เมื่อวันที่ 26 เม.ย. ทันตแพทย์ พิทักษ์ ไชยเจริญ สมาชิกวุฒิสภา และ กรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาในประเทศไทย ถึงปัจจุบันประชาชนไทยที่ติดตามข่าวสารข้อมูล โดยเฉพาะการแถลงข่าวประจำวันจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ก็จะทราบถึงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าครั้งนี้ มีแนวโน้มของสถานการณ์ที่ดีขึ้นเป็นลำดับ สามารถเห็นได้จากตัวเลข
การรายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ลดลง การรายงานจำนวนผู้ป่วยที่รักษาหายและกลับบ้านมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งทำให้มีผู้ป่วยที่เหลือรักษาอยู่จำนวนน้อยลงเป็นอันมาก ส่งผลดีทำให้ภาระแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ลดลงบ้าง ทำให้เพิ่มความยืดหยุ่น และความพร้อมของระบบสาธารณสุขไทยในการจัดการรับมือ สถานการณ์ต่างๆ ในอนาคตได้มากและดีขึ้น
ซึ่งผลสำเร็จที่เกิดขึ้น ก็ต้องขอขอบคุณการทำงานหนักของกระทรวงสาธารณสุข แพทย์ พยาบาล และ บุคลากรสาธารณสุขทุกท่าน รวมถึงพลังพี่น้อง อสม.ทั่วประเทศ ที่ช่วยกันแก้ไขวิกฤตครั้งนี้ ภายใต้การสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาลซึ่งได้ตั้ง ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการดำเนินการบริหารจัดการ ออกมาตรการต่างๆ ที่จำเป็นอย่างต่อเนื่อง ในการควบคุมสถานการณ์โรคระบาด covid-19
และได้ให้ข้อมูลปัจจุบันสถานการณ์จริงที่ถูกต้อง รวมถึงข้อควรปฏิบัติที่ถูกต้องในการป้องกันตนเองสำหรับประชาชนชาวไทย ซึ่งก็ได้ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่งจากพี่น้องประชาชน ในการปฏิบัติตามมาตรการ และการดูแลตนเอง ครอบครัว และสังคมร่วมกันทั้งการใส่ mask ทุกๆ คน การรักษาระยะห่างทางสังคม (social distancing) จนเรามีความหวังว่าในระยะเวลาอันใกล้นี้ พวกเรากำลังจะได้เห็นร่วมกันว่า วิกฤตครั้งนี้กำลังจะคลี่คลาย อยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ และหวังว่าจะผ่านไปได้ แม้จะต้องมีความตื่นตัว, ติดตาม, ระมัดระวัง การที่อาจจะมีการระบาดใหม่ขึ้นมาอีกครั้งก็ตาม โดยเฉพาะสถานการณ์ของอีกหลายๆประเทศก็ยังมีความวิกฤติและยังมีอัตราการการติดเชื้อ covid-19 ที่สูงอยู่มาก
ในส่วนของการรักษาด้านทันตกรรมของประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากการระบาดของโคโรนาไวรัส covid-19 ทำให้มีการแนะนำเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ โดยพยายามจำกัดการรักษาเฉพาะในกรณีเร่งด่วน ฉุกเฉิน ซึ่งส่วนหนึ่งอันเนื่องด้วยความกังวลถึงความสามารถการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา ที่เกิดการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อได้ง่าย เช่นเมื่อเทียบกับการติดเชื้อโรค SARS (Severe Acute Respiratory Syndrome) ซึ่งเป็นไวรัสสายพันธุ์เดียวกัน ตระกูลไวรัสโคโรนาเช่นกัน แต่ Covid-19 ทำให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกปัจจุบันถึงสองล้านเก้าแสนราย มากกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโรค SARS (โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง) ซึ่งการระบาดเกิดขึ้นช่วงปี 2545-2546 การระบาดดำเนินไปประมาณ 6 เดือน ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 8,000 คน เสียชีวิต 774 ราย แต่ด้วยความสามารถ ความเสียสละ และความมุ่งมั่นของบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่าน ในระบบสาธารณสุขไทย ก็ทำให้สถานการณ์การระบาดที่รุนแรงครั้งนี้ สถานการณ์ในประเทศไทยดีขึ้นเป็นลำดับ
