รายการ "เรื่องลับมาก (NO CENSOR)" ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 14.10 - 14.50 น. ทางเนชั่นทีวี ช่อง 22 วันนี้ (7 เม.ย.) "ดร. เสรี วงษ์มณฑา" สัมภาษณ์ "ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา" เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และ "ปรีชา วัชระนัย" อาสาสมัครมูลนิธิสว่างเมธีธรรมสถาน กรณีอาสาสมัครกู้ภัย โพสต์ข้อความน้อยใจที่ไม่ได้รับโควต้าหน้ากาก ทั้งที่การทำงานก็เสี่ยงเหมือนกัน
สพฉ.คืออะไร?
นพ.อัจฉริยะ : "คือหน่วยงานของรัฐที่เกิดขึ้นตามพ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน ชื่อเต็มคือสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ซึ่งดูแลระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศ เข้าใจง่ายๆ อาจชื่อศูนย์นเรนทร หรือหมายเลขฉุกเฉิน 1669"
พอเขาโทรไปต้องมีรถช่วยเขา มีรถยังไง?
นพ.อัจฉริยะ : "ในส่วนของรถฉุกเฉินหรือหน่วยฉุกเฉินที่ขึ้นทะเบียนกับการแพทย์ฉุกเฉิน มี 8 พันกว่าหน่วย อยู่ในส่วนกระทรวงสาธารณสุข 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหน่วยนี้กระทรวงสาธารณสุขดูแลเรื่องหน้ากากไปเรียบร้อย มีท้องถิ่นกับมูลนิธิ 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนรพ. 20 เปอร์เซ็นต์"
ใครมีปัญหาเรื่องหน้ากาก?
นพ.อัจฉริยะ : "ในส่วน 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นทางท้องถิ่นกับมูลนิธิ เป็นจุดที่มีปัญหา ผมเข้าใจว่าในช่วงการจัดสรร มีความจำกัด รัฐบาลเอาหน้ากากมาเป็นสินค้าควบคุม เพราะมีการจัดสรรที่ไม่ลงตัว ล่าสุดก็ทราบว่ากระทรวงสาธารณสุขได้รับการจัดสรรที่ 1.5 ล้านชิ้นต่อวัน อีกล้านนึงอยู่ฝั่งกระทรวงมหาดไทย ก่อนหน้านี้ สพฉ. ได้รับโควต้าในส่วนสาธารณสุข ซึ่่งเราก็ได้ซื้อมาส่วนหนึ่งและกระจายไปทั่วประเทศเรียบร้อย แต่ตอนหลังมีการจัดสรรและยังไม่ลงตัว เลยอาจไม่ถึงพี่น้องทางมูลนิธิท้องถิ่น"
เมื่อไม่มีหน้ากาก ทางอาสาสมัครมีปัญหากับการทำงานมั้ย?
ปรีชา : "มีครับ กรณีภาวะที่ปกติไม่เกี่ยวปัญหาเรื่องโรคระบาด เราทำงานด้วยถุงมือยางอยู่แล้ว ในการช่วยเหลือผู้ป่วย แต่พอวันนี้เข้าสู่เรื่องโรคระบาด ตัวเราเองก็ต้องป้องกันตัวเองก่อน แมสก์เองก็ดี หรือแม้แต่ชุด PPE ซึ่งเราเองต้องติดอาวุธตัวเราเองให้ครบเพื่อความปลอดภัยก่อน"
จะใช้หน้ากากอะไร?
ปรีชา : "หน้ากากเขียวดีกว่าครับ เพราะป้องกันเรื่องติดต่อเชื้อโรคได้ หน้ากากผ้าใช้เรื่องพูดคุยกัน เพราะหน่วยผมคือหน่วยแรกที่ต้องไปอุ้มผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยคนนั้นเป็นโควิด เราก็เสี่ยงไปด้วยนะ เพราะเราต้องสัมผัสผู้ป่วย"
เคยไปรับผู้ป่วยติดโควิดมั้ย?
ปรีชา : "เคยรับครับ เคสล่าสุดคือเคสผู้ป่วยที่มาจากปากีสถาน มูลนิธิในเครือต้องไปรับบนรถไฟ ตอนนั้นยังไม่เป็นศพนะครับ เราก็ทำตามนโยบาย ปั๊มหัวใจก่อน เราต้องแตะตัวเขา ตอนนั้นเรายังไม่ทราบว่าเป็นผู้ป่วยโควิด ถ้ารู้ เราจะได้ป้องกันตัวเราให้พร้อม"
คนไปปั๊มหัวใจ คนไปอุ้มก็ดี ทำยังไง?
