xs
xsm
sm
md
lg

“พังทั้งร้านค้า-โรงงาน-แรงงาน” เปิดใจ “พ่อค้าปลีก-ส่ง” ตลาดนัดจตุจักร เผชิญวิกฤตโควิด-19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ผมมีร้านขายรองเท้าแตะในตลาดจตุจักร 2 ร้าน ตอนนี้ก็ปิดหมด ก็ทำอะไรไม่ได้ ขาดทุนไปเรื่อยๆ ใช้เงินเก็บไปเรื่อยๆ ที่ยังพอขายได้ก็มีส่งทางออนไลน์นิดหน่อย แต่ก็เป็นการขายทีละคู่ ได้น้อยมาก แถมยังตัดราคากันหนักมาก”

... รายงานพิเศษ

ตลาดนัดจตุจักร ปิดตัวลงเหมือนสถานที่ขายของอื่นๆ ตามคำสั่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อ 21 มีนาคม 2563 วันเดียวกันที่เกิดปรากฎการณ์แรงงานในกรุงเทพมหานคร แห่เดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก เพราะกิจการต่างๆ ถูกสั่งให้ปิดหมด เหลือเพียงร้านอาหารที่ต้องซื้อกลับบ้าน ไม่มีที่นั่งกินที่ร้าน และซูเปอร์มาร์เก็ตเท่านั้นที่ยังเปิดขายได้

เราต่างเข้าใจตรงกันว่า ตลาดนัดจตุจักร ต่างจากตลาดนัดแห่งอื่น เพราะไม่ใช่เป็นเพียงสถานที่ผู้คนมาจับจ่ายใช้สอย แต่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของกรุงเทพฯ จึงมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ ดังนั้นผลกระทบเกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นแล้ว

“ขอทางรถเข็นหน่อยครับ ... ระวังรถชนหลังนะครับ ... ระวังเท้านะครับ”

นั่นเป็นเสียงตะโกนที่เรามักจะได้ยินมาจากข้างหลังเสมอ

ในระหว่างที่กำลังเดินเลือกซื้อของในตลาดนัดจตุจักร เป็นเสียงของเหล่าลูกจ้างจากร้านค้าใหญ่ๆที่กำลังเข็นรถเข็นที่บรรทุกสินค้าเตต็มคันรถ ไปส่งให้กับลูกค้ารายใหญ่ของเขา ของเหล่านี้จะถูกบริการนำไปส่งถึงรถผู้ซื้อ ซึ่งก็คือ พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ที่มารับสินค้าไปขายต่อที่ต่างจังหวัด หรือที่ตลาดนัดอื่นๆ ...

เด็กเข็นรถส่งของเหล่านี้ จึงเป็นสิ่งที่บอกว่า “จตุจักร” เป็นตลาดขายส่งสินค้า แหล่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ

“ผมเป็นคนขายส่ง ลูกค้าผมเป็นคนขายเร่ไปตามตลาดนัดต่างๆบ้าง รับของไปขายในห้างบ้าง เมื่อลูกค้าผมขายไม่ได้ ไม่มีที่ขาย เขาก็ไม่สั่งของ ผมก็ไม่สั่งเปิดโรงงานเปิดออเดอร์ใหม่เหมือนกัน เพราะไม่มีคนซื้อ โรงงานเขาก็ต้องหยุดหมด บางที่เขาก็ต้องเลิกจ้างพนักงานไปก่อน บางที่ยังพอดูแลกันได้ แต่ก็คงอีกไม่นานเท่าไหร่ ลูกจ้างพอเขาไม่มีงาน ไม่มีเงิน เขาก็ต้องกลับต่างจังหวัด” เฮียเจ้าของร้านรองเท้าแตะ อธิบายให้เห็นถึงห่วงโซ่ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตั้งแต่ ต้นน้ำ ถึง ท้ายน้ำ ของวงจรทางการค้า

