xs
xsm
sm
md
lg

“3 กลุ่ม” เติมเชื้อโควิดให้ กทม.เสี่ยงที่สุด “หมอขอร้อง” เด็กกลับจากนอกอย่ามาอยู่คอนโด!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตา “กทม.” กลับมาเป็นพื้นที่เสี่ยงในการระบาดของโควิด-19 จากการเติมเชื้อของคน 3 กลุ่ม “หมอพรเทพ” ยันหากโควิดแพร่ทางอากาศ...หมอคงตายไปแล้ว! ข้อมูล WHO ชี้ไม่ใช่ Airborne แต่จะเป็น Airborne ได้บางสภาวะ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์เสี่ยงที่สุด แจงนักระบาดวิทยาจะทำการวิเคราะห์ จัดทำกลุ่มเสี่ยง-พื้นที่เสี่ยง ขณะที่คอนโดฯ แหล่งแพร่เชื้อเตรียมเสนอให้เจ้าของ-นิติบุคคล ตรวจวัดไข้คนเข้า-ออกทุกคน วอนเด็กติดโควิดที่กลับจากนอกแต่อยู่บ้านไม่ได้ อย่ามาอยู่คอนโดฯ เพราะจะกลายเป็นผู้แพร่เชื้อ ด้าน นพ.นิพนธ์ ลิ้มสมวงศ์ โรงพยาบาลกรุงเทพบอกจะเกิด Airborne ช่วงทำหัตถการ ส่องกล้อง ใส่ท่อ ปั๊มหัวใจ พ่นยา ทำให้ลมหายใจคนไข้พุ่งแรง โอกาสติดแพทย์ พยาบาล สูงมาก ส่วนประชาชนทั่วไปไม่มีโอกาสสัมผัส Airborne แค่ปฏิบัติตัวตามแพทย์แนะ!

เพจเฟซบุ๊ก “หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC” เป็นอีกหนึ่งเพจที่ได้รับความสนใจโดยเฉพาะข้อความที่โพสต์ลงในช่วงสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งข้อสังเกตว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อิตาลีมีความดุร้ายกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ที่ระบาดในจีนและเอเชีย ซึ่งสื่อมวลชนทั้งไทย จีนและฝรั่งให้ความสนใจมาก มีทั้งคนเห็นด้วยและเห็นต่างพร้อมให้ลำดับความเก่งกาจของเชื้อในประเทศจีนและแถบเอเชียเหมือนนักมวยสมัครเล่น เชื้อในประเทศอิตาลีเก่งมากเหมือนนักมวยแชมป์โลก

นอกจากนี้ยังบอกถึงจุดเปลี่ยนของสถานการณ์โควิดของประเทศไทยเกิดที่สนามมวยลุมพินี ก่อนวันที่ 6 มี.ค.ที่มีการแข่งขันมวยสนามมวยลุมพินี หลังจากที่มีเซียนมวยคนหนึ่งติดเชื้อโควิดจากคนในครอบครัวกลับจากอิตาลี เป็นSuper Spreader แพร่เชื้อสายพันธุ์อิตาลีให้ผู้ชมในสนามมวยในวันนั้น 60-70 คน และคนป่วยที่ติดเชื้อก็แพร่เชื้อต่อให้คนใกล้ชิด ให้คนต่างจังหวัดหลังจากเดินทางกลับภูมิลำเนา วันนี้คงแพร่เชื้อวงรอบที่ 4 เชื้อนี้ติดต่อกันง่ายมาก ทำให้คนป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังบอกอีกว่าในอนาคตอันใกล้คาดว่าตัวเลขทั้งคนป่วยและเสียชีวิตจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ว่าไปแล้วตรงนี้คือจุดสำคัญที่ตอกย้ำให้สังคมไทยได้รับรู้และตระหนักถึงความรุนแรงของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังระบาดในบ้านเราว่าเป็นสายพันธุ์อิตาลีที่ดุร้าย ซึ่งจะทำให้จำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนการระบาดที่ประเทศอิตาลี

ส่วนที่จะเป็นไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดียวกันหรือต่างกันระหว่างอิตาลีและที่ระบาดในจีน-เอเชียหรือไม่? ก็ต้องรอการศึกษาวิจัย แต่ที่แน่ๆ สังคมไทยได้ประโยชน์จากโพสต์นี้แน่นอน

“ทำให้รู้ถึงภัยอันตรายจากเชื้อโควิด ก็ต้องปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนะ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ ช่วยชาติ Social Distancing ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ กินร้อน ช้อนตัวเอง”

นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์

รูป: lumpinee boxing stadium
ขณะที่การโพสต์ของ “หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC” เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา มีข้อมูลสนับสนุนว่าผู้ป่วยโควิด-19 ระยะฟักตัวสามารถแพร่กระจายเชื้อไวรัสทางอากาศ Airborne Transmission ไม่ต่างจากวัณโรค

นั่นหมายถึงหากเราตะโกน พูดดังๆ เปล่งเสียงสูงออกมา จะมีสารคัดหลั่งจากลำคอลอยเป็นละอองฝอยอยู่ในอากาศได้หลายเมตร

เพจหมอมนูญ บอกว่าจากข้อมูล ขณะร้องเพลงร่วมกับคนอื่น สื่ออเมริกาลงข่าวกลุ่มนักร้องประสานเสียงในโบสถ์แห่งหนึ่งที่รัฐวอชิงตัน จำนวน 45 คน จาก 60 คน ติดเชี้อไวรัสโควิด-19 และเสียชีวิต 2 คนภายใน 3 สัปดาห์ ทั้งที่ทุกคนที่มาร้องเพลงเป็นเวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง ไม่มีใครไอ ไม่มีใครป่วย พวกเขาป้องกันตัวเองทุกอย่าง ล้างมือ ยืนรักษาระยะห่าง 1-2 เมตร ไม่แตะตัวหรือแต่ต้องสิ่งของอะไร  แต่เมื่อกลับบ้าน บางคนเริ่มไม่สบายจนตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19

หรือกรณีสนามมวยก็มีการวัดไข้ ล้างมือทุกคนก่อนเข้าชมมวย เซียนมวยคงอยู่ในระยะฟักตัวคนหนึ่ง ตะโกนส่งเสียงเชียร์มวยแล้วมีละอองฝอยออกมาล่องลอยไปติดคนอื่น 50-60 คน แสดงให้เห็นถึงความร้ายกาจของไวรัสตัวนี้

หากคนที่อยู่ในระยะฟักตัวตะโกนเชียร์ หรือร้องเพลงเปล่งเสียงสูงออกมามีละอองฝอย (Droplet Nuclei) ฟุ้งกระจายออกมา ละอองเล็กขนาดต่ำกว่า 5 ไมครอน ล่องลอยในอากาศ ทำให้คนที่อยู่ห่างออกไปไกลๆ เกิน 2 เมตร ก็ติดเชื้อได้

เชื้อโควิดติดต่อกันได้ง่าย!!

หมอมนูญ ยังได้เขียนทิ้งทายเป็นคำเตือนไว้ว่า ต่อไปนี้ถ้าต้องร้องเพลง ตะโกนเชียร์กีฬา และมีคนอยู่ด้วยกันหลายคน คนที่ร้องหรือตะโกนต้องใส่หน้ากากอนามัย เพราะอาจอยู่ในระยะฟักตัวโดยที่ตัวเองไม่รู้ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อทางอากาศให้กับผู้อื่นเป็นวงกว้าง

ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์
อย่างไรก็ดี เพื่อให้เกิดความตระหนักแต่ไม่ตื่นตระหนกกับเชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่ทางอากาศ Airborne นั้นจะทำให้คนไทยสามารถติดเชื้อได้ง่ายๆ จริงหรือไม่ และเราควรจะป้องกันตัวอย่างไร

ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ประธานคณะกรรมการสาธารณสุขและนายกสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย บอกว่า เชื้อไวรัสโควิดจะอยู่ในสารคัดหลั่ง ที่เราเรียกว่า Droplet คือละอองน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะที่ผู้ป่วยไอจามออกมา กระเด็นไปได้ไกลไม่เกินระยะ 1-2 เมตร แล้วจะตกลงที่พื้นหรือสิ่งของที่อยู่ใกล้ๆ ภายใน 2 นาที เราจึงแนะนำให้ประชาชนต้องใส่หน้ากากอนามัย และมีระยะห่างจากผู้อื่น Social Distancing ในกรณีที่ต้องออกจากบ้านหรือไปที่สาธารณะต่างๆ

หากจะบอกว่าโควิดแพร่กระจายทางอากาศ Airborne จะพบว่าผู้ที่มีความเสี่ยงที่สุดคือแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ทำงานสัมผัสกับผู้ป่วยโดยเฉพาะในห้องไอซียู มันจะลอยอยู่ในอากาศ เพราะเมื่อผู้ป่วยหายใจเชื้อก็จะยังล่องลอยอยู่ในห้องซึ่งเป็นระบบปิด