ปรีชา : "12 คนต้องกักตัวและเจาะเลือดในการเทสแล็ปต่างๆ ว่าเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อไปหรือเปล่า"
ในเมื่อเขาเป็นโควิดโดยพวกนี้ไม่รู้ตัว แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป?
นพ.อัจฉริยะ : "ตรงนี้ถึงได้เรียนว่าช่วงแรกเราจะรู้ว่าคนนี้มีความเสี่ยง มีไข้ เราจะส่งชุดหรือส่งทีมที่มีอุปกรณ์ครบไป แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป ทุกคนมีโอกาสเป็นโควิดได้อยู่แล้ว ทุกทีมที่ออก 8 พันกว่าหน่วยที่ออกไปมีความเสี่ยงทั้งสิ้น เขามีความจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง"
คำว่าอุปกรณ์ครบของคุณหมอประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?
นพ.อัจฉริยะ : "สำหรับทีมอาสาแบบนี้มีสองกลุ่ม กลุ่มไม่รู้อะไรเลย ต้องมีหน้ากากผ้า หน้ากากเขียว ถุงมือ แต่ถ้าทราบว่าเป็นโควิดต้องเปลี่ยนชุด PPE มีชุด มีหน้ากาก ถุงมือครบ กลุ่มนี้ต้องมีการฝึกพิเศษ"
ถ้าเขาไม่มีจริงๆ ต้องใช้หน้ากากผ้าในการปฏิบัติหน้าที่ ได้มั้ย?
นพ.อัจฉริยะ : "ต้องเรียนว่าในกลุ่มกู้ชีพ เขาต้องถูกอบรมมาว่าถ้าไม่เซฟไม่ให้เข้า นั่นหมายความว่าเป็นหลักวิชาการเลย ถ้ามีการยิงกันจะไม่เข้า อย่างโรคติดต่อถ้ามีความเสี่ยงจะไม่เข้า แล้วถามว่าใครจะเข้า ก็ต้องอาศัยทีมรพ. 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่พอ ผมมองว่าถ้าเติมอาวุธให้เขา มีรถ มีคน เสริมบางส่วนให้ทีมนี้ เขาจะช่วยระบบสาธารณสุขให้เข้มแข็งขึ้นมาได้"
คุณปรีชา เขาบอกว่าพวกนี้ประท้วง ไม่เอาแล้ว ไม่ไปทำแล้ว จริงมั้ย?
ปรีชา : "ถ้ามองในแง่เรา อุปกรณ์ไม่มีก็คงต้องหยุด ไม่ได้ประท้วง เราต้องป้องกันชีวิตเราก่อน ผมมีครอบครัว มีลูกมีเต้า ถ้าผมเป็นอะไรไป ใครจะรับผิดชอบผม ถ้าทางรัฐบาลเห็นความสำคัญของพวกเรา ก็วิงวอนมอบอุปกรณ์พวกนี้ให้เราไว้บ้างเถอะ เพราะเราจำเป็นต้องใช้อยู่"
ถ้าคนเขาป่วย แล้วอาสาฯ ไม่ออก ไม่สงสารเขาเหรอ?
ปรีชา : "ถ้าผู้ป่วยที่ตอบโต้ได้ บางทีเราสามารถป้องกัน เราไม่ทิ้งนะ คนไทยด้วยกัน"
ถ้ากล่าวหาว่าเขาประท้วงไม่สงสารคนไข้คงไม่เป็นธรรม?
นพ.อัจฉริยะ : "ผมว่าหัวใจคนไทยมีจิตอาสาอยู่แล้ว แล้วกลุ่มนี้เขาก็ทำงานด้วยจิตอาสาอยู่แล้ว เอาชีวิตเข้าเสี่ยงก็พอสมควร ซึ่งถ้ามีอะไรลดความเสี่ยงเขาได้ รัฐบาลก็ควรส่งเสริมเขาครับ"
อาสาสมัครเขาใช้หน้ากากผ้าไม่ได้ ให้อธิบายหน่อย?
นพ.อัจฉริยะ : "ในส่วนบุคลากรทีมแพทย์ พยาบาล หรือกู้ชีพ เขาไปสัมผัสใกล้มาก ต้องไปปั๊มหัวใจ ไปจับ อาจมีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยหรือมีเชื้อได้ง่าย จำเป็ฯต้องใช้ตัวหน้ากากเขียว แต่อีกกลุ่มนึง บุคลากรทางการแพทย์ต้องใช้หน้ากาก N95 ที่เราคุยกันคือหน้ากากเขียว"
เฟรชชิลให้อาสาสมัครใช้ได้มั้ย?
