“ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน” เผยข่าวดี ครม.มีมติเพิ่มเงินทดแทนว่างงาน ให้ลูกจ้างในประกันสังคมมาตรา 33 ที่เกิดจากรัฐสั่งปิดสถานประกอบการ จากเดิม 50% นาน 60 วัน เป็น 62% รวมไม่เกิน 90 วัน ส่วนธุรกิจที่ปิดเองรัฐไม่ได้สั่ง ลูกจ้างอดได้สิทธิ เพราะไม่เข้าข่ายเหตุสุดวิสัย ยันเข้าใจปัญหาดี กำลังถกหามาตรการช่วยเหลือ
วันนี้ (31 มี.ค. 63) รศ.ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “ฟังชัดๆ นายจ้าง-ลูกจ้าง ฝ่าโควิด ได้สิทธิอะไรบ้าง”
โดย ดร.จักษ์ ได้กล่าวว่า วันนี้อัปเดตข่าวดี ทาง ครม.มีมติเห็นชอบทบทวนการเยียวยาแรงงานในระบบที่อยู่มาตรา 33 และจะต้องว่างงานอันเกิดจากเหตุสุดวิสัย ที่รัฐบาลได้ประกาศให้หยุดสถานประกอบการ เดิมประกันสังคมเข้ามาดูแลเงินทดแทนการขาดรายได้ โดยจ่ายร้อยละ 50 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ และคุ้มครองไม่เกิน 60 วัน แต่วันนี้ ครม.ออกใหม่ให้เป็น 62 เปอร์เซ็นต์ คุ้มครองรวมไม่เกิน 90 วัน
ทำไมต้อง 62 เปอร์เซ็นต์ เพราะกรณีแรงงานในระบบ เรามีเพดานของเงินเดือนที่หักเข้าประกันสังคม โดยปกติแล้วถ้าเป็นแรงงานในระบบ คือ แรงงานที่มีนายจ้าง รับรายได้จากนายจ้าง ที่สำคัญกว่านั้น ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ถูกกฎหมายบังคับให้ต้องส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคม เวลาหัก 5 เปอร์เซ็นต์ คิดเพดานเงินเดือนไว้ที่ 15,000 บาทเท่านั้น ฉะนั้น พอถึงเวลาที่ประกันสังคมกลับมาดูแล ก็ใช้มาตรฐานเดียวกัน ให้คิด 62 เปอร์เซ็นต์ บนฐานเพดานไม่เกิน 15,000 บาท
แต่ครั้งก่อน 50 เปอร์เซ็นต์ เกิดกรณีที่ว่าในมาตรา 33 มีคนที่เงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท พอคิดที่ 50 เปอร์เซ็นต์ เขาได้ต่ำกว่า 5,000 บาท ซึ่งไม่สอดคล้องกับแรงงานนอกระบบที่กระทรวงการคลังดูแล ซึ่งเขาได้กัน 5,000 บาท เลยทบทวนให้มาตรา 33 ต้องได้ไม่ต่ำกว่า 5 พันบาทต่อเดือน แล้วเป็นการปรับขึ้นยกทั้งแผง ทุกคนจะได้ได้มากกว่าเดิม
อย่างรัฐสั่งให้หยุด 20 วัน 20 วันนี้ นายจ้างไม่ต้องจ่าย ประกันสังคมจ่ายให้ แล้วถ้าหลังจากนี้กลับมาเปิดกิจการ ลูกจ้างก็กลับไปรับเงินกับนายจ้างปกติ หากเดือนต่อไป รัฐสั่งปิดอีก ก็กลับมารับประกันสังคมได้อีก บวกรวมแล้วดูแลทั้งหมด 90 วัน
ดร.จักษ์ กล่าวอีกว่า จำนวนแรงงานในระบบที่ได้รับกระทบ ส่วนของ กทม. และปริมณฑล น่าจะมีประมาณ 1.56 แสนคน ที่ต้องเน้น กทม. และปริมณฑล เพราะได้รับการประกาศให้หยุดงานจากรัฐ อันเกิดจากเหตุสุดวิสัย เราใช้อันนี้เป็นเงื่อนไข ส่วนจังหวัดอื่นที่รัฐยังไม่ได้สั่งให้หยุด แต่ถ้าผู้ว่าสั่งหยุดก็ได้สิทธิเช่นกัน
