xs
xsm
sm
md
lg

ลูกเขยประธานาธิบดีสหรัฐรับลูกพ่อตามาช่วยปลดแอก กม.อาณานิคมให้ไทย! มีชื่อถนนเป็นอนุสรณ์!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค


ดร.ฟรานซิส บี แซร์
ในปลายสมัยรัชกาลที่ ๓ อังกฤษและฝรั่งเศสมุ่งแพร่อิทธิพลของการเป็นมหาอำนาจมาทางภาคตะวันออกไกล แต่ไม่สามารถทำสัญญาทางการค้ากับไทยได้ เนื่องจากทรงไม่ไว้ใจฝรั่ง ทูตอังกฤษคือ เซอร์เจมส์ บรู๊ค ได้เสนอรัฐบาลให้ใช้เรือรบเข้าบังคับ แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสิ้นพระชนม์พอดี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ ทรงติดตามข่าวของโลกจากหนังสือพิมพ์ตะวันตกมาตลอด ทรงทราบดีว่าไม่สามารถขัดความต้องการของอังกฤษได้ จึงทรงมีพระราชหัตถเลขาไปถึงเจ้าเมืองสิงคโปร์ ให้ช่วยแจ้งแก่เซอร์เจมส์ บรู๊คด้วยว่า กษัตริย์องค์ใหม่จะรับข้อเสนอของอังกฤษ ขอให้เข้ามาเจรจากันใหม่ได้

หลังจากที่อังกฤษส่งเรือรบไปยึดพม่าได้แล้ว ก็ส่ง เซอร์จอห์น เบาริ่ง เข้ามาทำสัญญาการค้ากับไทย ในสัญญาที่ไทยทำกับอังกฤษครั้งนี้ ที่เรียกว่า “สนธิสัญญาเบาริ่ง” นอกจากจะเป็นเรื่องการค้าแล้ว สยามยังต้องยอมให้ “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” แก่อังกฤษด้วย คือหากคนในบังคับอังกฤษก่อคดีในสยาม ก็ไม่ต้องขึ้นศาลไทย เป็นหน้าที่ของศาลกงสุลอังกฤษจะพิจารณาตามกฎหมายอังกฤษเอง

หลังจากอังกฤษทำสัญญาเบาริ่งกับสยามแล้ว ประเทศตะวันตก ๑๔ ประเทศก็ถือเป็นแม่แบบเรียงหน้ากันเข้ามาขอทำสัญญาอย่างอังกฤษบ้าง สัญญาที่สยามทำกับประเทศตะวันตกเหล่านี้ แม้จะทำให้สินค้าไทยสดใสออกสู่ตลาดโลกได้มาก แต่สิทธิสภาพนอกอาณาเขตก็เป็นความขมขื่นสำหรับคนไทยและเสื่อมศักดิ์ศรีของประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะในทางปฏิบัติ ฝรั่งเศสได้เดินแจกใบสมัครให้คนเขมร ญวน ลาว รวมทั้งจีน ที่อยู่ในเมืองไทยสมัครเข้าอยู่ในบังคับฝรั่งเศส เพื่อไม่ต้องขึ้นศาลไทย
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีการเจรจาขอยกเลิก
สิทธิสภาพนอกอาณาเขตของคนในบังคับอังกฤษ โดย เอ็ดเวิร์ด สโตรเบล ที่ปรึกษาราชการชาวอเมริกัน แต่ไทยต้องมอบ ๔ รัฐมาลัย คือ ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส ให้อังกฤษ เพื่อแลกกับการยกเลิก

สิทธิสภาพนอกอาณาเขต พร้อมกับให้กู้เงิน ๔ ล้านปอนด์ในอัตราดอกบี้ยต่ำ เพื่อนำไปสร้างทางรถไฟสายใต้ โดยอังกฤษยอมยกเลิกให้เฉพาะคนในบังคับอังกฤษที่จะสมัครใหม่ แต่คนที่ลงทะเบียนไว้แล้ว ต้องขึ้นกับศาลต่างประเทศตามเดิม สัญญานี้ได้ลงนามกันเมื่อวันที่ ๑๐มีนาค ๒๔๕๑

ตอนขอได้ไปเปล่าๆ แต่ตอนจะเลิกต้องเอาดินแดนไปแลก แล้วก็ไม่ได้เลิกจริง เพียงแต่สัญญาว่าจะไม่ทำใหม่เท่านั้น