ดังนั้น เมื่อสถานการณ์การระบาด covid-19 ถูกควบคุมได้ระดับหนึ่ง จึงน่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ที่ทันตแพทย์ในทุกๆหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนทันตแพทย์ คณะทันตแพทย์ศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ กลุ่มงาน ฝ่ายทันตกรรมในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทุกๆ ขนาด โดยเฉพาะในกระทรวงสาธารณสุข ที่รับภาระหนัก ในภารกิจแก้ไขวิกฤตครั้งนี้จะต้องใช้เวลาอันมีค่าในช่วงจากนี้
ในการมาร่วมกัน ประชุมหารือจัดระบบ กำหนดแนวทางปฏิบัติต่างๆ ที่จำเป็น ในการเตรียมพร้อมที่จะรองรับการเข้ารับการรักษาด้านทันตกรรมเพื่อรักษาโรคฟันและช่องปากของประชาชน เพื่อบรรเทาปัญหาสุขภาพช่องปากและฟัน ซึ่งประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างในการจะเข้าถึงการรักษาด้านทันตกรรมในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ความสำคัญอย่างที่สุดเรื่องหนึ่งที่จะทำให้การกลับมาของการรักษาทางทันตกรรมให้มีความมั่นใจ ลดความกังวลจากปัญหา Covid-19 คือ “การคัดกรองอย่างเข้มข้นและมีประสิทธิภาพ” ก่อนคนไข้จะเข้าการรักษาทุกครั้ง ในการที่จะสามารถคัดกรองผู้ป่วยที่สงสัยติดเชื้อ covid-19 ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจำเป็นต้องแยกแผนการรักษาออกมาจากแผนการรักษาทั่วไป
ซึ่งหากพบคนไข้ทันตกรรม ที่เป็นผู้สงสัยติดเชื้อ Covid-19 มีความจำเป็นที่จะแยกผู้ป่วย เข้าสู่ระบบขั้นตอนการรักษาโรคติดเชื้อจาก Covid-19 ของกระทรวงสาธารณสุขก่อน ด้วยเหตุของการประกาศของกระทรวงสาธารณสุขให้ COVID-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14 ซึ่งหากมีความจำเป็นฉุกเฉินด้านทันตกรรม ทันตแพทย์ก็จะต้องเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีมแพทย์ ในการรักษาในกรณีคนไข้ที่สงสัยติดเชื้อ covid-19 ในคนไข้คนนั้นๆ
ซึ่งหากมีการคัดกรองอย่างเข้มข้น และมีประสิทธิภาพ การรักษาคนไข้ทันตกรรมที่ไม่มีความเสี่ยงติดเชื้อ covid-19 ก็จะสามารถดำเนินได้ตามมาตรฐานปกติ ภายใต้การป้องกันติดเชื้อและการรักษาตามมาตรฐานและปลอดภัย
ทันตแพทย์หลายๆ ท่านกรุณา แนะนำประเด็นที่น่าพิจารณา เช่น 1. การวางแผนเรื่องการจัดการด้าน สถานที่ใหม่ เช่น การจัดสถานที่ให้มีจุดคัดกรองขั้นต้น บริเวณที่กำหนดให้เป็นทางเข้าตามมาตรฐาน ทั้งตรวจอุณหภูมิ ซักประวัติตามแบบ ซักประวัติผู้เสี่ยงสงสัยติดเชื้อ covid-19, ตรวจหาอาการที่อาจเกี่ยวข้องซึ่งต้องจัดเตรียมบุคลากรและวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อม การจัดที่รับคิว การจัดที่นั่งรอใหม่ มีระยะที่เหมาะสมการจัดทางเดิน ทั้งระบบ ทั้งสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนที่มารับการรักษา ซึ่งต้องมีระยะห่าง และตำแหน่ง แนวเส้นทางที่เหมาะสม การจัดพื้นที่พิเศษ สำหรับคนไข้ที่สงสัยเสี่ยงติดเชื้อ Covid-19 เป็นสัดส่วน เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมและดำเนินการขั้นต่อๆไปเพื่อดูแลคนไข้ และมีระยะห่างจากคนไข้ทั่วไป
2. การเพิ่มการคัดกรองซ้ำ และตรวจเช็กอุณหภูมิร่างกายอีกครั้งโดยทันตแพทย์ที่เก้าอี้ทันตกรรมก่อนการรักษา (Double Check)
3. เคร่งครัดเรื่องการเตรียมคนไข้ ทุกคนทั้งก่อนและหลังรักษา เช่นต้องป้วนน้ำยาป้วนปากฆ่าเชื้อก่อนและหลังทำการรักษา
4. เคร่งครัดเรื่องการเตรียมเก้าอี้ทำฟันทุกครั้งก่อนการรัษา-หลังรักษา ต้องมีการทำความสะอาด ฆ่าเชื้ออย่างเหมาะสม และ มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจทำให้ต้องมีระยะเวลาทิ้งห่าง ที่จะต้องให้คนไข้รอนานขึ้น ระหว่างการเตรียมเก้าอี้ฟันสำหรับคนไข้คนต่อๆ ไปรวมถึงพื้นที่ทำงานส่วนอื่นๆ กำหนด มีการทำความสะอาดเป็นระยะ
