เจาะลึกตำแหน่ง “กต.ตร.โรงพัก” ที่ “ศรสุวีร์ ภู่รวีรัศวัชรี” ผู้ต้องสงสัยกักตุนหน้ากากอนามัย ที่ถูกแฉในโลกโซเชียลนำมาใช้แอบอ้าง กังขาแสวงหาตำแหน่งเพื่อปกป้องธุรกิจสีเทาหรือไม่?
... รายงานพิเศษ โดยทีมข่าวโซเชียลมีเดีย MGR Online ...
ฮือฮาไปทั้งโลกออนไลน์ กรณีเพจสายดาร์กแฉพฤติกรรมของ “ศรสุวีร์ ภู่รวีรัศวัชรี” มีพฤติกรรมกักตุนหน้ากากอนามัยนับล้านชิ้น ขายในราคาชิ้นละ 14 บาท สั่งซื้อขั้นต่ำ 1 ล้านชิ้น และยังส่งออกไปประเทศจีน ทั้งที่ขณะนั้นห้ามส่งออกและควบคุมราคา ท่ามกลางสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด หน้ากากอนามัยขาดตลาด แม้กระทั่งแพทย์และพยาบาลไม่มีหน้ากากอนามัยใช้
นอกจากจะแอบอ้างชื่อ “พิตตินันท์ รักเอียด” คณะทำงาน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์แล้ว ชื่อของ “ศรสุวีร์ ภู่รวีรัศวัชรี” หรือ “บอย ไนท์มาร์เก็ต” นอกจากจะเป็นเจ้าของธุรกิจตลาดนัดในชื่อ “บริษัท ภาอภิภา จำกัด” แล้ว เจ้าตัวระบุว่า เป็น กต.ตร. สถานีตำรวจภูธรหนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี อีกด้วย
ภายหลังตำรวจกองปราบปรามบุกบ้านของ “ศรสุวีร์ ภู่รวีรัศวัชรี” ในหมู่บ้านภัททรา วิลเลจ แต่ก็คว้าน้ำเหลว เนื่องจากเจ้าตัวหลบหนีไปแล้วตั้งแต่เมื่อคืน ขณะที่ กต.ตร.สภ.หนองปรือ เรียกประชุมในวันพรุ่งนี้ เวลา 10.00 น. เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยที่ยังไม่มีคำชี้แจงถึงการใช้ตำแหน่ง กต.ตร. แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบแต่อย่างใด
อาจมีคนสงสัยว่า ตำแหน่ง กต.ตร. สำคัญอย่างไร ทำไมถึงกลายเป็นเครื่องมือที่ “ศรสุวีร์ ภู่รวีรัศวัชรี” นำไปใช้แอบอ้างในการทำธุรกิจสีเทา หากินบนความเดือดร้อนของประชาชนได้?
กต.ตร. ย่อมาจาก “คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ” เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 2540 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ตรวจสอบติดตามการบริหารงานของตำรวจในทุกระดับ ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงกิจการตำรวจให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ปี 2547 กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) จัดให้มี กต.ตร. แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ กต.ตร.กรุงเทพมหานคร, กต.ตร.ระดับจังหวัด และ กต.ตร.ระดับสถานีตำรวจ
กล่าวถึง กต.ตร. ระดับสถานีตำรวจภูธร (โรงพัก) มีกรรมการ 3 ส่วน ส่วนแรกคือ นายกเทศมนตรี, นายก อบต. หรือกำนัน เรียกภาษาชาวบ้านว่า “นักการเมืองท้องถิ่น” 1 คน, ประชาชนในชุมชนหรือหมู่บ้านที่ตำรวจเลือกมา 3-6 คน และประชาชนในชุมชนหรือหมู่บ้านที่ กต.ตร. เลือกมา ไม่เกิน 3 คน รวมกันแล้ว กต.ตร.จะมีประมาณ 5-10 คน
หน้าที่ของ กต.ตร. ระดับโรงพัก แบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ 1. ตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงานของตำรวจในพื้นที่โรงพัก 2. ส่งเสริมให้ท้องถิ่นและชุมชนมีส่วนร่วมในกิจการตำรวจ และเสริมสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีระหว่าง กต.ตร. กับตำรวจ และ 3. สนับสนุนการทำงานของโรงพักให้บรรลุผล
เราจะได้เห็น กต.ตร. ระดับโรงพักออกมาให้ข้อมูลข่าวสาร ปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อหาทางแก้ไข ส่งเสริมพัฒนาประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของตำรวจ และสนับสุนการประชาสัมพันธ์
กรณีของ “ศรสุวีร์ ภู่รวีรัศวัชรี” ที่อ้างตัวว่าเป็น กต.ตร.สภ.หนองปรือ จ.ชลบุรี สะท้อนให้เห็นว่า ยังมีคนที่ใช้ตำแหน่ง กต.ตร. เพื่อแสวงหาคอนเนกชันทั้งทางราชการ ทางการเมือง เช่น หาเสียงเลือกตั้ง ตลอดจนทางธุรกิจ
ที่เลวร้ายก็คือ บางคนอาจแสวงหาตำแหน่ง กต.ตร. ไว้เป็นเครื่องอำนวยความสะดวก เป็นเกราะปกป้องธุรกิจสีเทา ผิดกฎหมายหรือไม่?