่วนการยื่นฟ้องคดีเอง ถือว่าเป็นกระบวนการที่ยังรอได้
วราภรณ์ ยังเปิดเผย ความรู้สึกของ “มึนอ” จากข่าวความเปลี่ยนแปลงภายในดีเอสไอ โดยมึนอเขียนข้อความพูดคุยผ่านทางไลน์กับทนายความว่า “ส่วนอธิบดีคนใหม่ (รองดำ... หมายถึง พ.ต.ท.กรวัชร์) ส่วนหนึ่งหนูก็ดีใจทั้งขอเป็นกำลังใจให้ทำงานไม่มีอุปสรรคใดๆ ทั้งสิ้น แต่ลึกๆ แล้ว หนูเป็นห่วงท่านด้วยค่ะ เพราะตอนนี้มีทั้งโรคโควิดระบาดและคดีบิลลี่ก็เป็นคดีที่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐค่ะ”
แหล่งข่าวในกรมสอบสวนคดีพิเศษก็เชื่อว่า การที่ พ.ต.ท.กรวัชร์ ถูกแต่งตั้งให้กลับมาเป็นผู้นำดีเอสไอ ก็น่าจะเป็นสัญญานที่ดีในการเดินหน้ายืนแสดงความเห็นแย้งต่ออัยการในคดีของบิลลี่ ซึ่งจนถึงขณะนี้ ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการของกองบริหารคดีพิเศษ เพราะการทำความเห็นแย้ง จะไม่ให้ชุดพนักงานสอบสวนเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งหาก พ.ต.ท.กรวัชร์ เข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ก็น่าจะมีความคืบหน้าโดยเร็ว