xs
xsm
sm
md
lg

๒๖ มีนาคม ๒๔๓๙ไทยมีรถไฟ! โยงใยดินแดนห่างไกลให้พ้นมือนักล่าอาณานิคม!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค


เสด็จเปิดเดินรถไฟกรุงเทพฯ-กรุงเก่า ในวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๔๓๙
รถไฟ เป็นการขนส่งทางบกที่ยิ่งใหญ่ของโลก ใช้วัดความเจริญของประเทศได้ด้วย ประเทศใดที่ยังไม่มีรถไฟถือได้ว่ายังล้าหลังอยู่มาก สำหรับประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ นอกจากจะใช้รถไฟประกาศความก้าวหน้าของประเทศแล้ว ยังใช้โยงใยดินแดนที่อยู่ห่างไกลให้เข้ามาใกล้ชิดกัน ร้อยรัดกันไว้ด้วยทางรถไฟ ไม่ให้เหินห่างไปนิยมอาณานิคมข้างบ้าน ทรงวางแนวทางรถไฟให้เป็นสายใยไปทั่วประเทศ แต่จนบัดนี้ก็ยังสร้างไม่ครบตามพระราชดำริที่รัชกาลที่ ๕ ทรงวางไว้

จุดประกายที่จะให้มีรถไฟในประเทศไทย เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อพระนางวิคตอเรียแห่งสหราขอาณาจักร ทรงส่ง เซอร์จอห์น เบาริง เป็นราชทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีในปี พ.ศ.๒๓๙๘ และทรงส่งรถไฟจำลองเป็นรถจักรไอน้ำและรถตู้ทั้งขบวนพร้อมราง เดินได้ด้วยเครื่องจักรไอน้ำเช่นเดียวกับรถไฟของจริงในอังกฤษ มาเป็นเครื่องบรรณาการด้วย คงจะเพื่อดลพระราชหฤทัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงคิดสร้างรถไฟขึ้นในประเทศไทยบ้าง แต่ในขณะนั้นประเทศสยามยังมีจำนวนพลเมืองน้อย เศรษฐกิจก็ยังไม่โตพอจะมีรถไฟได้

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก่อนทรงบรรลุนิติภาวะว่าราชการด้วยพระองค์เอง คราวเสด็จประพาสชวาในความปกครองของฮอลันดา ทรงทอดพระเนตรการสร้างทางรถไฟและได้ประทับรถไฟด้วย ต่อมาเสด็จไปอินเดียก็ได้ทอดพระเนตรการสร้างทางรถไฟอีกเข่นกัน เมื่อทรงว่าราชการเองจึงเป็นยุคปฏิรูปประเทศ เพื่อมิให้นักล่า
อาณานิคมใช้อ้างว่าสยามยังเป็นประเทศล้าหลัง จะเข้ามาช่วยปกครองให้เจริญทัดเทียมกับยุโรป ประกอบกับขณะนั้นเพื่อนบ้านรอบด้านต้องตกเป็นอาณานิคม คนชายแดนก็ถูกหว่านล้อมให้โน้มเอียงไปทางชื่นชมนิยมฝรั่ง จึงทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างความเจริญด้านการคมนาคมของประเทศด้วยทางรถไฟ โยงใยดินแดนชายแดนให้เข้ามาใกล้ชิดนครหลวง และสร้างความเจริญให้ท้องถิ่นเหล่านั้นมีความเจริญสมบูรณ์พูนสุขยิ่งขึ้น

ในปี พ.ศ.๒๔๒๐ จึงทรงมีพระบรมราชโองการ “ประกาศเซอร์เวย์รถไฟ” และทรงว่าจ้างบริษัทอังกฤษสำรวจเส้นทางรถไฟจากกรุงเทพฯไปเชียงใหม่ และแยกกระจายไปในภาคเหนือและภาคอีสาน คือ

ออกจากกรุงเทพฯ ผ่านบางปะอิน อยุธยา ไปตามฝั่งซ้ายของแม่น้ำป่าสัก ผ่านเมืองพระพุทธบาท ลพบุรี นครสวรรค์ อุตรดิคถ์ แพร่ นครลำปาง ลำพูน ถึงเชียงใหม่ และมีทางแยกออกจากเส้นทางนี้คือ

