ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - โคราชเตรียมแผนรับมือโควิด-19 ระบาดหนัก ให้ รพ.มหาราชนครราชสีมา รับผู้ป่วยหนัก จัดเครื่องช่วยหายใจไว้ 100 ท่อ ใช้ รพ.ขนาดใหญ่ 5 แห่งเป็นเครือข่ายกระจายผู้ป่วย และอีก 2 รพ.ไว้รองรับผู้ป่วยหนักล้น พร้อมสั่งปิด “สวนน้ำบุ่งตาหลั่ว” ที่ออกกำลังยอดฮิต 1 เดือน
วันนี้ (31 มี.ค.) ที่หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ หลังศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา อ.เมืองฯ จ.นครราชสีมา คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา นำโดยนายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา แถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ของ จ.นครราชสีมา ว่าจังหวัดนครราชสีมามีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ตรวจหาเชื้อจำนวน จำนวน 426 ราย แบ่งเป็นพบผู้ป่วยยืนยันโรค COVID-19 จำนวน 15 ราย (ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่) ไม่พบเชื้อ จำนวน 405 ราย รอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการจำนวน 6 ราย โดยเป็นผลจากการดำเนินงานคัดกรองประชาชนจำนวน 35,559 ราย (ยอดสะสม ณ วันที่ 3 ม.ค - 31 มี.ค. 2563 เวลา 12.30 น.)
ส่วนกรณีการเฝ้าระวังผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ (PN) มีจำนวน 263 ราย ไม่ป่วย 263 ราย กักตัวครบ 14 วัน จำนวน 193 ราย ปัจจุบันติดตามต่อเนื่องจำนวน 70 ราย จากข้อมูลโปรแกรม COVID 19 KORAT พบว่า มีผู้ที่เดินทางเข้าจังหวัดนครราชสีมา รายงาน จาก 32 อำเภอ รวม 10,609 ราย เฝ้าระวังครบ 14 วันจำนวน 494 ราย ปัจจุบันติดตามต่อเนื่องจำนวน 10,115 ราย (ทั้งนี้ การคัดกรองไข้ที่ด่านตรวจ 37.3 องศาเซลเซียสเป็นเกณฑ์)
ทั้งนี้ จังหวัดนครราชสีมาได้ประกาศยกระดับมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 รวมทั้งเน้นมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” และล้างมือทั้งวัน กินร้อน ช้อนฉัน ห่างกัน 2 เมตร และ สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกคน เราจะฝ่าวิกฤตโควิด -19 ไปด้วยกัน
กรณีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นผู้สูงอายุอายุ 66 ปี รายที่ 14 ซึ่งเป็นมารดาของผู้ติดเชื้อรายที่ 7 ที่พบนั้น นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา แสดงความห่วงใยห่วงผู้สูงอายุเสี่ยงติดเชื้อโควิค-19 โดยขอแนะนำลูกหลานที่เดินทางกลับภูมิลำเนา ควรกักตัว แยกอยู่ แยกกิน สำหรับผู้สูงวัยหากเลี่ยงได้ให้อยู่บ้าน หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือ ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น (เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว) เนื่องจากเชื้อก่อโรคทางระบบทางเดินหายใจ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ และรับประทานอาหารปรุงสุกร้อน
ด้าน นพ.สายลักษณ์ พิมพ์เกาะ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เปิดเผยถึงแผนรองรับการระบาดของโรคโควิด-19 ของ จ.นครราชสีมาในช่วงที่คาดว่าจะมีการระบาดสูงในอีก 2-3 สัปดาห์ ตามคาดการณ์ของแพทย์ว่า คณะกรรมการฯ ได้เตรียมแผนรองรับไว้แล้ว หากเข้าสู่ช่วงการระบาดหนัก โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาจะรองรับผู้ป่วยหนักโควิด-19 โดยได้เตรียมเครื่องช่วยหายใจไว้ 100 ท่อ หรือ 100 ราย ส่วนผู้ป่วยรายที่อาการไม่หนักมากจะให้กระจายอยู่ตามโรงพยาบาลใหญ่ 5 แห่งในพื้นที่ต่างอำเภอ เช่น โรงพยาบาลปากช่อง, โรงพยาบาลพิมาย, โรงพยาบาลบัวใหญ่, โรงพยาบาลด่านขุนทด และโรงพยาบาลโชคชัย ซึ่งหากมีผู้ป่วยหนักจนล้นโรงพยาบาลมหาราชฯ จะกระจายไปยังโรงพยาบาลเทพรัตน์ และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (รพ.มทส.) มั่นใจว่าจะรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ในโคราชได้อย่างแน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ได้มีมติให้ปิดสวนสุขภาพ สวนน้ำบุ่งหลั่วเฉลิมพระเกียรติ ร.9 อ.เมือง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นสวนสาธารณะกลางใจเมืองโคราชที่ประชาชนมาใช้เป็นสถานที่ออกกำลังกายแห่งใหญ่ของจังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ 1-30 เม.ย. 2563 เพื่อป้องกันการระบาดโควิด-19 อย่างจริงจัง