ศบค.แถลงผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ลดลง แต่การ์ดห้ามตก พลาดเมื่อไหร่ Super spreader พุ่ง เสียชีวิตเพิ่มเป็นชายอายุ 54 มีประวัติเที่ยวผับหลายที่โดยเฉพาะทองหล่อ พบปอดอักเสบรุนแรง สะท้อนคนทุกวัยก็เสี่ยงไม่แพ้ผู้สูงอายุ เอือมประกาศเคอร์ฟิว 4 วัน มีคนออกจากบ้านเพิ่มถึงหลักพัน สะท้อนไม่ให้ความร่วมมือ ถ้าไม่ดีมาตรการอาจเข้มขึ้น
วันนี้ (7 เม.ย.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน ระบุว่า มีผู้ป่วยสะสม 2,258 ราย ใน 66 จังหวัด หายป่วย 824 ราย ผู้ป่วยรายใหม่ 38 ราย ตัวเลขมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ หลังประกาศเคอร์ฟิวผ่านไป 5 วัน ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย สะสมรวม 27 ราย โดยผู้เสียชีวิตรายล่าสุด เป็นเพศชาย อายุ 54 ปี ไปสถานบันเทิงหลายที่ โดยเฉพาะย่านทองหล่อ เข้ารักษาตัวเมื่อวันที่ 13 มี.ค. ที่ผ่านมา พบว่า มีอาการปอดอักเสบอย่างรุนแรง ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ทำให้ตอนนี้ไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยง ทุกคนมีความเสี่ยงทั้งสิ้น ขอให้ดูแลตัวเองอย่างดี
ส่วนผู้ป่วยรายใหม่ พบว่า สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 17 ราย ส่วนใหญ่เป็นกรุงเทพฯ 11 ราย มีทั้งติดจากในบ้าน ที่ทำงาน และกลุ่มเพื่อน ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ที่กำลังสอบสวนโรคยังไม่ได้ส่งมาที่ ศบค. แต่ระบบรับทราบอยู่แล้ว จังหวัดที่มีผู้ป่วยยืนยันสะสมมากที่สุด คือ กรุงเทพฯ ภูเก็ต นนทบุรี สมุทรปราการ และราชบุรี ส่วนจังหวัดที่ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยมี 11 จังหวัด ทำผลงานได้ดี เมื่อเปรียบเทียบผู้ป่วยระหว่างกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แม้จะลดลงแต่ก็ยังเป็นตัวเลข 2 หลัก ขอให้ช่วยกันโดยเฉพาะให้ความร่วมมือในช่วงประกาศเคอร์ฟิว ผู้บริหารคงไม่ต้องใช้มาตรการอื่นที่เข้มงวดกว่านี้
ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลก มีผู้ป่วยสะสม 1,343,275 ราย รักษาหายแล้ว 278,210 ราย เสียชีวิต 74,612 ราย สหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยมากที่สุด รองลงมา สเปน อิตาลี เยอรมนี และ ฝรั่งเศส ที่มีผู้ป่วยใหม่มากกว่า 5,000 รายขึ้นไป ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 39 เมื่อพิจารณาผู้ป่วยรายใหม่ พบว่า สหรัฐอเมริกาลดลง แต่ยุโรปมีแนวโน้มค่อยๆ ลดลงเล็กน้อย ส่วนเอเชียผู้ป่วยรายใหม่คงที่ แต่กังวลใจประเทศอินเดียที่ตัวเลขพุ่งทะยานอยู่
ปัจจัยเสี่ยงพบว่ามีกลุ่มสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้ สัปดาห์ที่แล้วลดลงจาก 317 ราย สัปดาห์นี้ 83 ราย แนะนำให้รักษาระยะห่าง 2 เมตร แม้อยู่ในบ้านเดียวกัน และสวมหน้ากากอนามัย ส่วนผู้ป่วยจากสนามมวยลดลง คนไทยกลับจากต่างประเทศ มี 17 ราย ยังมีความเสี่ยง ถ้าช่วยกันตัวเลขก็จะลดลง เมื่อจำแนกตามปัจจัยเสี่ยงเฉพาะ 2 สัปดาห์ พบว่า คนไทยที่กลับจากต่างประเทศเพิ่มเป็นอันดับ 2 จึงเป็นที่มาของการงดเที่ยวบิน ซึ่งเป็นการบริหารจัดการตามสถานการณ์ ชาวไทยที่กลับจากต่างประเทศ ทั้งจากยุโรปและกลุ่มประเทศอาเซียนต้องระมัดระวัง รวมทั้งช่วยกันดูแลการเข้าประเทศผ่านชายแดน โดยเฉพาะจากประเทศมาเลเซีย
การประกาศเคอร์ฟิว ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือดี แต่วันนี้มีคนออกเคหสถานเพิ่ม 1,217 ราย จาก 919 ราย สี่วันที่ผ่านมามีแนวโน้มสูง สะท้อนว่า ไม่ให้ความร่วมมือ และมีการชุมนุมมั่วสุมเท่าเดิม ถ้าให้ความร่วมมือคงไม่มีมาตรการเข้มกว่านี้ แต่ถ้าไม่ดีขึ้นก็จะหามาตรการที่เข้มข้นขึ้น และพบว่าดำเนินคดีเพิ่มขึ้น เตือนว่าการออกไปข้างนอกเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้น มาตรการเคอร์ฟิวยังคงต้องมี