5. ทันตแพทย์ บุคลากรทางทันตกรรม ต้องมีและใส่ อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้ออย่างพอเพียงและเหมาะสม
ตามมาตรฐานทุกครั้งที่ปฏิบัติงาน
6. พิจารณา ในการจัดหาชุด PPE, อุปกรณ์ป้องกันติดเชื้อไว้ภายในหน่วยบริการ กรณีสงสัยพบผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อcovid-19 ณ จุดคัดกรอง
7. ซักซ้อมการใช้งานอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ
8. หน่วยงานทันตกรรมต่างๆ โดยเฉพาะที่มีผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการ เช่น คณะทันตแพทย์ศาสตร์ในมหาวิทยาลัย กระทรวงสาธารณสุขร่วมกันตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษา ผลกระทบของฝอยละอองที่เกิดจากการใช้เครื่องมือทันตกรรมทุกประเภท เช่น ฝอยละอองจากการอุดฟัน ขูดหินปูน และหัตถการอื่นๆ ในทุกมิติ และศึกษาวิจัยอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ อิงหลักวิชาการ ถึงประโยชน์ กับผลกระทบอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เครื่องดูดฝอยละอองแรงสูงในห้องรักษาทันตกรรม จากกรวยดูดที่มีลักษณะ ทิศทางการใช้งานที่แตกต่างกันในทุกมิติ เพื่อหาข้อสรุปที่เกิดประโยชน์สูงสุด ทางวิชาการ ซึ่งสามารถ
พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ และสามารถนำมาเพื่อพิจารณาใช้ในการทำงานหรือไม่อย่างเหมาะสมต่อไป
ซึ่งช่วงเวลานี้ น่าจะเป็นเวลาที่เหมาะสม ที่หน่วยงานทันตกรรมทุกๆ หน่วยจะได้มาร่วมกันวางแผน
และปรับเปลี่ยนพื้นที่ต่างๆตามแผนตรวจเช็กอุปกรณ์ป้องกันติดเชื้อต่างๆ ว่า มีความพร้อม มีความจำเป็น ต้องการจัดหาเพิ่มเติมหรือไม่ ซักซ้อมทุกขั้นตอน จนบุคลากรทุกคนเข้าใจและสามารถปฏิบัติอย่างถูกต้อง พิจารณา แสวงหาเทคโนโลยี อุปกรณ์ใหม่ๆที่เกี่ยวข้องกับการตรวจโรคมาใช้ในบางกรณี เช่น นวัตกรรมการตรวจเชื้อ covid-19 โดยการใช้น้ำลาย ซึ่งพัฒนาโดยผลวิจัยจาก โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งอาจจะนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมและสะดวกกับการใช้งานของทันตแพทย์ ทำให้สามารถเพิ่มศักยภาพในการคัดกรองเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะกรณีที่ต้องการการตรวจหาเชื้อก่อนการรักษา
ซึ่งผลดี และประโยชน์ทั้งหมดท้ายสุดนั้นจะตกกับประชาชนทุกคน สังคม และจะนำมาซึ่งการดูแลสุขภาพฟันและช่องปากโดยทันตแพทย์ ทันตาภิบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ บุคลากรด้านทันตสาธารณสุขจะสามารถกลับมาดูแลคนไข้ทันตกรรมให้ได้ใกล้เคียงหรือดีกว่าช่วงเวลาปกติก่อนหน้านี้ ที่ยังไม่มีการระบาดของcovid-19 และ ให้ประชาชน คนไข้ทันตกรรมสามารถเข้าถึงบริการทันตกรรมได้ในช่วงเวลาต่อไป อย่างปลอดภัยและมีมาตรฐาน ด้วยความมั่นใจและจะเป็นการพัฒนาการการรักษาการจัดการด้านทันตกรรม โดยเฉพาะการป้องกันการติดเชื้อจากโรคต่างๆและเป็นการสร้างความมั่นใจและความพร้อมของบุคลากรทุกคน หากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา Covid-19 ยังไม่ยุติโดยง่าย เนื่องจากเป็นการระบาดทั่วโลก และเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ หากมีอุบัติการณ์โรคระบาดอื่นๆ ขึ้นมา
ขอขอบพระคุณ แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ทุกๆ ท่าน ตลอดจน พลังของ อสม.ทุกๆ ท่านที่ร่วมทำงานอย่างเข้มแข็ง กระทรวงสาธารณสุข รัฐบาลไทย ที่ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง เสียสละ มุ่งมั่น จนทำให้สถานการณ์ การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า Covid-19 ในประเทศไทยดีขึ้นอย่างมาก สร้างขวัญ กำลังใจ และความภาคภูมิร่วมกันให้คนไทยทุกๆ คน ให้สู้ต่อไป ทั้งกับโรคระบาดและปัญหาเศรษฐกิจ ที่เข้ามาถาโถมเข้ามาครับ