สธ.เผย 5 อาการฉุกเฉินมารับบริการทันตกรรมได้ ผ่านระบบนัดหมายของ รพ. ส่วนกรณีไม่เร่งด่วนให้รอก่อน หรือโทร.สอบถามหรือนัดหมาย “หมอฟัน” แนะวิธีดูแลสุขภาพช่องปากพื้นฐาน เตือนโควิดชอบความเย็นชื้น เก็บแปรงสีฟันให้เอาด้ามลง เว้นระยะห่างระหว่างแปรง แยกหลอดยาสีฟันคนในบ้าน
วันนี้ (14 พ.ค.) นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการเตรียมพร้อมคลินิกทันตกรรมบริการประชาชนช่วงโควิด-19 ว่า หากเป็นภาวะฉุกเฉินยังคงให้บริการงานทันตกรรม โดยใช้ระบบการนัดหมายผ่านแอปพลิเคชันของสถานพยาบาล หรือนัดหมายทางโทรศัพท์ ซึ่งอาการฉุกเฉินเร่งด่วน คือ 1. เหงือกหรือฟันปวดบวม กินยาแก้ปวดยาฆ่าเชื้อหากไม่หาย 2-3 วันให้ไป รพ. ซึ่งโรงพยาบาลหลายแห่งมีวิดีโอคอลสอบถามได้ 2. เครื่องมือจัดฟัน ฟันเทียมแตกหัก ทิ่มแทงเนื้อเยื่อ ครอบฟันชำรุด 3. เลือดออกภายในช่องปาก 4. อุบัติเหตุปวดบวมบริเวณใบหน้าและขากรรไกร 5. กรณีรักษาเฉพาะทางที่มีการดูแลร่วมกันระหว่างแพทย์และทันตแพทย์ เช่น ป่วยโรคมะเร็ง โรคหัวใจ ซึ่งต้องรักษาฟันก่อน เป็นต้น
นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า ส่วนกรณีไม่เร่งด่วน คือ 1. มีการรักษาต่อเนื่องที่ค้างอยู่ เช่น รักษาคลองรากฟัน ฟันผุลึกที่อุดชั่วคราวอยู่ ให้โทร.นัดหมายมาใช้บริการได้ 2. การขูดหินปูน อุดฟันสวยงาม จัดฟันใหม่ ตรวจสุขภาพฟันให้เลื่อนไปก่อน 3. กรณีอื่นๆ หากไม่แน่ใจอาการให้โทร.สอบถามสถานพยาบาลที่รักษาต่อเนื่อง ทั้งนี้ บริการทันตกรรมเปิดเกือบปกติแล้ว ประชาชนต้องคัดกรองตัวเอง เมื่อมาถึง รพ.จะคัดกรองอีกครั้ง ก่อนส่งเข้าห้องทันตกรรม และดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัยในห้องทันตกรรม การทำความสะอาดช่องปาก ทำความสะอาดใบหน้า สวมเฟซชิลด์ บ้วนปากก่อนทำฟัน เป็นต้น
นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า ขณะที่สถานพยาบาลจะมีการจัดโซนนิงนั่งคอย แยกจากจุดทำฟัน ระบบการถ่ายเทอากาศมีการดูแลอย่างดี มีการเว้นเก้าอี้ห่าง 1 เว้น 1 อย่างไรก็ตาม เพื่อลดจำนวนคนมา รพ.จึงขอความร่วมมือจากประชาชนที่มารับบริการ ขอให้มาคนเดียว หากจำเป็น เช่น ผู้สูงอายุ หรือเด็ก อาจจะมีคนร่วมเดินทาง 1 คน ขณะนี้ สธ.จะจัดบริการให้ครอบคลุมทั่วถึงพอเพียง บนพื้นฐานความปลอดภัยของประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์
ด้าน ทพญ.วรางคนา เวชวิธี รองผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กล่าวว่า โรคในช่องปากเป็นเรื่องที่ป้องกัน ชะลอการลุกลามได้ ในสถานการณ์ปกติควรไปพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แต่สถานการณ์นี้ขอให้ดูแลตัวเองก่อน หากจำเป็นก็ค่อยไปพบทันตแพทย์ ดังนั้น จึงแนะนำการดูแลสุขภาพช่องปากพื้นฐาน คือ แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ เพื่อป้องกันฟันผุ หลังแปรงฟัน 2 ชั่วโมง ไม่ควรรับประทานอาหารหรือน้ำหวาน เพื่อลดจุลินทรีย์ในช่องปาก นอกจากนี้ เชื้อโควิดชอบความเย็น ความชื้น การเก็บแปรงสีฟันซึ่งมีความชื้น ให้เอาด้ามลง อย่าเก็บในแก้วเดียวกัน คือ ต้องเว้นระยะห่างระหว่างแปรงสีฟัน เหมือนการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล แยกหลอดยาสีฟันของคนในบ้าน เป็นต้น
ทพญ.วรางคนา กล่าวว่า โรคในช่องปากที่ยังไม่มีอาการ เช่น ขูดหินฟูน ฟันบิ่นเล็กน้อย ฟอกสีฟัน แก้ปัญหาความห่างของช่องฟัน อยากให้งดเว้นการรับบริการไปก่อน แต่หากมีปัญหา จำเป็นต้องไปพบทันตแพทย์ ควรใช้ระบบการนัดหมาย เพื่อลดความแออัดในสถานบริการ นัดแล้วแปรงฟันก่อนออกจากบ้าน เพื่อลดเชื้อโรคในช่องปาก เมื่อถึงสถานพยาบาลให้บอกข้อมูลตามจริง ทั้งนี้ ขอให้สวมหน้ากากตลอดเวลาที่อยู่ในสถานบริการจนกว่าจะถึงช่วงเวลาทำฟัน หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งของต่างๆ เมื่อทำฟันเสร็จแล้วให้สวมหน้ากากเมื่อออกไปที่ชุมชน