มาชมโมเดล “ศูนย์ที่พักอาศัยเพื่อการกักแยกเพื่อเฝ้าสังเกตอาการ” เกิดขึ้นแล้วที่ปทุมธานี หวังแยกผู้ที่เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังฯ ออกมาจากครอบครัวและชุมชน ตัดวงจรแพร่ระบาด “โควิด-19” ตั้งแต่ต้นทาง ลดภาระโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์
... รายงานพิเศษ
ถ้าคุณกลายเป็นกลุ่มที่ต้องเข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง (Patient Under Investigation หรือ PUI) จากเชื้อโควิด-19 คุณจะทำอะไร?
สมชาย ... ขับแท็กซี่รับผู้โดยสาร และวันหนึ่ง มีประกาศจากทางการว่าผู้โดยสารที่เขารับไปติดเชื้อ
สมหมาย ... เป็นพนักงานส่งอาหารจากการสั่งซื้อออนไลน์ และวันหนึ่ง มีประกาศจากทางการว่าพนักงานร้านกาแฟที่เขาไปซื้อทุกวันติดเชื้อ
สมศักดิ์ ... เป็นพนักงานขายในร้านสะดวกซื้อ และวันหนึ่งมีประกาศจากทางการว่า ผู้เข้าอาศัยในคอนโดมีเนียมที่มาซื้อของเป็นประจำทุกวันเป็นผู้ติดเชื้อ
เขาเหล่านี้กลายเป็น “ผู้เข้าเกณฑ์ต้องเฝ้าระวัง” และต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัวเอง 14 วัน ห้ามพบปะผู้คน
แต่ ... สมชาย อยู่ห้องเช่าร่วมกับภรรยาและลูกเล็กอีก 2 คน
สมหมาย อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด บ้านของเขาไม่ใหญ่โต ไม่ได้แยกห้องนอนเป็นสัดส่วน มีทั้งภรรยา ลูก และพ่อแม่ที่ชราแล้วอยู่ร่วมกัน
สมศักดิ์ ยังเรียนมหาวิทยาลัย อาศัยรายได้รายวัน และเช่าหอพักอยู่กับเพื่อนสนิทอีก 2 คน เพราะต้องแชร์ค่าห้องกัน
พวกเขามีความยากลำบากที่จะ “กักตัวเอง” และโรงพยาบาลก็มีข้อจำกัดด้านทรัพยากรที่จะรับคนกลุ่มนี้ไว้
“ศูนย์ที่พักอาศัยเพื่อการกักแยกเพื่อเฝ้าสังเกตอาการ” จึงเป็นทางออกที่โรงพยาบาลจะใช้เป็นสถานที่แยกผู้ที่เข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง ออกมาจากครอบครัวและชุมชนได้อย่างรวดเร็ว เป็นการตัดวงจรการแพร่เชื้อตั้งแต่ “ต้นน้ำ” ถือเป็นการช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ช่วยลดภาระของโรงพยาบาล ลดภาระที่จะไปถึงแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ได้มาก
ศูนย์นี้เกิดขึ้นจากการระดมความคิดของคนในหลายสาขาอาชีพ ทั้ง แพทย์ พยาบาล นักเศรษฐศาสตร์ นักปกครอง วิศวกร สถาปนิก ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน โดยได้แรงสนับสนุนหลักจากเครือข่ายด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (RoLD) ของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)
จึงจัดตั้งศูนย์ได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเริ่มดำเนินการเป็นศูนย์กักแยกกลุ่มผู้เกณฑ์เฝ้าระวัง (PUI) ประจำจังหวัดปทุมธานีแล้ว โดยรองรับกลุ่มผู้เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังจากโรงพยาบาลของรัฐในจังหวัดปทุมธานี
เมื่อ สมชาย สมหมาย และสมศักดิ์ ถูกแยกตัวออกจากครอบครัวที่เขารักชั่วคราว ถูกแยกตัวออกมาชุมชนที่เขาอาศัยอยู่ชั่วคราว ก็จะทำให้ทั้งครอบครัวและชุมชนของเขาปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด-19 ไปด้วย เพราะคนที่มีความเสี่ยงถูกแยกตัวออกมาแล้ว
แต่หากทั้งสมชาย สมหมาย และสมศักดิ์ ยังกักตัวอยู่ในที่พักของตัวเองทั้งที่สถานที่ไม่เอื้ออำนวย ก็อาจทำให้คนในครอบครัวของเขาติดเชื้อ และคนในครอบครัวที่ต้องออกไปทำกิจกรรมอื่นๆ นอกบ้าน ก็อาจนำเชื้อไปแพร่กระจายต่อในชุมชนได้
