โฆษกกระทรวงการคลัง ชี้แจงคำตอบเกี่ยวกับมาตรการเยียวยา 5,000 บาท ที่เปิดให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ “เราไม่ทิ้งกัน” เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา
วันนี้ (2 เม.ย.) ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง นางพิศมัย นิธิไพบูลย์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม
จากกรณีรัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ด้วยการเยียวยาให้เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน โดยสามารถลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ได้ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ลงทะเบียนแล้วมากกว่า 20 ล้านคน แต่ระหว่างนี้ต้องตรวจสอบหลักเกณฑ์เป็นเวลา 7 วัน
นายลวรณ กล่าวถึง หลักเกณฑ์ใหญ่ๆ ที่ใช้ในการคัดกรอง มี 3 เรื่อง คือ 1. แรงงาน ลูกจ้าง ประกอบชีพอิสระ 2. ต้องไม่อยู่ในระบบประกันสังคม 3. ได้รับผลกระทบและเดือดร้อนจากโควิด-19 ซึ่งในแต่ละข้อๆ ยังแบ่งเป็นเกณฑ์แยกย่อยอีก ขณะนี้กระบวนการคัดกรองได้เริ่มต้นแล้ว ซึ่งกลุ่มที่ไม่เข้าเลย ก็คือ กลุ่มที่ไม่มีงานทำ เมื่อไม่มีงานทำ ก็จะไม่เกิดผลกระทบ อาชีพอิสระ อย่างเช่น แม่บ้าน ตามบ้านไม่ถือว่ารวม ไม่เข้าเงื่อนไข
สำหรับคนที่ถูกคัดออกไม่เข้าเกณฑ์ ได้แก่ คนที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย คนที่อายุไม่ถึง 18 ปี เนื่องจากเกณฑ์เบื้องต้น เป็นผู้มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันลงทะเบียน แม้จะทำงานควบคู่ไปด้วยก็ตาม แต่จะมีมาตรการอื่นๆ ที่ดูแลตามมา นักเรียน นักศึกษา ที่ยังมีสถานะนักเรียน นักศึกษาอยู่ แม้จะอายุเกิน 18 ปี แล้วก็ตาม ผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ยกเว้น
เป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 (คือ ผู้ประกันที่ออกจากงาน แล้วส่งต่อเอง) หรือ มาตรา 40 (ผู้ประกันตนอาชีพอิสระ แต่เข้ามาสมัครประกันสังคม) เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 จะต้องอยู่ในข่ายที่ส่งเงิน เข้าประกันสังคมไม่ครบ 6 เดือน และได้รับผลกระทบจากโควิด-19
ข้าราชการ ทั้งข้าราชการพลเรือน และอื่นๆ ที่ยังได้รับเงินเดือน ข้าราชการเกษียณอายุ และได้รับบำนาญ คนที่ไม่มีอาชีพ หรือคนที่ว่างงาน กรณีผู้สูงอายุ ถ้ามีอาชีพ เช่นค้าขายยังเข้าเกณฑ์ แต่ถ้าไม่ได้ทำงาน ไม่เข้าเกณฑ์
(มีต่อ)