หยุดโดยเหตุสุดวิสัยและรัฐเป็นคนสั่งด้วย เหตุสุดวิสัยเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเรามีกฎหมาย 2 ฉบับ ดูแลแรงงานอยู่ คือ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน กับ พ.ร.บ.ประกันสังคม ซึ่งเหตุสุดวิสัยของตัวกฎหมายแรงงาน เขียนไว้เฉพาะเหตุสุดวิสัยจากภัยธรรมชาติ จากเชื้อโรคไม่เคยมีบัญญัติไว้ แต่โชคดีที่ พ.ร.บ.ประกันสังคม มีอธิบายเปิดช่องไว้ว่า เหตุสุดวิสัยเป็นไปตามที่กฎกระทรวงหรือกระทรวงกำหนดเงื่อนไข ก็คือให้ออกกฎกระทรวงได้ ทำให้กระทรวงแรงงานแก้กฎกระทรวง เพิ่มว่าโควิด-19 ถือเป็นเหตุสุดวิสัย จึงเอามาช่วยพี่น้องแรงงานมาตรา 33 ได้
ซึ่งมันหยิบโยงกับอีกกรณีหนึ่ง สมมติโรงงานอยู่เชียงใหม่ นายจ้างไปต่อไม่ไหว ไม่ว่าจะเพราะอะไรก็ตาม เลยจะปิดโรงงาน กรณีแบบนี้ลูกจ้างไม่มีสิทธิขอเงินทดแทนจากเหตุสุดวิสัยได้ การปิดโดยเหตุสุดวิสัย เกิดได้เฉพาะรัฐสั่งหยุด หรือผู้ว่าสั่งหยุด เท่านั้น
ดร.จักษ์ กล่าวต่ออีกว่า กรณีนายจ้างไม่ไหวจะปิดกิจการเอง ให้ใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 75 เมื่อนายจ้างสั่งหยุดงานชั่วคราว แต่ไม่ได้คิดจะเลิกจ้าง กฎหมายบอกว่านายจ้างต้องจ่าย 75 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนของลูกจ้าง จนกว่าจะมาเป็นระบบแบบเดิม ลูกจ้างไม่มีสิทธิมาใช้ 62 เปอร์เซ็นต์ เพราะไม่ได้ว่างงาน ยังมีรายได้อยู่
“ธุรกิจที่กระทบจากโควิด-19 แต่ไม่ได้ถูกรัฐสั่งหยุด ไม่เข้าเหตุสุดวิสัย เราตระหนักในเรื่องนี้ กำลังคุยกันว่าจะมีมาตรการอะไรดูแล ขอเวลาหน่อย ซึ่งเราเข้าใจ โรงแรมไม่มีใครมาพัก ไม่มีรายได้ ให้นายจ้างจ่าย 75 เปอร์เซ็นต์ สายป่านจะยาวแค่ไหน แต่ละจังหวัดมีคณะกรรมการโรคติดต่อของเขา ประเมินว่าจะประกาศไม่ประกาศ ตรงนี้ไม่มีกระทรวงแรงงานนั่งอยู่ด้วย แต่กระทรวงก็ไมได้ผลักภาระ เราจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อสะท้อนความเดือดร้อนของพี่น้องและผู้ประกอบการเข้าไป” ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน ระบุ
ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน กล่าวด้วยว่า การที่นายจ้างจะให้ลดวัน ลดเวลาทำงาน และลดเงิน สามารถทำได้ ต่อเมื่อลูกจ้างเซ็นยินยอม แต่การลดเงินค่าจ้างแรงงาน ตามความเห็นชอบลูกจ้าง จะลดต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำของพื้นที่นั้นๆ ไม่ได้ แม้ลูกจ้างยินยอมก็ไม่ได้
ถ้าลูกจ้างไม่ยอม นายจ้างก็มีมาตรการอื่น อาจเลิกจ้าง การเลิกจ้างต้องจ่ายเงินล่วงหน้ากี่เดือน ๆ ตามกฎหมายกำหนด ลูกจ้างก็ใช้สิทธิรับเงินทดแทนการว่างงานจากประกันสังคมได้ จากเดิม 50 เปอร์เซ็นต์ 180 วัน แต่ตอนนี้ให้ 70 เปอร์เซ็นต์ 200 วัน หรือกรณีนายจ้างไม่บอกเลิกจ้าง แต่ลูกจ้างลาออกแเอง เงินทดแทนการขาดรายได้ เดิม 30 เปอร์เซ็นต์ 90 วัน ตอนนี้ปรับเป็น 45 เปอร์เซ็นต์ 90 วัน โดยทั้งสองเงินทดแทนที่เพิ่มให้นี้ มีผลบังคับใช้ในช่วง 2 ปีนี้เท่านั้น พ้นจากนี้ไปกลับมาเป็นแบบเดิม เพื่อบรรเทาพิษโควิด-19 เท่านั้น