“องค์การอนามัยโลก : WHO ก็ได้บอกชัดว่าการแพร่เชื้อโควิด-19 จะเกิดจากการไอจาม เป็น Droplet แต่บางขั้นตอนในการทำงานของแพทย์จะเปลี่ยน Droplet เป็น Airborne ในขั้นตอนทำหัตถการที่ทำให้เกิดละอองลอย(Aerosol) ซึ่งสามารถฟุ้งในอากาศได้นาน”

แพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ทำงานในห้องไอซียูจึงมีความเสี่ยง จึงต้องใส่หน้ากาก N95 และต้องใส่ชุดหมี PPE ที่ปรากฏให้เห็น ส่วนแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ทั่วๆไป ที่อยู่ในห้องเปิดก็จะใส่หน้ากากอนามัยสีฟ้า Surgical Mask ได้


นอกจากนี้จุดที่จะบอกว่าเชื้อไวรัสโควิดอาจลอยได้ในอากาศในจุดที่เป็นห้องปิด เช่นในลิฟต์ หรือในห้องที่แออัดและอากาศไม่ถ่ายเท เราจึงแนะนำไม่ให้ไปอยู่ที่แออัด ยัดเยียด ซึ่งทุกคนสามารถหลีกเลี่ยงได้ทั้งในเชิงพื้นที่และสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งถ้าไม่ได้ดูแลหรืออยู่กับผู้ป่วยก็ใส่เพียงหน้ากากผ้า แต่ถ้าต้องใกล้ชิดผู้ป่วยก็สวมหน้ากากอนามัย

“เราจะเห็นว่าโรงพยาบาลต่างๆ ส่วนของคลินิกโรคทางเดินหายใจ เขาจะเปิดโล่ง เพราะถ้าแพร่ทางอากาศAirborne หมอก็ติดไปแล้ว เพราะต้องอยู่ในคลินิกที่ต้องตรวจโรคนี้ โรงพยาบาลบำราศนราดูร หมอก็ต้องไป ชั้นล่าง ก็เป็นคลินิกโรคทางเดินหายใจ หมอบอกว่าถ้าเป็น Airborne หมอพรเทพก็ตายไปนานแล้ว”

ดร.นพ.พรเทพ ในฐานะประธานคณะกรรมการสาธารณสุข สภา กทม.บอกว่า พื้นที่ กทม.ยังมีความน่ากังวลเพราะกลุ่มที่ติดเชื้อโควิด-19 มาจาก 3 กลุ่ม กลุ่มแรกที่เดินทางมาจากต่างประเทศ นักศึกษาที่กลับมาจากสหรัฐฯ ยุโรป วันละประมาณ 15-20 คน กลุ่มที่สอง เป็นคนต่างชาติที่เข้ามาก็ต้องให้กักตัว 14 วัน จะเป็นกลุ่มยุโรป ไม่มีคนจีนเพราะจีนห้ามออกนอกประเทศ ส่วนกลุ่มที่สาม คือมีการสัมผัสคนต่อคนที่อยู่บ้านเดียวกัน ตรงนี้เราไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้

“บอกตรงๆ ในฐานะนักระบาดวิทยา มีลูกศิษย์ รุ่นน้อง และเพื่อนๆ ที่เป็นนักระบาด พวกเรามีการประชุมหารือกันสรุปได้ว่าพื้นที่ กทม.เป็นพื้นที่น่าห่วงที่สุด ส่วนต่างจังหวัดไม่น่าห่วงเพราะระบบสาธารณสุขเขาเข้มแข็ง เขามีคนในชุมชน มี อสม.ช่วยกันสอดส่องทุกครัวเรือน พวกเกเรที่ไปจาก กทม.ไปนั่งกินเหล้า ยังถูกจับกัน ซึ่งถ้าไปดูตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจะพบว่ากำลังย้อนกลับเข้ามาใน กทม.”

