xs
xsm
sm
md
lg

“อาสากู้ภัย” ใกล้ขาดแคลน “หน้ากากอนามัย” เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 จี้รัฐแก้ปัญหา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อาสากู้ชีพกู้ภัย” ใกล้จะขาดแคลน “หน้ากากอนามัย” ระหว่างเข้าช่วยผู้บาดเจ็บ หวั่นทำงานยาก เสี่ยงติดเชื้อ โควิด-19 ขอรัฐเร่งแก้ปัญหา

... รายงานพิเศษ

“สพฉ. พยายามประสานไปที่กระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอซื้อหน้ากากอนามัย ได้คำตอบว่า ให้ไปใช้โควตาของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อไปถามที่กระทรวงสาธารณสุข บอกว่าจัดสรรไปให้แล้ว แต่ส่งไปที่โรงพยาบาลเท่านั้น ไม่มองลงมาที่กลุ่มมูลนิธิ กลุ่มอาสากู้ชีพกู้ภัยเลย”

นี่เป็นข้อเท็จจริงที่ถูกสะท้อนออกมาจากบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่งานการแพทย์ฉุกเฉิน พวกเขาต้องเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ เคลื่อนย้ายร่างคนเจ็บ รับส่งผู้ป่วยวิกฤต รวมถึงเก็บร่างของผู้เสียชีวิต

ซึ่งหมายความว่า พวกเขาต้องสัมผัสร่างกาย เลือด ของผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากข้อมูลของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) พบว่า กลุ่มอาสากู้ชีพกู้ภัย (First Responder) เป็นกลุ่มคนที่เข้าปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงมากที่สุด เป็นกลุ่มที่เข้าถึงที่เกิดเหตุต่างๆ ก่อนทีมอื่น (ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า First Responder) เฉลี่ยเดือนละ 80,000-90,000 เคส

แต่มาถึงวันที่มีการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย จนทำให้หน้ากากอนามัยขาดตลาด

กลุ่มอาสากู้ชีพกู้ภัย จึงเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในขณะนี้ หากต้องออกปฏิบัติหน้าที่ช่วยชีวิตผู้คน

เมื่อวันที่ 9 มี.ค. นพ.สัญชัย ชาสมบัติ รองเลขาธิการ สพฉ. และทีมเจ้าหน้าที่ สพฉ. หารือทางกลุ่มไลน์ร่วมกับผู้แทนอาสากู้ชีพกู้ภัยประมาณ 60 คน เพื่อแจ้งให้ทราบถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน

และหารือถึงความพร้อมในการร่วมปฏิบัติงานหากเข้าสู่ช่วงการระบาดของโรคในระยะที่ 3 ซึ่งประเมินกันแล้วว่าจะมาถึงในอีกไม่นาน

หากเข้าสู่ระยะที่ 3 เป็นระยะที่เชื้อเริ่มแพร่ระบาดไปสู่คนทั่วไป โดยไม่จำเป็นต้องมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงหรือไม่จำเป็นต้องมีประวัติใกล้ชิดกับผู้ที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง จะพบปัญหาการประเมินว่า “บุคคลใดติดเชื้อหรือไม่” เป็นเรื่องยากขึ้นมาก

ดังนั้นหากอาสาไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตัวที่เพียงพอ ก็อาจทำให้กลุ่มอาสากู้ชีพกู้ภัยไม่สามารถออกปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนในงานการแพทย์ฉุกเฉินได้

แหล่งข่าวใน สพฉ. ระบุว่า ปัจจุบันที่ยังอยู่ในระยะที่ 2 จะพบเคสผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังสามารถระบุที่มาที่ไปได้ชัดเจน เช่น เป็นคนที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง หรือมีประวัติใกล้ชิดกับคนที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง และเริ่มมีอาการป่วยเล็กน้อยจนร้องขอรถพยาบาล

