ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- งัดสารพัดวิชาสู้! รพ.มทส. ร่วมศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ฯ มทส. ดัดแปลงตู้เก็บเสมหะผู้ป่วยเป็นตู้เก็บสิ่งส่งตรวจจากการป้ายจมูกและลำคอ คัดกรองผู้ป่วยต้องสงสัยติดไวรัสโควิด-19 เพื่อป้องกันแพร่เชื้อสู่บุคลากรทางการแพทย์จากการทำหัตถการและลดการแพร่กระจายเชื้อในอากาศ แถมช่วยลดใช้หน้ากาก N95 ของหายาก
วันนี้ ( 28 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ทำการติดตั้งและส่งมอบ ตู้เก็บสิ่งส่งตรวจจากการป้ายจมูกและลำคอเพื่อคัดกรองผู้ป่วยต้องสงสัยการติดไวรัส COVID-19 ที่ได้ดัดแปลงจากตู้เก็บเสมหะป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่สิ่งแวดล้อม (TB Safety Cabinet for Respiratory Disease Specimen Collection) โดยมี อาจารย์ นพ.พฤฒิชัย วิสุเทพ อาจารย์ประจำสาขาวิชาอายุรศาสตร์ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มทส. ประธานคณะกรรมการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล เป็นผู้รับมอบและทดสอบการใช้งาน ณ อาคารศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
อาจารย์ นพ.พฤฒิชัย เปิดเผยถึงแนวคิดในการดัดแปลงตู้เก็บสิ่งตรวจจากการป้ายจมูกและลำคอดัดแปลงจากตู้เก็บเสมหะป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่สิ่งแวดล้อม ว่า เริ่มจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ที่ต้องทำการคัดกรองผู้ป่วยตามเกณฑ์ความเสี่ยงและเกณฑ์ต้องสงสัยติดไวรัส COVID-19 โดยบุคลากรทางการแพทย์จะต้องทำการเก็บสิ่งส่งตรวจจากการป้ายจมูกและลำคอ (nasopharyngeal swab and throat swab) ซึ่ง เป็นหัตถการที่เสี่ยงต่อการสัมผัสสารคัดหลั่ง เพิ่มโอกาสแพร่เชื้อในอากาศ และเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อจากผู้ป่วยสู่บุคลากรทางการแพทย์
ประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบันอุปกรณ์การป้องกันที่เรียกว่าหน้ากาก N95 หาได้ยาก และขาดแคลน โจทย์ของเราคือจะทำอย่างไรให้ลดการแพร่กระจายและลดการใช้หน้ากาก N95 ได้ ทางโรงพยาบาลจึงได้ปรึกษาหลักการทำงานกับศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทส. ในการดัดแปลงตู้เก็บเสมหะซึ่งใช้กับผู้ป่วยที่สงสัยโรคที่แพร่กระจายทางอากาศ (airborne transmission) เช่นเดียวกัน
โดยอุปกรณ์ดังกล่าวมีคุณสมบัติในการดูดอากาศในตู้ผ่านตัวกรองเพื่อกำจัดเชื้อก่อนปล่อยอากาศสะอาดออกมา จึงมีคุณสมบัติป้องกันการแพร่กระจายเชื้อได้จากเดิมที่สามารถเก็บเสมหะได้เพียงอย่างเดียว ให้เหมาะกับการใช้งานเก็บสิ่งส่งตรวจจากการป้ายจมูกและลำคอ โดยใช้อะคริลิกเป็นบานประตูและปรับให้เป็นช่องเพื่อติดถุงมือในการทำหัตถการ โดยให้ผู้ป่วยนั่งด้านใน ข้อดีที่เกิดขึ้นคือระหว่างที่ผู้ป่วยเข้าไปทำหัตถการในตู้ ละอองฝอยที่เกิดจากการทำหัตถการจะไม่ฟุ้งกระจายสู่สภาพแวดล้อมด้านนอก อากาศที่อยู่ในตู้ก็จะถูกดูดทำให้สะอาดก่อนปล่อยออกมาสู่สภาพแวดล้อม หลังจากผู้ป่วยใช้งานแล้วก็สามารถทำความสะอาดภายในตู้ได้ ทำให้ลดการกระจายเชื้อสู่บริเวณโดยรอบ ลดโอกาสการกระจายเชื้อสู่บุคลากรทางการแพทย์และลดการใช้หน้ากาก N95 ได้
อาจารย์ นพ.พฤฒิชัย กล่าวต่อว่า ถึงแม้ว่าขณะนี้การระบาดของโรคยังอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง โดยอาจมีการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น แต่ก็อาจลดลงได้หากมีการร่วมมือกันของทุกฝ่าย ในส่วนของมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลมีความร่วมมือกันมาโดยตลอด อาทิ การจัดตั้งทีมเพื่อบูรณาการข้อมูล นำหลักการปฏิบัติแผนการดำเนินงานสู่หน้างานตลอดเวลาและปรับเปลี่ยนการทำงานให้สอดคล้องต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปแบบรายวัน รวมถึงความร่วมมือของนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ได้จากมหาวิทยาลัยเข้ามาเติมความจำเป็นและความต้องการของบุคลากรที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้เชื่อว่าในท้ายที่สุดแม้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงเราเชื่อว่าจะสามารถตามทันและดูแลให้เป็นไปในทางที่เหมาะสมได้
ทางด้าน นายคมสัน ภาษยเดช วิศวกรประจำศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทส. เปิดเผยว่า โจทย์ที่ได้รับในการดัดแปลงตู้สำหรับการตรวจเชื้อในครั้งนี้ คือต้องการแยกผู้ต้องสงสัยการติดไวรัส COVID-19 กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำหัตถการเก็บสิ่งส่งตรวจจากการป้ายจมูกและลำคอ เนื่องจากเป็นกรณีเร่งด่วนในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้ จึงทำการดัดแปลงจากตู้เก็บเสมหะป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่สิ่งแวดล้อมมาดัดแปลงและติดตั้งในระยะแรก จำนวน 3 ตู้ ในระยะต่อไป ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ฯ จะมีการออกแบบและจัดสร้างตู้สำหรับการตรวจผู้ต้องสงสัยการติดไวรัส COVID-19 เพิ่มเติม
ทั้งนี้ บุคลากรของศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ฯ มีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่มาปรับใช้ในการต่อสู้กับไวรัส COVID-19 เพื่อฝ่าวิกฤติดังกล่าวไปด้วยกัน