xs
xsm
sm
md
lg

อย่าตกใจ “กู้ภัย” สวมชุด PPE อัปเกรดสู่ “ทีม SCOT” รับส่งผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง “โควิด-19”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อัปเกรดอาสาสมัครกู้ชีพกู้ภัย สู่ “ทีม SCOT” รับส่งผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโควิด-19 ขอประชาชนอย่าตกใจ หากเห็นกู้ภัยใส่ชุด PPE เพื่อความปลอดภัย ย้ำไม่ได้หมายความว่าเป็นผู้ติดเชื้อ

... รายงานพิเศษ

สัปดาห์ต้นเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่หน่วยงานอาสามัครกู้ชีพกู้ภัยในหลายพื้นที่ ถึงกับต้องออกแถลงการณ์ว่าอาจจะต้องหยุดออกปฏิบัติหน้าที่รับ-ส่ง หรือออกไปช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ

เหตุเพราะว่า พวกเขากำลังขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันตัวเองอย่างหนัก โดยเฉพาะ “หน้ากากอนามัย” ที่มีไม่พอ หาซื้อไม่ได้

และมีข้อมูลว่า “งานการแพทย์ฉุกเฉิน” ถูกตัดโควตาหน้ากากอนามัยออกจากส่วนที่เคยขอซื้อได้จากการจัดสรรของรัฐบาล

เหตุการณ์นั้นทำให้ “สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ” (สพฉ.) ถึงกับต้องออกมาขอรับบริจาคหน้ากากอนามัย เพื่อสนับสนุนงานของอาสาสมัครกู้ชีพกู้ภัย ซึ่งเป็นด่านหน้าในการรเข้าไปถึงป่วยผู้ป่วยทุกประเภท

โดยมีข้อมูลว่า ก่อนหน้านั้น สพฉ. พยายามขอโควตาจัดซื้อหน้ากากอนามัยให้กับอาสาสมัครเหล่านี้ แต่ไม่มีโควตาจากกระทรวงสาธารณสุข จนต้องไปขอแบ่งบางส่วนมาจาก “กระทรวงพาณิชย์” และได้โควตาล็อตแรกมาจำนวนวันละ 18,500 ชิ้น เป็นเวลา 7 วัน รวม 129,500 ชิ้น แจกจ่ายไปยังจังหวัดต่างๆ แล้ว

แต่เมื่อจะจัดซื้อลอตที่ 2 ก็พบว่า “ทำไม่ได้”

เพราะหน้ากากอนามัย ที่เคยอยู่ในความดูแลของกระทรวงพาณิชย์ ถูกโอนไปให้เป็นสัดส่วนของ “กระทรวงมหาดไทย” และต้องจัดสรรให้เจ้าหน้าที่ตั้งตั้งด่านสกัดตามจุดต่างๆ หลังรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้ สพฉ.ถูกตัดโควตาไปด้วยโยปริยาย

(สพฉ. เป็นหน่วยงานราชการ ไม่สามารถจัดซื้อหน้ากากอนามัยที่ขายเกินราคาตามท้องตลาด หรือที่ขายทางออนไลน์ได้ เพราะจะกลายเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิด)

แต่เมื่อปัญหานี้ถูกสื่อสารออกไปก็พบว่า สถานการณ์เริ่มดีขึ้น เพราะ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ให้กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย ดูแลให้จัดสรรหน้ากากอนามัยให้กับอาสาสมัครกู้ชีพกู้ภัยด้วย

ทั้งที่ปฏิบัติงานในหน่วยกู้ชีพรับคำสั่งจากกระทรวงสาธารณสุข และส่วนที่ร่วมปฏิบัติหน้าที่ในด่านกับกระทรวงมหาดไทย ส่วน สพฉ. เอง ก็ได้รับการประสานมาแล้วว่า จะได้รับโควตาคืนมาบางส่วนจากกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้นโดยรวมคือ สถานการณ์เรื่องหน้ากากอนามัยของกู้ชีพกู้ภัยดีขึ้น