นพ.อัจฉริยะ : "แทนหน้ากากไม่ได้ เฟรชชิลจะป้องกันสารคัดหลั่งที่กระเด็นไม่ให้เข้าตา ผมว่ารัฐบาลเองก็มองหาจำนวนโควต้าเพิ่มอยู่ ตรงจุดนี้น่าจะช่วยบรรเทาเบาบางเพราะทุกคนขาดหมด"
หน้ากากเขียวไม่มีแล้วจะทำต่อไปมั้ย?
ปรีชา : "เราไม่ได้ทิ้งประชาชน แต่เราก็ต้องป้องกันตัวเองก่อน วันนี้ถ้าจะมีบริจาคก็ดี หรือรัฐบาล วิงวอนอย่าตัดโควต้าเราเลยเราเป็นด่านหน้านำตัวผู้ป่วยไปรพ. อยากให้ได้รับการสนับสนุนตรงนี้ด้วย"
ถ้าอาสาฯ หยุดทำงานจะเกิดอะไรขึ้น?
นพ.อัจฉริยะ : "ผมก็ต้องเรียนว่าต้องได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะจำนวนผู้ป่วยที่โทร 1669 และออกปฏิบัติการ เดือนนึงแสนห้า ถ้าไม่มีอุปกรณ์ และทรัพยากรให้ทีมออกไปช่วยเขาได้ ตามการคาดการณ์ อย่างน้อยๆ หน่วยนึง ชิ้นนึงใช้วันนึง เอาแบบหลวมๆ หน่วยนึงอาจใช้ 3-4 ชิ้น รวม 2 หมื่นกว่า"
8 พันหน่วย มีคนทั้งหมดกี่คน?
นพ.อัจฉริยะ : "มีคนอยู่ในระบบสัก 6 หมื่นคน ซึ่งรถฉุกเฉฺินที่มาลงทะเบียนมี 1.2 หมื่น แสดงว่าบางหน่วยมีสองคัน ในคันนึงมีคนปฏิบัติการ 3-4 คน หนึ่งชุดใช้ 3-4 แมสก์ต่อเคส แต่ผมใช้คำว่าต่อวัน (หัวเราะ) นี่แหละผมคิดว่าคงต้องหาทางออกครับ"
มีคนบอกว่าบริจาคเงินให้หมอไปซื้อได้มั้ย?
นพ.อัจฉริยะ : "ซื้อได้เช่นแว่น ถุงมือ ชุด PPE แต่หน้ากากอยู่ในโควต้าเพราะเป็นสินค้าควบคุม"
มีเงินก็ซื้อไม่ได้?
นพ.อัจฉริยะ : "ประมาณนั้นครับ"
เลยเรียกร้องว่าอย่าตัดโควต้า?
นพ.อัจฉริยะ : "ผมคิดว่าใช้เป็นการเสริมโควต้าดีกว่า อย่าเรียกว่าตัดโควต้าเลยครับ"
มีคนติดหรือยังสำหรับคนทำงานอาสา?
ปรีชา : "ตอนนี้เราเองก็มีผู้ที่อยู่ในภาวะกลุ่มเสี่ยง คนที่แจ้งมาว่ามีไข้สูง เราฟังคำสั่งจากศูนย์ปฏิบัติการเช็กเบื้องต้นมาแล้วว่าไม่น่าจะเสี่ยง เราเองก็นำตัวผู้ป่วยส่งรพ. แต่พอส่งรพ. กลายเป็นกลุ่มเสี่ยง มูลนิธิ 14 คนก็เลยถูกกักตัว นอนแยกตามโซนเรียบร้อย แต่ยังไม่ติดครับ"
โฟนอินสัมภาษณ์ "คุณดำรง พุฒตาล" เรื่องที่เล่ามาเกี่ยวกับอังกฤษ ฮือฮามาก?