สายหนึ่ง แยกที่สระบุรี ไปนครราชสีมา
อีกสาย แยกที่อุตรดิตถ์ ไปตำบลท่าเดื่อริมฝั่งโขง
อีกสายแยกจากเชียงใหม่ ไปยังเชียงรายและเชียงแสน

เมื่อการสำรวจเสร็จสิ้นแล้ว ทรงพิจารณาเห็นว่าเส้นทางสายแรกที่ควรลงมือก่อนก็คือสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯก่อตั้งกรมรถไฟขึ้น สังกัดกระทรวงโยธาธิการ มีพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงศ์ เป็นเสนาบดี นาย เค. เบทเก ชาวเยอรมัน เป็นเจ้ากรม และเมื่อเปิดประมูลการก่อสร้าง บริษัทของชาวอังกฤษเป็นผู้ประมูลได้ โดยเสนอราคาต่ำสุด ๙,๙๕๖,๑๖๔ บาท เป็นรางขนาดกว้าง ๑.๔๓๕ เมตร ซึ่งเป็นรางขนาดมาตรฐานของโลก ขณะเพื่อนบ้านที่เป็นอาณานิคมมีก่อนใช้รางขนาดกว้าง ๑ เมตรเท่านั้น แต่ในที่สุดในปัจจุบันก็ต้องหันไปใช้รางขนาด ๑ เมตรเพื่อเชื่อมต่อกับรอบบ้านได้

ในปี พ.ศ.๒๔๓๙ การสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา สำเร็จไปพอจะใช้ประโยชน์ได้บ้างแล้ว จึงทรงประกอบพระราชพิธีเดินรถจากสถานีกรุงเทพฯถึงอยุธยาในวันที่ ๒๖ มีนาคม ซึ่งได้ถือว่าเป็นวัน “สถาปนากิจการรถไฟไทย” สืบมา

การเดินรถครั้งแรกนี้มีเพียง ๙ สถานี คือ สถานีกรุงเทพฯ บางซื่อ หลักสี่ หลักหก คลองรังสิต เชียงราก เชียงรากน้อย บางปะอิน และกรุงเก่า ขึ้นล่องวันละ ๔ เที่ยว
จากนั้นก็ขยายการเดินรถไปตามการก่อสร้างที่สำเร็จ จากอยุธยา ไป แก่งคอย มวกเหล็ก ปากช่อง จนกระทั่งถึงนครราชสีมา จึงได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดการเดินรถสายนี้ในวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๔๔๓ เป็นระยะทาง ๒๖๕ กิโลเมตร และขยายต่อไปถึงเชียงใหม่ในรัชกาลที่ ๖ โดยผ่านอโมงค์ขุนตาน

ปัจจุบัน การรถไฟแห่งประเทศไทย มีระยะทางเปิดเดินรถกว่า ๔,๕๐๐ กิโลเมตรแล้ว และยังเป็นผู้ดำเนินการในระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้าอีก ๗ โครงการ เป็นรถไฟฟ้าชานเมือง ๓ โครงการ เชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และรถไฟชานเมืองสีแดง ทั้งแดงอ่อนและแดงเข้ม กับรถไฟฟ้าความเร็วสูง ๔ โครงการ คือสายเชื่อม ๓ สนามบิน สายไทย-จีน บางซื่อ-หนองคาย สายไทย-ญี่ปุ่น บางซื่อ-เชียงใหม่ และสายใต้ บางซื่อ-ปาดังเบซาร์

นี่คือความก้าวหน้าของรถไฟไทยในปัจจุบัน

รถไฟจำลองบรรณาการ ปัจจุบันแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร

หัวรถจักรขบวนปฐมฤกษ์ที่อยุธยา

หัวลำโพงเมื่อแรกสร้าง

ขบวนรถไฟความเร็วสูงที่จะใช้ในสายบางซื่อ-หนองคาย
กำลังโหลดความคิดเห็น