เฮียบอกว่า ตลาดนัดจตุจักร ยังดีหน่อย เพราะพอ “กรุงเทพมหานคร” เป็นผู้เข้ามาบริหาร แล้วถูกปิดตามคำสั่งกรุงเทพมหานคร เขาก็งดค่าเช่าให้ ไม่ต้องจ่ายค่าเช่าที่ 9 เดือน

แต่ตลาดส่วนอื่นๆ อย่าง เจเจ มอลล์ (JJ Mall) หรือ จตุจักรพลาซ่า ซึ่งเอกชนประมูลที่ไปจากการรถไฟฯ เป็นผู้บริหาร เขาก็ช่วยได้แค่ลดค่าเช่าให้นิดหน่อย เพราะเขายังต้องจ้างคนมาดูแลตลาด รักษาความปลอดภัย ยังมีค่าใช้จ่ายเช่นกัน ดังนั้นตอนนี้ร้านเล็ก ร้านใหญ่ กระทบกันหมด หนักเหมือนกัน ต่างคนต่างก็ต้องหาทางเอาตัวรอดกันไป

“ผมว่ามันคงอีกยาวนานนะกว่าจะฟื้น น่าจะเป็นปี” เฮียพูดขึ้นมาอีก

“ประเทศเรามีรายได้หลักมาจากการท่องเที่ยว แต่ตอนนี้เครื่องบินจอดนิ่งหมด ธุรกิจการบินก็ไม่รอด นักท่องเที่ยวไม่ต้องพูดถึง มันแย่กันทั้งโลก กว่าจะพ้นวิกฤตโควิดได้ ถ้าประเทศเขายังไม่ดีขึ้นเขาก็ยังไม่มา ถึงดีขึ้นแล้ว เขาก็ยังไม่มา เขายังต้องทำงานเพื่อฟื้นตัว มีเงินถึงจะมาเที่ยวได้”

“ดังนั้น ผมคิดว่า หลังพ้นโควิด ธุรกิจอย่างผม หรือธุรกิจอะไรก็ตามที่เกี่ยวโยงกับการท่องเที่ยว จะต้องมาเริ่มใหม่จากศูนย์เลย” ... เจ้าของร้านรองเท้าแตะ กล่าว

เขาเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ปี 2540 แต่ผู้ค้ารายนี้บอกว่า ในช่วงนั้นสถานการณ์อาจจะยังดีกว่านี้ด้วยซ้ำ เพราะเขามองว่า ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 แม้ว่าสถาบันทางการเงินจะล่มหมด แต่ธุรกิจที่มีผลกระทบมากก็เช่น ธุรกิจรถยนต์ที่ขายไม่ได้เลยต้องจนหยุดสายการผลิต

แต่การค้าขายทั่วไปยังดีอยู่ ตอนนั้นคนตกงานก็เปลี่ยนมาค้าขาย คนทั่วไปยังพอมีกำลังซื้อสินค้าที่ได้ราคาแพงมากนัก พูดง่ายๆ คือ ตลาดสินค้าที่เป็นตลาดล่าง ยังขายของได้ดี

แต่รอบบนี้ ปัญหาคือไวรัสแพร่ระบาด เปิดร้านขายของไม่ได้ รวมกลุ่มคนไม่ได้ คนตกงานก็ไม่มีทางไป หาอาชีพอื่นทำไม่ได้

“หนี้เสีย จะเยอะแน่นอน อาจจะมีเฉพาะคนที่มีเงินเก็บ มีทุนทรัพย์อยู่ สายป่านยาวพอจะประคองตัวไปได้ แต่คนที่ไม่มีเงินเก็บยาวๆ ก็ต้องยอมทิ้งทรัพย์สินแบบ ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย แล้วผมถามหน่อยว่า เมื่อยึดรถ ยึดบ้านมาเพราะหนี้เน่า แล้วจะเอาไปขายใคร เมื่อคนจำนวนมากติดเครดิตบูโร แล้วจะค้าขายต่อกันยังไง”