และนั่นอาจเป็นเหตุผลที่ “กลุ่มเสี่ยง” เหล่านี้ ไม่กล้าที่จะแสดงตัว เพราะกังวลว่าหากแสดงตัวว่าเป็นผู้เข้าเกณฑ์ต้องกักตัว แต่ต้องกลับมาอยูที่บ้าน ก็จะถูกรังเกียจจากสังคมโดยรอบภายในชุมชน
ดังนั้นการมีสถานที่กักตัวให้คนกลุ่มนี้ จะทำให้พวกเขา “กล้า” ที่จะแสดงตัวออกมามากขึ้น
“ศูนย์ที่พักอาศัยเพื่อการกักแยกเพื่อเฝ้าสังเกตอาการ ปทุมธานี” จะรับผู้เข้าเกณฑ์ต้องกักแยก ผ่านกระบวนการคัดกรองจากโรงพยาบาลในเขตจังหวัดปทุมธานี และจะส่งผู้เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังมาที่ศูนย์ ด้วยรถพยาบาลปลอดเชื้อ
กระบวนการภายในศูนย์แห่งนี้ ถือเป็นกระบวนการที่ผ่านการถอดบทเรียนมาจากการจัดการของสิงคโปร์ เกาหลีใต้ จีน และไต้หวัน โดยใช้ระบบการจัดการที่ปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ กับทั้งผู้ที่เข้ารับการกักแยกและผู้ที่เข้าไปดูแล จะไม่สัมผัสกันเลยตลอดระยะเวลาของการกักตัว
ผู้เข้ารับการกักแยกจะอยู่ในห้องเดี่ยว มีห้องน้ำในตัวตลอดการกักแยก
มีเสื้อผ้าที่แห้งง่ายให้เปลี่ยนเป็นของเฉพาะตัวพร้อมอุปกรณ์การซักผ้า
มีอาหารให้ครบ 3 มื้อทุกวัน โดยใช้พยาบาลประจำตึกเป็นผู้นำอาหารไปแขวนไว้ที่หน้าห้องพัก จากนั้นพยาบาลจะลงมาจากอาคารแล้วจึงโทรศัพท์เข้าไปแจ้งว่าอาหารมาส่งไว้แล้ว
มีอินเตอร์เน็ตให้ใช้ตลอดเวลา เพื่อให้ติดต่อกับคนทางบ้านได้ ผ่อนคลายความตึงเครียด
หากมีอาการป่วย มีไข้ หรือสงสัยว่าจะป่วย จะมีพยาบาลคอยสอบถามอาการ ประเมินอาการ และหากมีความจำเป็น ก็จะส่งรถพยาบาลปลอดเชื้อมารับไปที่โรงพยาบาลทันที
ส่วนห้องที่ผู้เข้ากักแยกย้ายออกไปแล้ว ก็จะเปิดให้แสงแดดและลมเข้ามาฆ่าเชื้อประมาณ 2 วัน ก่อนจะใช้เวลาทำความสะอาดตามขั้นตอนอีก 2 วัน จึงจะให้ผู้กักแยกรายใหม่เข้าพักได้
ศูนย์กักแยกลักษณะนี้นอกจากจะเป็นช่องทางให้คนในชุมชนต่างๆ ในจังหวัดปทุมธานี ที่เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังได้เข้ารับการกักแยก เพื่อความปลอดภัยของครอบครัวและชุมชนเอง ยังเน้นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนใกล้เคียงในภาวะที่ไม่สามารถหารายได้ทางอื่น
โดยจ้างงานแม่บ้าน คนทำความสะอาด เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจากคนในชุมชน ให้คนในชุมชนมาเป็นแม่ครัวทำอาหารให้ผู้เข้ารับการกักแยกและเจ้าหน้าที่ รวมทั้งการซื้อวัตถุดิบที่จะนำมาทำอาหารพร้อมเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ ก็ซื้อมาจากร้านค้าในชุมชน
“ศูนย์ที่พักอาศัยเพื่อการกักแยกเพื่อเฝ้าสังเกตอาการ ปทุมธานี” ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัส “โควิด-19” โดยมองที่ต้นตอของประเด็นปัญหาและเข้าไปจัดการเชิงกลยุทธ์อย่างบูรณาการ โดยสามารถนำรูปแบบการจัดการเช่นนี้ไปใช้ได้เลยในพื้นที่อื่นๆทั่วประเทศ
ซึ่งเป็นไปได้ว่า ประเทศไทยจะยังต้องเผชิญกับไวรัสตัวนี้ไปอีกยาวนาน จึงสำคัญมากที่ต้นแบบนี้ จะช่วยให้กลไกของ “ชุมชน” และ “ท้องถิ่น” กลายเป็นแกนหลักที่เข้มแข็งในการ “ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19”
ถือเป็นด่านหน้าอีกชั้นที่จะลดจำนวนผู้ป่วย ลดภาระก่อนจะไปถึงมือแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ที่กำลังสู้รบกับศัตรูตัวเล็กนี้อย่างเข้มแข็งมาตลอด