ดำรง : "คือแหล่งข่าวผมมี 3 คน คนแรกเป็นญาติห่างๆ กับผู้ตาย เขาบอกตรงๆ ว่าเคยทำงานกับหนังสือคู่สร้างคู่สม เขาโทรมาเล่าน้ำเสียงสั่นเครือจะร้องไห้ เขาบอกว่าญาติอยู่ในอังกฤษนานแล้ว ทำงานอยู่ร้านอาหาร ป่วยเข้าใจว่าเป็นโควิด โทรศัพท์ไปรพ. แต่ทางรพ. ผมไม่รู้ว่าระบบอังกฤษเขาให้รักษาตัวที่บ้าน แต่เธอผู้นี้คงอาการหนักก็ไม่ได้ไป เพราะเขาไม่ให้ไป เขาไม่รับ ซึ่งต่างจากประเทศไทย ที่จับคนโน้นคนนี้ให้อยู่รพ. ในที่สุดเขาก็เสียชีวิต อันนี้คุยกับน้องชายเขาว่าวันรุ่งขึ้น ตร.มารับศพพี่ชายเขาไป ก็ถามว่าจะฌาปนกิจกันยังไง เขาบอกว่าให้อีก 2 อาทิตย์มารับศพ ตร.บอกว่าจะเอาไปชันสูตรว่าเป็นโควิดหรือโรคประจำตัว ก็แปลว่า ณ วันนี้วันที่ 7 ก็คงอีกหลายวันกว่าจะได้ เราเล่าไปในรายการก็เคารพผู้ตายไม่อยากเอ่ยชื่อ แต่มาบัดนี้ ญาติสนิทเขาอยากให้เอ่ยชื่อ เพราะเธอไปนานแล้วญาติจะได้ทราบ รายการอ.เสรีเป็นรายการที่ผมจะบอกชื่อเขาเพราะเป็นการขอร้องของญาติเขา ว่าผู้ตายชื่อทวีศรี ลิมปิศิริ ชื่อเล่นชื่ออ๊อฟ อยู่ลอนดอนเพื่อนเรียกคุณวี อายุ 62 ปี หนังสือพิมพ์ไทยก็ลงข่าวไปเมื่อวันสองวันนี่เอง นี่คือข้อมูลที่ปิดบังอยู่"
แสดงว่าประเทศไทยเรามีการดูแลคนที่สงสัยเป็นโควิดดีกว่าอังกฤษแน่นอน?
ดำรง : "ถ้าที่เล่ามาก็ง่ายๆ คนไทยเราลงจากเครื่องบินแล้วไม่ยอมไปกักตัว ทางราชการเราก็เก่ง ไปตามล้วงตามควักมาจนจบ เอามากักกันได้ ก็ตรงกันข้ามกับอังกฤษ มีนักศึกษาเล่าว่าติดต่อรพ.ไป รพ.บอกให้รักษาอยู่บ้านตลอด จนเธอกระเสือกกระสนกลับมากรุงเทพฯ ได้ แต่ผมกราบขออภัย ผมใช้ถ้อยคำรุนแรงไปหน่อยที่ว่าอังกฤษใจอำมหิต คนที่เขามีเชื้อเป็นญาติคนอังกฤษก็จะโกรธผม ผมก็กราบขออภัยจริงๆ"
ลองเล่าเปรียบเทียบบ้านเรากับบ้านเขา?
นพ.อัจฉริยะ : "ตอนนี้โควิดระบาดไปทั่วโลก การจัดการของแต่ละประเทศก็ขึ้นอยู่กับทรัพยากรที่เขามี ผมว่าเมืองไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้คำว่าดีมาก เพราะวันนี้เกณฑ์ดูแลรักษาคนไทย เมื่อไหร่มีความเสี่ยง มีเลือดเป็นบวก ทางรพ.ให้รักษาตัวที่รพ.ทั้งรัฐและเอกชน รัฐบาลมีมติครม. ให้เอกชนรับรักษาและรักษาฟรีด้วย"
ปรีชา : "ขอความกรุณาเถอะครับ โควต้าหน้ากากที่เรามี อย่าตัดของพวกเราเลย เพราะมันคือชีวิตของพวกเรา กราบวิงวอนเถอะครับ"
พอมีคนใส่ชุดอวกาศ ก็จะมีคนรังเกียจ?
นพ.อัจฉริยะ : "ไม่อยากให้ตระหนกตกใจ และอยากเรียนว่าทางพี่น้องมูลนิธิหรือท้องถิ่นเป็นบุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งถือว่าเป็นระบบสาธารณสุข เขาก็ควรได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือ เพราะเขาเป็นด่านแรกในการดูแลพี่น้องประชาชน เขาอาจใส่ชุดเหล่านี้ออกไป พี่น้องก็ไม่ต้องตกอกตกใจ"