“อย่างผม มีลูกค้าที่เอาของไปขาย ผมให้เครดิตเขา ยังไม่ต้องจ่าย พอมาเจอช่วงนี้ เขาไม่ได้ขาย เขาก็ไม่มีจ่าย ผมก็ไม่รู้จะไปทวงเอาอะไรจากเขา ก็ต้องทำใจ” ... เจ้าของร้านรองเท้าแตะ เปรียบเทียบหากกิจการขายส่งของเขา เป็นเหมือนสถาบันการเงิน

คำอธิบายของเจ้าของร้านขายรองเท้าแตะในสวนจตุจักร ... น่าจะขยายความไปถึงภาพใหญ่ได้ดีทีเดียว เมื่อธุรกิจขายทั้งปลีกและส่งของเขา ผูกพันเชื่อมโยงเป็นห่วงโซ่ไปหมดกับทั้ง ผู้ค้ารายย่อย โรงงาน แรงงานในโรงงาน และที่สำคัญคือ ไม่มีลูกค้าที่มีกำลังซื้ออีกต่อไป

นักวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ ที่ไม่ขอเอ่ยนามคนหนึ่ง เห็นว่า นี่เป็นปัญหาใหญ่ ที่รัฐบาลไทยจะต้องเลือกหนทางในการใช้เงินช่วยเหลือให้ดีที่สุด เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้กับประชาชนส่วนใหญ่ คือ “หนี้สิน” กับ “รายได้” ไม่สอดคล้องกันอย่างรุนแรง

เขามองว่า ในอีก 2-3 เดือน หากโควิด-19 ยังไม่หมดไป ปัญหาคนตกงาน ว่างงานที่เกิดขึ้นกับกลุ่มแรงงานที่เป็นลูกจ้างรายวันและอาชีพอิสระ จะขยายไปถึงกลุ่มพนักงานบริษัทที่มีเงินเดือนด้วย เพราะเมื่อบริษัทไม่มีรายได้ ก็จำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานเพื่อความอยู่รอด

นักวิเคราะห์รายนี้ ยังตั้งข้อสังเกตถึงแนวทางการช่วยเหลือของรัฐบาล ซึ่งถูกวิจารณ์ว่า ใช้เงินถึง 4 แสนล้านบาทไปดูแลกลุ่มบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่ลงทุนในตราสารหนี้ ด้วยการไปอุ้ม “หุ้นกู้” ของบริษัทเหล่านี้ เพราะกลัวว่าจะผิดชำระหนี้ ทั้งที่กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนรายใหญ่ หรือผู้ที่จะเข้ามาซื้อหุ้นกู้ ก็ต้องเป็นธุรกิจที่มีทรัพย์สินมากพอสมควรอยู่แล้ว

โดยเขายืนยันว่า ไม่ได้คัดค้านการดูแลกลุ่มนี้ แต่เมื่อไปเปรียบเทียบกับการตั้งงบประมาณเพียง 2.7 แสนล้านบาท สำหรับการดูแลประชาชน 9 ล้านคน ที่กลายเป็นผู้ว่างงาน โดยการจ่ายรายละ 5 พันบาท เป็นเวลา 6 เดือน จะเห็นว่า เป็นการใช้เงินที่น้อยกว่ากันมาก

ทั้งที่ 9 ล้านคนนี้ (ยังไม่รวมเกษตรกร) ยังมีหนี้สินที่เป็นค่าใช้จ่ายประจำ และหากไม่สามารถเอาตัวรอดได้ ก็จะทำให้เกิดหนี้เสียอย่างมหาศาล ซึ่งสุดท้ายก็จะไปกระทบกับสถาบันการเงินอย่างรุนแรงอยู่ดี