กรณีเช่นนี้ ปัจจุบันจะโอนให้เป็นหน้าที่ของทีมตระหนักรู้สถานการณ์ (Situation Awareness Team) หรือทีม SAT เรียกง่ายๆ ว่าเป็นชุดปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรค ซึ่งมีอุปกรณ์พร้อม มีหน้ากาก มีชุดป้องกัน (PPE) รวมทั้งจะใช้พลาสติกคลุมอุปกรณ์ภายในรถพยาบาลตามมาตรฐานก่อนจะไปรับผู้ป่วย

เพราะเป็นกรณีที่ไม่เร่งรีบ เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่เพิ่งเริ่มแสดงอาการ และยังไม่ค่อยพบกลุ่มผู้ป่วยเสี่ยงติดเชื่อโควิด-19 ที่เป็นผู้ป่วยสีแดง หรือต้องช่วยชีวิตอย่างเร่งด่วน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ต้องโอนมาเป็นภารกิจของหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน 1669 นั่นเอง

คำถามจากตัวแทนของกลุ่มอาสากู้ชีพกู้ภัยที่พบจากการประชุมเมื่อวันที่ 9 มี.ค. ต่อความเสี่ยงที่พวกเขาต้องเผชิญ จึงเป็นคำถามที่น่าสนใจ

ก่อนจะไปดูว่ามีคำถามอะไรบ้าง มาทำความเข้าใจกันก่อนว่า “อาสา” ที่ทำงานตามมูลนิธิต่างๆ ทำงานในลักษณะ “งานอาสา” จริงๆ

หมายความว่า พวกเขาจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยตัวเอง ใช้เงินส่วนตัว แม้แต่ค่าน้ำมันรถที่วิ่งรับส่งผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บก็ยังต้องจ่ายเอง

ดังนั้น ตลอดเวลาที่ผ่านมา “หน้ากากอนามัย” ก็เป็นอุปกรณ์ที่พวกเขาต้อง “ซื้อเอง” เช่นกัน แต่มันไม่แพง และไม่ได้หาซื้อยากเหมือนที่เป็นอยู่ในขณะนี้

อาสา จึงต่างจากบุคลากรอื่นๆ ที่ทำงานในโรงพยาบาล เพราะอาสาวิ่งเข้าหาคนป่วย แต่โรงพยาบาล รอคนป่วยมาหา

อาสา ใช้ทรัพย์สินส่วนตัวจัดหาหน้ากาก แต่บุคลากรในโรงพยาบาล แม้จะขาดแคลนหน้ากากเช่นกัน แต่ของที่ซื้อมา ก็ยังใช้เงินขององค์กร

ดังนั้นเมื่อหน้ากากอนามัยขาดตลาดและราคาแพง ... อาสากู้ชีพกู้ภัย อาจปฏิบัติงานได้ยาก ถ้าต้องซื้อหน้ากากเองชิ้นละ 14-15 บาท และต้องเปลี่ยนทุกครั้งเมื่อจบเคส

เมื่อเข้าใจประเด็นแวดล้อมแล้ว ก็กลับมาที่คำถาม

คำถามแรก อาสา เป็นทีมด่านแรก ที่ต้องเผชิญกับผู้ป่วย แต่อาสาไม่ได้รับข้อมูลว่าผู้ป่วย “มีความเสี่ยง” แค่ไหน จะป้องกันตัวเองอย่างไร

คำตอบคือ ถ้าเป็นกรณีของกลุ่มผู้ต้องสงสัยหรืออยู่ในกลุ่มเฝ้าระวัง โควิด-19 ก็จะใช้ทีม “ตระหนักรู้” ของกรมควบคุมโรคเป็นหลัก แต่หากมีการประกาศเข้าสู่ระยะที่ 3 ต้องรอฟังประกาศแนวทางจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

เบื้องต้น มีอาสาบางส่วนถึงขนาดมองว่า ถ้าไม่มีหน้ากากอยนามัยจริงๆ พวกเขาก็คงไม่สามารถส่งเจ้าหน้าที่ออกไปช่วยเหลือประชาชนได้ เพราะไม่ปลอดภัยเพียงพอ