ในรัชกาลที่ ๖ หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ ๑ เริ่มในยุโรปมาแล้ว ๓ ปี แต่เมื่อกลางดึกล่วงเข้าวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๔๖๐ เพียงไม่กี่นาที พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงประกาศสงครามกับเยอรมันและออสเตรียฮังการีอย่างไม่มีใครคาดคิด เพราะขณะนั้นคนไทยเรานิยมชมชื่นคนเยอรมัน มากกว่าฝรั่งชาติอื่นๆ มีพ่อค้ามาเปิดห้าง และมีนายช่างเยอรมันมาทำงานกับราชการไทยมาก รวมทั้งกำลังขุดอุโมงค์รถไฟขุนตาล ทำให้มิตรสนิทเหล่านี้ต้องเป็น “ศัตรูต่างประเทศ” ทันที ตกเป็นเชลย แต่ไทยก็ดูแลเชลยกลุ่มนี้เป็นพิเศษ

เบื้องหลังของการประกาศสงครามครั้งนี้ มาจากพระองค์ทรงศึกษาอยู่ในยุโรปยาวนานถึง ๙ ปี มีพระสหายที่ร่วมเรียนด้วยกันมาก พระสหายเหล่านี้หลายคนได้กลายเป็นบุคคลที่มีบทบาทอยู่ในระดับบริหารชั้นสูงของหลายประเทศในยุโรป และยังมีพระราชหัตถเลขาติดต่อถึงกันมาตลอด จนทรงมีพระราชวินิจฉัยในการตัดสินพระราชหฤทัยครั้งนี้เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งถ้าอยู่ในระบบประชาธิปไตยก็คงทำไม่ได้แน่

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ สันติภาพได้กลับมาสู่โลกอีกครั้งหนึ่ง สยามกลายเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มผู้ชนะ มีการเปิดประชุมเพื่อทำสัญญาสันติภาพขึ้นที่ห้องกระจกของพระราชวังแวร์ซายส์ในกรุงปารีส เป็นที่รู้กันว่าการประชุมครั้งนี้เป็นการวางรากฐานก่อตั้งสมาคมสันนิบาตชาติด้วย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากร ราชทูตประจำกรุงปารีส กับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมเทววงศ์วโรปการเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ และพระยาพิพัฒน์โกษา ราชทูตประจำกรุงโรม เป็นราชทูตพิเศษผู้มีอำนาจเต็มของไทย เข้าร่วมประชุม นอกจากทรงกำชับให้ร่วมตั้งสันนิบาติชาติแล้ว ยังทรงกำชับเป็นพิเศษให้หาโอกาสเจรจาเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่คนของมหาอำนาจทั้งหลายยังมีอภิสิทธิไม่ต้องขึ้นศาลไทย ฉะนั้นเมื่อโอกาสในที่ประชุมเปิด ผู้แทนไทยจึงถือโอกาสกล่าวต่อที่ประชุมว่า

“เราก็ได้ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับท่าน เพื่อพิทักษ์สิทธิของประเทศเล็กและผดุงมนุษยธรรมไว้ หากว่าจะเป็นไปเหมือนที่เคยป่าวประกาศกันอยู่บ่อยๆแล้วไซร้ ก็เป็นที่ประจักษ์อยู่แล้วว่า เราได้ต่อสู้ปกป้องผู้ที่อ่อนแอจากการข่มเหงรังแกของผู้แข็งแรงกว่า และเพื่อขจัดความไม่เป็นธรรมทั้งหลายที่เป็นสาเหตุสู่สภาพสงคราม ดังนั้น ย่อมเป็นการถูกต้องและเป็นธรรมพอหรือยัง ที่ประเทศสยามจะได้หลุดพ้นจากการบีบรัดของสนธิสัญญาอันเก่าก่อนที่มีมานานแล้วเสียที ซึ่งสนธิสัญญานั้นก็หมดความหมายทุกประการที่จะคงมีอยู่ต่อไป ในเมื่อสภาพการณ์ในประเทศสยามก็เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว”

“ถูกของท่านแล้ว”

ประธานาธิบดี วูดโรว์ วิลสัน แห่งสหรัฐอเมริกา ลุกขึ้นตอบรับทันที

“อเมริกาขอทำสัญญากับไทย โดยยอมสละสิทธิสภาพนอกอาณาเขตซึ่งเก่าเกินอายุแล้วนั้นเสีย และการให้สิทธิสัญญาใหม่เช่นนี้ เป็นการปฏิบัติไปตามทำนองคลองธรรม โดยไม่มีอะไรตอบแทนทั้งสิ้น”
เมื่อประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกากล่าวเช่นนั้น จึงมีการคืนสิทธิทางศาลให้ไทยตามคำพูดเป็นประเทศแรกในปี ๒๔๖๓ นั้น แม้สหรัฐอเมริกาจะยอมเลิกให้โดยดี แต่ประเทศอื่นๆไม่ยอมง่ายๆ ไทยจึงต้องหาผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมาเจรจาเรื่องนี้ ในที่สุด ดร.ฟรานซิส บี. แซร์ อาจารย์กฎหมายของมหาวิทยลัยฮาร์เวิร์ด ก็ถูกคณะบดีเรียกเข้าไปคุย แล้วถามว่า