แต่ในระหว่างนี้ ยังมีอีกปัญหาหนึ่งที่กำลังจะตามมา เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น ซึ่งหมายความว่า โดยหลักการจะมีจำนวน “ผู้เข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง” (Patient Under Investigation หรือ PUI) เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

และจะทำให้การต้องใช้ “รถพยาบาลขั้นสูง” (Advance) ที่มาจากโรงพยาบาลเป็นหลัก เพื่อออกไปรับผู้ป่วยที่อาจจะเข้าข่ายเป็น PUI มีมากขึ้น จนอาจไปกระทบกับการดูแลผู้ป่วยรายอื่น

เพราะรถพยาบาลขั้นสูงจะมีไม่เพียงพออย่างแน่นอน และในการจะออกปฏิบัติงานแต่ละครั้งจะต้องใช้เวลาในการแต่งตัวของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งเซตรถให้มีอุปกรณ์เหลือน้อยที่สุด

เมื่อ สพฉ. ประเมินแล้ว พบว่า การไปรับ-ส่งผู้ป่วยที่อาจเข้าข่าย PUI ไม่ได้มีความซับซ้อน ปฏิบัติการไม่ยาก เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังสามารถเดินเองได้ ช่วยเหลือตัวเองได้ เพียงแต่จำเป็นต้องทำให้เจ้าหน้าที่มีอุปกรณ์ป้องกันตัวเองตามมาตรฐาน และมีองค์ความรู้ในการใช้อุปกรณ์ให้ถูกต้องเท่านั้น


ด้วยเหตุผลนี้ ทำให้ สพฉ. ใช้วิธีการ “อัปเกรด” ทีมอาสาสมัครกู้ชีพกู้ภัยระดับเบสิกขึ้นไปอีกขั้น ให้เป็นทีมที่มีศักยภาพในการออกไปรับ-ส่ง ผู้ป่วยที่อาจเข้าเกณฑ์เป็น PUI ได้ด้วย โดยใช้ชื่อว่า “Special COVID-19 Operation Team” หรือ “SCOT” (ทีมปฏิบัติการพิเศษ โควิด-19)

โดยประสานไปยังมูลนิธิต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อหาอาสมัครกู้ชีพกู้ภัยที่สนใจเข้าทีมเข้ารับการฝึกอบรมเพิ่ม ทั้งทางออนไลน์ และบางจังหวัดก็มีเจ้าหน้าที่ไปสอนเพิ่มเติม เน้นไปที่การใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวเองให้ปลอดภัย โดยเฉพาะการใส่และถอด “ชุด PPE (Personal Protective Equipment)” ที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามขั้นตอนความปลอดภัย

ทำให้จนถึงขณะนี้ มีทีม SCOT เกิดขึ้นแล้ว 50 ทีม ทั่วประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนหน้ากากอนามัย ทีมละ 1,000 ชิ้น และมีชุด PPE พร้อมสำหรับการออกปฏิบัติหน้าที่

ทีม SCOT จึงเป็นทีมกู้ภัยขั้น Basic ที่ได้รับการสนับสนุนทรัพยากรและองค์ความรู้ในการใช้ทรัพยากรเพื่อป้องกันตัวเองเพิ่ม สำหรับการสนับสนุนรับผู้ป่วยที่อาจเข้าข่าย PUI

โดยในแต่ละทีมจะมีรถที่จอดไว้สำหรับใช้ในงานของทีม SCOT 1 คัน เป็นรถที่มีอุปกรณ์อื่นที่ไม่จำเป็นน้อยที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงที่ PUI จะไปหยิบจับอุปกรณ์ มีอากาศถ่ายเทสะดวก มีเจ้าหน้าที่ประจำทีมพร้อมชุด PPE

และจะออกปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของจังหวัด เมื่อประเมินแล้วว่า ผู้ป่วยอาจเข้าข่ายเป็น PUI และทีมรถพยาบาลขั้นสูง ไม่พร้อมที่จะออกปฏิบัติงานในขณะนั้น


แม้ว่าจะเป็นการยกระดับการทำงานของหน่วยงานการแพทย์ฉุกเฉินให้คล่องตัว มีความพร้อมที่จะรองรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้มากขึ้น และทำให้เจ้าหน้าที่บุคลากรทางสาธารณสุขปลอดภัยมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ก็ยังมีปัญหาตามมา

เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่เหล่านี้ โดยเฉพาะทีม SCOT ใส่ชุด PPE ออกไปรับผู้ป่วย ที่ “อาจเป็น PUI” และยังมีประชาชนที่ไม่เข้าใจ นำไปพูดต่อว่าด้วยข้อมูลที่ผิดพลาด

เช่น บอกว่า การที่เจ้าหน้าที่ใส่ชุด PPE เต็มชุดมา เป็นเพราะผู้ป่วยคนนี้ ที่บ้านหลังนี้ เป็นผู้ติดเชื้อ ซึ่งยังไม่ใช่ข้อเท็จจริง ไปสร้างความตื่นตระหนก สร้างความหวาดระแวง และอาจทำให้บุคคลอื่นที่อยู่ที่นั่นถูกรังเกียจไปด้วย

เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในบางพื้นที่ ทำให้เจ้าหน้าที่มีความไม่แน่ใจที่จะออกไปทำงาน จึงต้องปรับความเข้าใจกันด้วยว่า การใส่ชุด PPE ออกปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางสาธารณสุข ทั้งทีมแพทย์ฉุกเฉิน หรือทีม SCOT ถือเป็นขั้นตอนตามปกติของกู้ชีพกู้ภัย และจะเป็นเรื่อง “ปกติธรรมดา” ในระยะต่อจากนี้ไป

เพราะเมื่อซักประวัติผู้ป่วยแล้ว หากยังยากที่จะแยกแยะว่าผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังเป็น PUI หรือไม่ ทำให้เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยที่สุดไว้ก่อน แต่การใส่ชุด PPE ออกปฏิบัติหน้าที่ “ไม่ได้หมายความว่า ผู้ป่วยรายนั้นเป็นผู้ติดเชื้อ”

อย่าลืมว่า อาสาสมัครกู้ชีพกู้ภัยที่ออกไปรับผู้ป่วย ก็มีครอบครัว ต้องกลับบ้านไปอยู่ครอบครัว จึงต้องป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยเช่นเดียวกัน

ถ้าประชาชนเข้าใจการปฏิบัติงาน ... เราจะเป็นส่วนหนึ่งในการสู้กับไวรัสตัวร้ายนี้ไปได้พร้อมๆ กัน


..........

การสนับสนุนทีม SCOT

1. อาสาสมัครกู้ชีพกู้ภัย ขึ้นทะเบียนกับ สพฉ.
2. ได้รับอุปกรณ์การป้องกันตัวเองเพิ่ม เช่น หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ชุด PPE
3. เข้ารับการอบรมใช้อุปกรณ์ให้ถูกวิธี ใส่และถอดชุดให้ถูกต้อง ปลอดภัย
4. ชดเชยค่าเสี่ยงภัย ชดเชยกรณีถูกกักตัว หรือต้องรักษาตัวเพราะติดเชื้อจากการปฏิบัติหน้าที่

สพฉ. จะจ่ายเงินชดเชยให้กับบุคลากรในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน รายละ 325 บาทต่อวัน ตามเงื่อนไขว่า

- เป็นผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ สพฉ.
- ถูกกักตัวเพราะออกปฏิบัติการตามคำสั่งของระบบ 1669
- มีคำสั่งจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคของจังหวัด ให้ต้อง “กักตัว” หรือ “เข้ารับการรักษาตัว”






















กำลังโหลดความคิดเห็น