โดยนักระบาดวิทยาจะมีการวิเคราะห์ จัดทำข้อมูล ว่ากลุ่มไหนมีความเสี่ยงบ้าง พื้นที่เสี่ยงอยู่ตรงไหนบ้าง ทั้งเรื่องที่มาของความเสี่ยง อาชีพที่เสี่ยง อาศัยอยู่เขตไหน ซึ่งนักระบาดกำลังเจาะกลุ่มมอเตอร์ไซค์ส่งของทั้งหลาย พวกนี้ก็มีความเสี่ยงสูงมาก

“การสั่งอาหารมากิน ควรสั่งมาจากร้านที่เรารู้จักและมั่นใจได้ว่าเขาทำถูกสุขลักษณะอนามัย ยิ่งไม่มียี่ห้อ ยิ่งต้องดูให้ดี กทม.จะตรวจเข้มเรื่องนี้มาก จะตรวจมาตรฐานว่าร้านที่ทำอาหารส่งได้มาตรฐานหรือเปล่า สภากทม.จะประชุมว่าจะมีมาตรการกันอย่างไร เพราะปกติร้านเหล่านี้ต้องมาจดทะเบียน เราจึงต้องเข้มร้านเหล่านี้ก่อน ทั้งผู้ประกอบการและคนส่งของก็ต้องมีการอบรมกัน”




นอกจากนี้สิ่งที่น่าห่วง คือผู้อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมทุกคนมีความเสี่ยงทั้งหมด ดังนั้นเมื่อออกจากห้องพัก ต้องใส่หน้ากากอนามัย ขณะเข้าลิฟต์ออกลิฟต์ต้องล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์

สำหรับใครที่พักอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำทั้งเรื่องการใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือด้วยเจล หรือล้างน้ำสบู่อยู่บ่อยๆ เมื่อกลับถึงบ้านก็ต้องรีบถอดเสื้อผ้า อาบน้ำ ซึ่งตรงนี้หมอขอย้ำสำคัญมาก!

อย่างไรก็ดี หาก กทม.มีจำนวนผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นและเป็นตัวเลขตามที่ระบาดวิทยารับไม่ได้ ก็จำเป็นจะต้องใช้มาตรการจำกัดการเดินทางมากขึ้น ทั้งปิดการเดินทางทั้งรถโดยสารสาธารณะ รถไฟ รถไฟฟ้าฯ

ดร.นพ.พรเทพ บอกอีกว่า เวลานี้ทุกคนต้องช่วยกัน กินร้อน ช้อนเรา ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจล หรือสบู่บ่อยๆ ยึดหลัก Social Distancing บ้านใครบ้านมัน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ไม่ควรออกจากบ้าน ช่วยกันสอดส่องดูแล ถ้าปฏิบัติได้เช่นนี้เชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ว่าจะแพร่กระจาย ไม่ว่าจะเป็นแบบ Droplet หรือAirborne ก็ทำให้เราห่างไกลโรคนี้ได้


ด้าน นพ.นิพนธ์ ลิ้มสมวงศ์ อายุรแพทย์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบหายใจ โรงพยาบาลกรุงเทพ บอกว่า ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็น Airborne แต่กรณีต้องส่องกล้อง ใส่เครื่องช่วยหายใจ ปั๊มหัวใจ คือการทำหัตถการต่างๆ ที่ทำให้ลมหายใจของคนไข้พุ่งออกมา  ซึ่งในเวลานั้นการกระจายอาจจะไกลมากกว่า 2 เมตร เพราะช่วงเวลานั้นจะแรงมากผิดปกติ

“การพ่นยาในผู้ป่วยที่มีภาวะปอดอักเสบ เป็นหอบหืด การพ่นยา มีหมอกควัน ตรงนั้นจะเป็นตัวพาให้เชื้อไปไกลกว่าที่คาด แต่ยังอยู่ในพื้นที่นั้น เวลาทำหัตถการในห้องปิดจึงมีความเสี่ยง”

นพ.นิพนธ์ บอกว่า การกระจายของเชื้อโควิด-19 ในอากาศ Airborne ผู้ที่มีความเสี่ยงที่สุดคือแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคนไข้อาการหนักที่เราต้องใส่ท่อ ปั๊มหัวใจ เอาหูไปแนบคลำชีพจร ก็ต้องใส่ชุดป้องกัน เพื่อเป็นการรักษาบุคลากรทางการแพทย์ไว้ด้วย


ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประชาชนในเวลานี้คือปฏิบัติตามคำแนะนำที่กระทรวงสาธารณสุข และสถาบันทางการแพทย์ ได้แนะนำไว้ ก็จะช่วยให้เราป้องกันตัวเองได้อย่างดี และขอให้เชื่อมั่นว่าแพทย์สามารถคุมได้ ซึ่งประชาชนทั่วไปคงไม่มีโอกาสไปเจอกับพวกปล่อยลมหายใจแรงๆหรือปล่อยเชื้อออกมาเยอะ และมาตรการต่างๆ ที่ออกมาแล้วยังไม่สามารถรับมือได้ก็ต้องมีมาตรการใหม่ๆ ต่อไป!



กำลังโหลดความคิดเห็น