xs
xsm
sm
md
lg

สธ. คือ "ผู้ซื้อ"ไม่ใช่ "ผู้จัดหา" ในสภาวะขาดหน้ากากอนามัย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เรื่องหน้ากากอนามัยขาดแคลน ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ยังเป็นเรื่องที่รัฐบาลพยายามแก้ปัญหามาจนถึงทุกวันนี้

แม้จะมีการเปิดเผยตัวเลขกำลังการผลิตว่า เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในประเทศ เพราะโรงงานในประเทศมีกำลังการผลิตที่จำนวน 1,350,000 ชิ้นต่อวัน หากแต่ในพื้นที่ประชาชนยังหาซื้อได้ลำบาก

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานหลักในการแก้ปัญหาไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด –19 กลายเป็นอีกหน่วยงานที่ถูกตั้งคำถามในประเด็นการขาดแคลนหน้ากากอนามัย

ทั้งที่ข้อเท็จจริงแล้ว หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบเรื่องการกระจายหน้ากากอนามัย เป็นของกระทรวงพาณิชย์

ส่วนกระทรวงสาธารณสุขมีสถานะ “ผู้ซื้อ” เช่นเดียวกับโรงพยาบาลอื่นๆ และประชาชน

“กรมการค้าภายใน” กระทรวงพาณิชย์ ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่จัดระเบียบให้โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยที่มี 11 แห่ง กระจายไปยังสถานที่ต่างๆ

ได้แก่ ระบายให้ผู้บริโภค ผ่านร้านสะดวกซื้อ ร้านธงฟ้า และร้านขายยาต่างๆ นอกจากนี้ ยังรวมถึงกรณีที่โรงงานนำไปขายในระบบการค้าปกติ และโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นลูกค้า

ส่วน “กระทรวงสาธารณสุข” มีภารกิจเพียงจัดหาหน้ากากอนามัยให้กับโรงพยาบาล สถานพยาบาล ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ไม่มีภารกิจจัดหาหน้ากากอนามัย มาจำหน่าย จ่าย แจก ให้กับประชาชน เว้นแต่มีจำนวนที่เกินกว่าความต้องการใช้ของโรงพยาบาลในสังกัด

กล่าวคือ ไม่ได้เป็นทั้ง “ผู้ผลิต” และ “ไม่มีจำหน่าย”

ที่ผ่านมาที่ “องค์การเภสัชกรรม” นำมาแจกจ่ายนั้น เป็นเพียงการบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน ในช่วงที่สินค้าขาดตลาด ส่วนการซื้อใช้ในภาวะปกติ ต้องติดต่อหาซื้อได้ที่ร้านค้าของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์

ปัจจุบันพบว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้รับการจัดสรรจำนวน 400,000 ชิ้นต่อวัน แบ่งเป็นให้โรงพยาบาลในสังกัด สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ จำนวน 360,000 ชิ้น โรงพยาบาลในกรม อื่นๆ ได้แก่ กรมอนามัย กรมสุขภาพจิต กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จำนวน 20,700 ชิ้น โดยผ่านการบริหารจัดการของ “องค์การเภสัชกรรม”

ส่วนโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ ที่ได้รับการจัดสรรจำนวน 14,300 ชิ้น และโรงพยาบาลสังกัดกรมควบคุมโรค 5,000 ชิ้น “ซื้อตรง” จาก “โรงงานผู้ผลิต”

นอกจากนี้ ยังพบว่า โรงพยาบาลนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย โรงพยาบาลในค่ายทหาร โรงพยาบาลตำรวจ สภากาชาดไทย รัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้า ยาสูบ และเทศบาล จำนวน 30,000 ชิ้น โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย/คณะทันตแพทย์ จำนวน 60,000 ชิ้น

ขณะที่โรงพยาบาลเอกชน /คลินิกเอกชน จำนวน 160,000 ชิ้น และโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 70,000 ชิ้น “ซื้อตรง” จาก “โรงงานผู้ผลิต”

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยมีประชากรกว่า 60 ล้านคน แต่ปรากฏว่า มีหน้ากากอนามัยขายแค่เพียงวันละ 500,000 ชิ้นเท่านั้น ซึ่งอย่างไรก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน

ในขณะเดียวกัน หากความต้องการของประชาชนมีมากกว่านี้ ผลกระทบทางอ้อมที่จะเกิดขึ้นกับโรงพยาบาลคือ การได้รับการจัดสรรหน้ากากอนามัยในปริมาณที่ลดลง

ถือเป็นสถานการณ์ที่อันตรายต่อโรงพยาบาลอย่างมาก เพราะบุคลากรทางแพทย์ถือว่า บุคคลที่จำเป็นต้องใช้หน้ากากอนามัยเป็นลำดับต้นๆ เหมือนในบางประเทศที่มีการจำกัดหน้ากากอนามัยให้ใช้เฉพาะบุคลากรทางแพทย์เท่านั้น

ถือเป็นจุดที่อันตราย เพราะ “กระทรวงสาธารณสุข” ถือเป็นหน่วยงานหลักในการสู้รบกับโควิด -19 หนำซ้ำ ยังต้องมาเผชิญกับภาวะ “เสี่ยง” ต่อการขาดแคลนหน้ากากอนามัย

ตลกร้ายกว่า กลับต้องถูกครหาว่า ทำหน้าที่บกพร่องเรื่องการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยให้ประชาชน ทั้งที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับหน้าที่ดังกล่าวเลย

เปรียบกัน “กระทรวงสาธารณสุข” ก็ไม่ต่างจากประชาชนที่ต้องแบกรับ “ความเสี่ยง” มากกว่าคนอื่นๆ อีกด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น