ส่วนเงินสมทบมาตรา 33 กฎหมายกำหนดให้นายจ้าง ลูกจ้าง จ่ายประกันสังคม 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ มี.ค. - พ.ค. นี้ นายจ้างส่งแค่ 4 เปอร์เซ็นต์ ลูกจ้างจ่าย 1 เปอร์เซ็นต์ โดยมีการยืดเวลาจ่ายออกไป ของงวด มี.ค. ให้ส่งได้ 15 ก.ค. งวด เม.ย. ให้ส่ง ส.ค. และงวด พ.ค. ให้ส่ง ก.ย. ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง หรือจะส่งก่อนก็ได้ ส่งเต็มก็ได้
ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 39 ฐานของการคิด จะคิดว่าทุกคนที่อยู่มาตรา 39 มีรายได้เท่ากันที่ 4,800 บาท เพื่อให้ส่งเข้ากองทุนเท่ากัน โดยปกติส่งเดือนละ 432 บาท ทุกคน ไม่ว่ามีรายได้เท่าไหร่ ซึ่งเราดูแลเหมือนกัน โดยให้ลดจาก 432 เหลือส่ง 86 บาท ยาว 3 เดือน และยืดเวลาจ่ายให้เหมือนกันด้วย
ดร.จักษ์ กล่าวต่อถึงกรณีลูกจ้างต้องกักตัว 14 วัน ว่า มาตรการนี้ใช้กับทุกพื้นที่ ถ้าลูกจ้างไปสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ หรือกรณีนายจ้างเห็นว่าลูกจ้างมีโอกาสแพร่เชื้อ สั่งกักตัวได้ 14 วัน นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง ประกันสังคมจ่าย 62 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ ไม่เกิน 90 วัน เงื่อนไขเดียวกับรัฐสั่งปิด เพราะเป็นเหตุสุดวิสัย
กรณีไปโรงพยาบาล หากหมอสั่งให้ตรวจโควิด-19 ไม่ต้องเสียตังค์ ประกันสังคมดูแล ผู้ประกันตนมาตรา 39 ก็เช่นกัน ถ้าป่วยจริง ต้องพักรักษา ลูกจ้างต้องได้ค่าจ้างตามปกติจากนายจ้าง 30 วัน ถ้าเลย 30 วัน แล้วยังไม่หาย ประกันสังคมจ่ายทดแทนการขาดรายได้ 50 เปอร์เซ็นต์ ครั้งละไม่เกิน 90 วัน รวมกันทั้งปีไม่เกิน 180 วัน
เมื่อถามถึงกรณีแรงงานต่างด้าว ใบอนุญาตทำงานใกล้สิ้นสุดลง แล้วไม่เหมาะสมที่จะไปต่อช่วงนี้ ดร.จักษ์ กล่าวว่า ใบอนุญาตหมดอายุไปเมื่อ 31 มี.ค. แต่ถ้าใครไปแจ้งเนมลิสต์แล้ว ไม่ต้องกังวล ใบอนุญาตที่หมดอายุ 31 มี.ค. วีซ่าของ ตม. ที่หมดอายุ 31 มี.ค. ไม่มีปัญหา สามารถใช้เนมลิสต์คู่กับใบอนุญาตพวกนี้ ทำงานต่อไปได้ถึงวันที่ 30 มิ.ย.
กระทรวงแรงงานจะเปิดให้มาทำใบอนุญาตตั้งแต่ 1 พ.ค. - 30 มิ.ย. ตอนนี้ยังไม่ต้อง แล้วเวลาไปต่อวีซ่า ไม่ต้องมาที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จแล้ว ให้ไปทำกับ ตม. ส่วนใบอนุญาตที่เรียกว่าบัตรสีชมพู ให้ทำที่สำนักงานเขต กทม. ส่วนใบอนุญาตทำงานก็ไปที่พื้นที่จัดหางาน กทม. ที่มีอยู่ 20 แห่ง