และในช่วงนี้ ก็มีบางมูลนิธิดำเนินการในแนวทางการหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวไปแล้ว ในกรณีไม่มีหน้ากากอนามัย บางมูลนิธิก็งดเว้นการวิ่งรับส่งผู้ป่วยไปแล้ว ยังทำอยู่เฉพาะงานช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ


ต่อเนื่องมาจากเหตุการณ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อาสากู้ชีพเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุรถชนที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และมาพบว่าเป็นนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศเกาหลี แต่อาสากลุ่มนี้ ไม่มีหน้ากากอนามัย จนต้องถูกกักตัว 14 วันไปด้วย

จึงมีคำถามว่า หากเข้าสู่ระยะที่ 3 จริง อาจจะทำให้อาสาที่เข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บต้องถูกกักตัวอีก และจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ เพราะอาสาจะขาดคนไปทันทีถ้ามีหลายๆเหตุการณ์

ในการประชุมยังมีคำถามที่สำคัญ คือ หากต้องเคลื่อนย้ายร่างผู้เสียชีวิต ถ้าคนเหล่านั้นเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะยังมีเชื้ออยู่ในศพนานแค่ไหน

ข้อนี้รองเลขาธิการ สพฉ.ให้ข้อมูลว่า เชื้อนี้จะไม่ติดต่อทางอากาศ แต่ก็มีความเสี่ยงเพราะจะยังอยู่ในสารคัดหลั่งของผู้เสียชีวิตได้อีก 4-5 วัน ในที่อากาศแห้งและมีแสง และจะอยู่ได้นานขึ้นในที่เย็นและอากาศชื้น รวมทั้งเชื่อว่า เชื้อยังจะติดอยู่ตามเสื้อผ้าและสภาพร่างกายของศพและอยู่ในสิ่งแวดล้อมระยะประมาณ 4-5 เมตรจากร่างศพ

ซึ่งข้อนี้แสดงให้เห็นว่า หากเข้าสู่ระยะที่ 3 การทำงานของอาสากู้ชีพกู้ภัยจะมีความเสี่ยงขึ้นอย่างมากถ้าไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตัวที่ดีพอ

เมื่อพยายามสอบถามจากแหล่งข่าวในกลุ่มการแพทย์ฉุกเฉินว่า จะแก้ปัญหาอาสากู้ชีพกู้ภัยขาดแคลนหน้ากากอนามัยได้อย่างไร

คำตอบที่ได้คือ ที่ผ่านมาทั้ง สพฉ. และมูลนิธิต่างๆ ไม่ได้รับโควตาการจัดสรรหน้ากากอนามัยจากกระทรวงสาธารณสุข แม้จะอยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข เพราะต้องจัดสรรไปที่โรงพยาบาลก่อน

และยังไม่สามารถจัดซื้อเองได้ด้วย เพราะหน้ากากอนามัยทั้งหมด ถูกบริหารจัดการโดย “กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์”

จึงต้องเรียกร้องให้หน่วยงานที่บริหารจัดการหน้ากากอนามัย เห็นปัญหานี้และจัดสรรหน้ากากมาให้กลุ่มงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วย

“อาสากู้ชีพกู้ภัยเป็นด่านแรก เป็นทัพหน้าที่ต้องเข้าไปเผชิญกับผู้บาดเจ็บ ในระยะที่ 2 ยังพอแยกแยะผู้ติดเชื้อได้ แต่ถ้าเข้าระยะที่ 3 ซึ่งแยกแยะได้ยาก แต่พวกเราไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตัว พวกเราก็คงจะทำงานช่วยชีวิตคนไม่ได้”

นี่เป็นเสียงสะท้อนจากอาสาคนหนึ่ง.
กำลังโหลดความคิดเห็น