นักวิเคราะห์รายนี้ ยังตั้งข้อสังเกตถึงแนวทางการช่วยเหลือของรัฐบาล ซึ่งถูกวิจารณ์ว่า ใช้เงินถึง 4 แสนล้านบาทไปดูแลกลุ่มบริษัทเอกชน และนักลงทุนรายใหญ่ ด้วยการตั้งกองทุนอุ้ม “หุ้นกู้” โดยแบงก์ชาติจะไปรับซื้อหุ้นกู้ของบริษัทเอกชน หากไม่สามารถขายได้ เพื่อเสริมสภาพคล่อง

พูดง่ายๆ ว่า แบงก์ชาติจะปล่อยกู้ให้กับบริษัทเอกชนซะเอง

โดยปกติแล้วหุ้นกู้พวกนี้ ถ้าครบอายุสัญญา ก็จะมีการ Rollover หรือการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ เพื่อนำเงินต้นมาคืนให้กับนักลงทุนในหุ้นกู้ชุดเดิม แต่หากบริษัทไม่สามารถออกหุ้นกู้ชุดใหม่ได้

หรือออกมาแล้วไม่มีคนซื้อ บริษัทก็ไม่มีเงินไปชำระหนี้นักลงทุนที่ถือหุ้นกู้ชุดเดิมที่ครบอายุ นักลงทุนกลุ่มนี้ส่วนมากก็เป็นนักลงทุนรายใหญ่มีทรัพย์สินเกิน 10 ล้านบาท โดยเขายืนยันว่า ไม่ได้คัดค้านการดูแลกลุ่มนี้

เขาอธิบายต่อว่า ทุกๆ ครั้งเมื่อเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ จะมีคำถามสำคัญคือ “รัฐจะช่วยใครก่อน” คนระดับบน หรือคนข้างล่าง คนระดับบนเต็มที่ก็จนลง ชีวิตไม่สบายเหมือนเก่า กิจการล้ม แต่คนระดับล่างอาจต้องไปขอข้าววัดกิน ถ้าต้องตกงาน ไม่มีรายได้เข้ามา สภาพมันต่างกันมาก ทั้งๆ ที่ก็เป็นคนมีเลือดมีเนื้อไม่ต่างกัน

ถ้ารัฐเห็นอกเห็นใจคนจนมากขึ้น รัฐควรเพิ่มงบประมาณ ให้คนจนสามารถอยู่ได้อย่างน้อยๆ ก็จนถึงสิ้นปีนี้อย่างพวกที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว 3 เดือน 6 เดือน ไม่มีทางฟื้น เพราะเป็นช่วงที่ยังไม่มีใครกล้าเดินทาง

และหากรัฐต้องการช่วยบริษัทต่างๆ มันก็มีวิธีอื่น เช่นที่อังกฤษ รัฐบาลช่วยบริษัทจ่าย “ค่าจ้าง” บางส่วนเพื่อไม่ให้ปลดคนออกจากงาน ทำให้บริษัทก็อยู่รอด คนไม่ตกงาน ยังมีเงินพอซื้อข้าวซื้อน้ำ เศรษฐกิจระดับล่างก็ยังพออยู่ได้

ส่วนพวกหุ้นกู้ ถ้าจำเป็นจริงๆ ไม่มีงบประมาณมากพอ ก็อาจจะต้องให้มีการ “ผิดนัดชำระหนี้” หรือบังคับต่ออายุหุ้นกู้ให้ยาวออกไป โดยให้บริษัทเอกชนที่ผิดชำระ จ่ายดอกเบี้ยไปก่อน ยังไม่ต้องคืนเงินต้น นักลงทุนรายใหญ่จึงอาจต้องร่วมกันรับความเสี่ยงด้วย

วิธีต่างๆ เหล่านี้ มันคืออยู่กับ “มุมมอง” ของรัฐ ว่าเลือกอยู่ฝั่งไหน เท่านั้นเอง มันไม่มีค่าตรงกลาง ถ้าช่วยฝั่งหนึ่งเพิ่มขึ้น อีกฝั่งก็ต้องลดลง
กำลังโหลดความคิดเห็น