ส่วนการดูแลคนไทยที่เข้ามาสืบเนื่องจากกรณีผู้โดยสาร 158 ราย เป็นที่มาว่าให้สนามบินไม่รับเครื่องบินโดยสารเข้ามา โดยประกาศต่อเนื่องตั้งแต่ 7-18 เม.ย. ก็มีผลกระทบ ทาง ศบค. ประชุมเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาคนไทยติดค้างในสนามบินต่างๆ ที่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา กาตาร์ โดยกระทรวงการต่างประเทศจะดูแลตรงนี้ โดยช่วงนี้จะมีเที่ยวบินจากฝรั่งเศสมารับคนในชาติตัวเองที่สนามบินภูเก็ต มีคนไทย 14 คนเข้ามาด้วย มีเที่ยวบินคนไทยที่ตกค้างจากสหรัฐอเมริกา มาลงที่สุวรรณภูมิ และพรุ่งนี้มีเที่ยวบินคนไทยตกค้าง 22 คน มาลงที่สุวรรณภูมิ รัฐบาลยืนยันว่าจะดูแล และกระทรวงการต่างประเทศจะทำงานตรงนี้ เหตุที่ยืดไปถึงวันที่ 18 เม.ย. เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าการเดินทางเข้า-ออกลดลง เหลือหลักร้อยราย เมื่อวานนี้เหลือ 347 ราย ส่วนต่างชาติทยอยกลับประเทศตั้งแต่เดือน มี.ค. ที่ผ่านมา เมื่อวานนี้เหลือประมาณ 1,965 ราย และพบว่าชาวต่างชาติเข้ามาในไทยน้อยมาก มีเฉพาะใบอนุญาตทำงานในไทย ต้องขอความร่วมมือเพราะรัฐจะต้องจัดหาพื้นที่ให้อยู่เป็นกลุ่มก้อน
ในช่วงการตอบคำถาม กรณีตัวเลขที่ลดลงเนื่องจากประสิทธิภาพในการตรวจลดลงหรือไม่ ชี้แจงว่า การประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (EOC) ที่กระทรวงสาธารณสุขเมื่อเช้านี้ มีการวิเคราะห์กันหลายฝ่าย ที่ผ่านมา มีการตรวจโควิด-19 สะสมที่ 71,860 ราย ซึ่งความสามารถในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ขณะนี้ กรุงเทพฯ ได้วันละ 1 หมื่นราย ต่างจังหวัดวันละ 1 หมื่นราย แต่ปัญหาไม่ใช่เรื่องน้ำยาอย่างเดียว แต่ต้องใช้เจ้าหน้าที่และชุด PPE ซึ่งติดข้อจำกัดหลายอย่าง ที่ประชุมมีมติว่า ต้องพยายามจัดหาตรงนี้มากขึ้น อีกด้านหนึ่งจะต้องมีการเตรียมเตียงรองรับผู้ป่วยจากเบาไปหาหนัก เตรียมเครื่องช่วยหายใจ
ส่วนตัวเลขที่ดีขึ้นมาจาก 1. การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและเคอร์ฟิว ทำให้การพบปะลดน้อยลง 2. การควบคุมในประเทศ ผู้ว่าราชการจังหวัดช่วยกัน รวมทั้งประชาชนให้ความร่วมมือ ใส่หน้ากาก ห่างกัน 2 เมตร ช่วยกันทำกิจกรรมให้น้อยลง 3. สถานที่รองรับกลุ่มเสี่ยงชัดเจน ถ้ามีไข้จะพาไปรักษาหายดี แต่มาตรการยังคงทำอย่างต่อเนื่อง เพราะในต่างประเทศเคยมี Super spreader จากคนๆ เดียว แพร่เชื้อไปเป็นจำนวนมาก เปรียบมวยเหมือนการ์ดห้ามตก ตกเมื่อไหร่ก็ทรุดลงไปได้ อีกทั้งทั่วโลกยังเป็น “แหล่งรังโรค” ที่มีพาหะนำเชื้อมาให้ ไม่ให้รังเกียจแต่ให้ระวังตัว
คำถามจากไทยพีบีเอส และ วอยซ์ทีวี กรณีอาคารรับรองสัตหีบ จัดให้ห้องละ 3 คน เป็นไปได้ไหมที่จะเหลือ 1 ห้องต่อ 1 คน ชี้แจงว่า จริงๆ แล้วดีที่สุดคือพักคนเดียว แต่ปัญหาคือสถานที่ไม่เพียงพอ มากลุ่มหนึ่งมีคนดูแลทั้งแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ คนดูแลทำความสะอาด ทหาร ตำรวจ และผู้เกี่ยวข้อง ตอนนี้สัตหีบเต็มแล้ว ต้องคิดถึงความเหมาะสม ฝากให้ประชาชนอดทน เพราะถ้าคนมาเป็นพันจะหาโรงแรมเป็นพันห้องไม่ได้มาง่ายๆ
คำถามจากช่อง 3 และช่อง 9 กรณีคนไทยที่เดินทางกลับจากอินโดนีเซีย อีกกลุ่มหนึ่งไม่สามารถขึ้นเครื่องได้ ชี้แจงว่า ส่วนหนึ่งมาจากการมีอาการสงสัยว่าจะติดเชื้อ ไม่สบาย แต่ไม่รู้ว่าสาเหตุอะไร เพื่อความปลอดภัยจึงให้รักษาตัวที่อินโดนีเซียก่อน ถ้าหายดีแล้วก็จะมีกระบวนการต่อไป เป็นมาตรฐานของทั่วโลก ส่วนคนไทยที่ตกค้างจากเที่ยวบินต่อเครื่องจะดูแลอย่างไร ขณะนี้มีเบอร์ฮอตไลน์ที่สามารถติดต่อได้ แม้สถานทูตจะปิดทำการก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่สถานทูตจะดูแลคนไทยเป็นอย่างดี