“จะไปทำงานที่ตะวันออกไกลในตำแหน่งที่ปรึกษาการต่างประเทศของพระเจ้าแผ่นดินสยามบ้างไหม”

ดร.ฟรานซิส บี. แซร์ ก็คือบุตรเขยของประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน ซึ่งขณะนั้นพ้นตำแหน่งประธานาธิดีไปแล้ว ดร.ฟรานซิสมีลูกเล็กๆถึง ๓ คน คนโตอายุ ๘ ขวบ คนเล็กอายุ ๔ ขวบ ยังห่วงใยลูก แต่เมื่อได้พูดตุยกับมิชชันนารีหลายคนที่เคยอยู่เมืองไทย ดร.ฟรานซิสจึงตกลงรับตำแหน่งนี้ โดยมีกำหนดเวลาเพียง ๑ ปีเท่านั้น และเดินทางเข้ามาในปี ๒๔๖๖

ดร.ฟรานซิสรับหน้าที่เจรจาแก้ไขสนธิสัญญาต่างๆที่ไทยได้ทำไว้กับนานาประเทศ ตั้งแต่สนธิสัญญาเบานิ่งเป็นต้นมา โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับอำนาจศาลและการเก็บภาษีอากร ซึ่งประเทศไทยเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบอยู่มาก ไม่สามารถเก็บภาษีได้เกินร้อยละ ๓ และก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งให้ ดร.ฟรานซิสเป็นผู้แทนประเทศไทยไปเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญากับประเทศในยุโรป โดยเริ่มออกเดินทางไปในปี ๒๔๖๗ การเจรจาเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยเฉพาะกับอังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งพยายามรักษาผลประโยชน์ของตนอย่างเต็มที่ แต่เนื่องจาก ดร.ฟรานซิสมีทั้งความอุตสาหะวิริยะและความสามารถ อีกทั้งยังมีบารมีที่เป็นบุตรเขยของประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน ที่เริ่มเรื่องไว้ในที่ประชุมนานาชาติที่ปารีส จึงทำให้การเจรจาประสบความสำเร็จด้วยดี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ ดร.ฟรานซิส บี แซร์ เป็น “พระยากัลยาณไมตรี” และมีการจัดงานเลี้ยงต้อนรับตอนกลับมาอย่างสมเกียรติ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้า ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก และประถมาภรณ์ช้างเผือกตามลำดับ นอกจากนี้ยังได้รับพระราชทานเหรียญพระบรมนามาภิไธยย่อของ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช รัชกาลที่ ๙ เมื่อคราวเป็นแขกรับเชิญของรัฐบาลไทยมาร่วมในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษา ในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ด้วย

ดร.ฟรานซิส บี. แซร์ มารับราชการไทยในปี ๒๔๖๖ และกำหนดจะทำงานเพียง ๑ ปี ได้ถวายบังคมลาออกจากหน้าที่กลับไปสหรัฐอเมริกาในปี ๒๔๘๖ แต่ก็ยังยินดีที่จะช่วยเหลือประเทศไทย ดังเช่นในปี ๒๔๖๙ สมัยรัชกาลที่ ๗ ได้ถวายคำแนะนำเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมือง และแนวทางแก้ปัญหาต่างๆตามที่ทรงถามไป และยังได้ร่างรัฐธรรมนูญถวายให้ทรงพิจารณาด้วย แต่ทว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นเสียก่อน รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงไม่ได้ออกใช้

ต่อมาในปี ๒๕๑๑ รัฐบาลไทยได้ตั้งชื่อถนนจากสะพานช้างโรงสีที่หน้ากระทนวงมหาดไทยไปถึงพระบรมมหาราชวังที่หน้าวัดพระแก้ว ผ่านศาลาว่าการกระทรวงกลาโหมกข้างหนึ่งกับกรมแผนที่ทหารบกข้างหนึ่งว่า “ถนนกัลยาณไมตรี” เป็นที่ระลึกถึง ดร.ฟรานซิส บี. แซร์

ดร.ฟรานซิสกับภรรยาและลูก

ปรธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน กับลูกเขยและหลานปู่ที่เคยมาอยู่ในเมืองไทย

ดร.ฟราสซิส บี แซร์ในชุดขุนนางไทย

ป้ายถนนกัลยาณไมตรีที่ข้างกระทรวงกลาโหม
กำลังโหลดความคิดเห็น