xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่าวิกฤตโควิด disrupt โลก! ชี้ทางรอดด้วยเทคโนโลยี VR

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) สร้างแรงกระเพื่อมมหาศาลไปยังทุกวงการประหนึ่งคลื่นยักษ์สึนามิ ส่งผลให้การทำงานและวิถีชีวิตของผู้คนต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างปุบปับฉับพลัน หลายอาชีพได้รับผลกระทบหนัก แต่ในทางกลับกันอาชีพที่สามารถนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้บรรเทาปัญหาก็กลับเอาตัวรอดได้ในวิกฤตการณ์นี้


อาชีพหนึ่งที่ได้รับผลกระทบมากคือแพทย์และพยาบาล เพราะไม่เพียงจะต้องรักษาและดูแลทั้งผู้ป่วยทั่วไปและผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ในการเรียนรู้ภาคปฏิบัติของแพทย์ พยาบาล ตลอดจนนักศึกษาแพทย์ ยังได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เนื่องจากจำเป็นต้องสัมผัสผู้ป่วยจริง ทว่าการจะลงตรวจจริงเช่นแต่ก่อนก็อาจเสี่ยงติดเชื้อมากเกินไปแต่ปัญหานี้ก็คลี่คลายไปได้บางส่วน เมื่อบางองค์กรหาทางออกด้วยการใช้เทคโนโลยี VR(Virtual Reality)ซึ่งเป็นการจำลองสภาพแวดล้อมให้ดูเสมือนจริง โดยเชื่อมต่อด้วยคอมพิวเตอร์และใช้งานผ่านอุปกรณ์ต่างๆ เช่น แว่นตา ถุงมือ ฯลฯดังเช่นในประเทศอังกฤษ แคนาดา และสหรัฐอเมริกา ที่มีข่าวว่า บริษัท Oxford Medical Simulationได้พัฒนาเทคโนโลยี VR จำลองภาพเสมือนจริงของการรักษา มอบให้คุณหมอและพยาบาลไปใช้ฝึกการบำบัดผู้ป่วยโรคต่างๆ ในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19



อันที่จริงเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สถานการณ์โควิด-19 จุดชนวนให้ผู้คนหันมาสนใจและเห็นความสำคัญของเทคโนโลยี VR มากขึ้น พร้อมทั้งตระหนักว่า VR ไม่ใช่เทคโนโลยีเพื่อความบันเทิงเสมอไปแต่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในหลากหลายมิติตัวอย่างหนึ่งที่เห็นประโยชน์ชัดเจนก็คือด้านทันตกรรม เพราะหมอฟันจำเป็นต้องสัมผัสสารคัดหลั่งในช่องปากของคนไข้โดยตรงจึงกลายเป็นหนึ่งในสาขาแพทย์ที่ได้รับผลกระทบมากจากโควิด-19 จนถึงกับต้องชะลอการรักษาและการฝึกภาคปฏิบัติของนักศึกษาทันตแพทย์ไปก่อนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

ดังนั้นหลายประเทศจึงนำเทคโนโลยี VR มาใช้สำหรับฝึกฝนทำทันตกรรมแทนการเจอเคสจริงดังเช่นผลงานการวิจัยของ ดร.พัฒนพล เหรียญโมรา รองคณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่เคยร่วมมือกับทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคิดค้นเอาไว้ โดยพัฒนาเครื่องมือฝึกทักษะด้านทันตกรรมที่ประกอบไปด้วยแว่นตา VR และแขนกลที่ไว้ใช้เสมือนเป็นเครื่องมือทำฟัน ซึ่งVR ที่ ดร.พัฒนพลและทีมงานได้พัฒนาขึ้นนี้ไม่เพียงจำลองภาพในช่องปากได้อย่างสมจริง แต่แขนกลยังจำลองแรงต้านที่มือจนราวกับสัมผัสผิวฟันจริงๆ ด้วย


“คนทั่วๆ ไปมักเข้าใจว่า VR เป็นอุปกรณ์ไว้เล่นเกมให้สนุกขึ้นเท่านั้น” ดร.พัฒนพล เหรียญโมรา กล่าว “แต่จริงๆ แล้ว VR ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายด้าน อย่างเช่นการฝึกบินด้วยเครื่อง simulator การสร้างภาพจำลองสำหรับรักษาโรคกลัวความสูงหรือยกตัวอย่างงาน Shanghai Fashion Weekที่ทำเป็น Virtual Runway โดยผู้ชมนั่งดูอยู่ที่บ้าน หรือตอนนี้ที่ผมและทีมงานกำลังพัฒนาVR สำหรับใช้บรรเทาอาการกลัวการพูดต่อหน้าผู้อื่น โดยจำลองภาพสามมิติให้ผู้ใช้งานรู้สึกเหมือนกำลังพูดอยู่ในที่สาธารณะอย่างสมจริง”

ดร.พัฒนพลยังกล่าวว่า ด้วยเหตุที่หลายวงการหันมาใช้เทคโนโลยีVR เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพจึงเล็งเห็นตลาดงานที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดสาขาเกมและสื่อเชิงตอบโต้ขึ้นเพื่อสอนการผลิตสื่ออินเทอร์แอคทีฟเช่น VR,AR รวมไปถึงการสร้างเกมต่างๆ­­


จึงอาจกล่าวได้ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ได้นำมาซึ่งวิกฤตเพียงอย่างเดียว หากยังเข้ามา disrupt ให้ผู้คนตระหนักรู้ถึงโอกาสที่ซ่อนอยู่ในวิกฤตนั้น นั่นคือ ท่ามกลางความผันผวนของอาชีพต่างๆ การศึกษาด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่กลับทำให้เรารู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งยังสามารถนำความรู้มาใช้เพื่อฝ่าวิกฤตการณ์ไปให้ได้ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น