xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมขาดตลาด “แอลกอฮอล์ 99.9%” วันเดียวราคาพุ่ง 3 เท่า หลังถูกจัดให้เป็น “เครื่องมือแพทย์”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพขวด สื่อถึงตัวอย่างผลิตภัณฑ์ “แอลกอฮอล์ 99.9%” เท่านั้น
เตรียมขาดตลาด “แอลกอฮอล์ 99.9%” ถูกกักตุน ราคาพุ่ง 3 เท่าในวันเดียว หลังออกประกาศจัดให้เป็นเครื่องมือแพทย์ คาดรับมือกับการระบาด “โควิด–19” พบผู้ผลิตเจลล้างมือไม่ใช้วัตถุดิบฟู้ดเกรด แต่ใช้เกรดเดียวกับ “แอลกอฮอล์ล้างแผล” ปะปนในท้องตลาด อันตรายต่อผู้ใช้

... รายงานพิเศษ

ราคาขายปลีก “แอลกอฮอล์ 99.9%” สำหรับฆ่าเชื้อโรค เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 ถ้าเป็นขวดขนาด 500 มิลลิลิตรขยับขึ้นจาก 120-130 บาท ไปเป็น 200 บาท และหากซื้อขนาด 20 ลิตร (20,000 มิลลิลิตร) ราคาเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ขยับจาก 2,500 บาท ไปเป็น 7,000 บาทแล้ว ราคาที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วนี้ เกิดขึ้นภายในวันเดียว


เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลออกประกาศเมื่อ 2 วันก่อน ให้ “แอลกอฮอล์” เป็นสินค้าที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “เครื่องมือแพทย์” เท่านั้น ไม่สามารถผลิตในฐานะเป็นเครื่องสำอางได้อีกต่อไป ดังนั้นกลุ่มโรงงานเครื่องสำอาง ที่ไม่มีใบอนุญาตสำหรับผลิตเครื่องมือแพทย์ ก็จะไม่สามารถขอเลขที่จดแจ้งสินค้าได้ เท่ากับหยุดผลิตไปโดยปริยาย

แต่ในเมื่อยังมีวัตถุดิบอยู่ รัฐบาลจึงอนุญาตให้กลุ่มโรงงานครื่องสำอาง ใช้แอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมสำหรับผลิตเจลล้างมือได้ ไปจนถึงวันที่ 11 มีนาคม 2563 และให้สินค้าที่ผลิตก่อนวันที่ 11 มีนาคม จำหน่ายต่อไปได้อีก 6 เดือน แต่กลับกลายเป็นว่า โรงงานเครื่องสำอางที่เคยผลิตแอลกอฮอล์ล้างมือกว่า 50% อ้างว่า ได้หยุดการผลิตไปเลยตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2563 ทำให้สินค้ามีไม่เพียงพอ ขาดตลาดในทันที

ราคาจึงสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะอยู่ในช่วงที่มีความต้องการสูง


แหล่งข่าวในวงการซื้อ-ขาย เครื่องมือแพทย์ แสดงความเห็นว่า การที่รัฐบาลออกประกาศให้แอลกอฮอล์ กลายเป็นสินค้าสำหรับเครื่องมือแพทย์ น่าจะมีเป้าหมายเพื่อต้องการเตรียมความพร้อมรับมือกับการระบาดของไวรัส “โควิด–19” เพราะหากประเทศไทยต้องเข้าสู่ระยะที่ 3 แอลกอฮอล์จะมีความจำเป็นต้องใช้ในวงการแพทย์มาก จึงต้องเข้าไปควบคุมให้เป็นสินค้าที่ใช้ในวงการแพทย์ก่อน

แต่การที่อยู่ๆ แอลกอฮอล์ล้างมือ 99.9% ขาดตลาดไปในทันที แหล่งข่าวคนเดิม ตั้งข้อสังเกตว่า โรงงานเครื่องสำอาง อาจไม่ได้หยุดการผลิตในทันที ในทางกลับกันมีความเป็นไปได้ว่า โรงงานกลุ่มนี้หลายแห่งน่าจะกำลังเร่งการผลิตให้ได้มากที่สุดก่อนวันที่ 11 มีนาคม แต่ยังไม่นำออกมาจำหน่าย เพราะราคาจะสูงขึ้นอย่างมากหลังจากนั้น

แต่ถ้ามองในแง่ดี การประกาศจะส่งผลดีในทางสุขภาพมากขึ้น เพราะเมื่อรัฐบาลเข้ามาควบคุมการผลิต จะทำให้แอลกอฮอล์ที่นำมาจำหน่ายจะเหลือเฉพาะที่เป็น “ฟู้ดเกรด” (Food Grade) เป็นส่วนใหญ่ ด้วยการดึงวัตถุดิบจากโรงงานที่ไม่ได้ผลิตเป็นฟู้ดเกรด มาให้โรงงานที่ผลิตเป็นฟู้ดเกรด เพราะคนไทยมีพฤติกรรมใช้มือหยิบอาหารหลายชนิดเข้าปากโดยตรง เมื่อใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือบ่อยขึ้น แต่วัตถุดิบที่ใช้ไม่ใช่ฟู้ดเกรด ก็อาจส่งผลให้เกิดอันตรายได้


ทำความเข้าใจกันก่อนว่า แอลกอฮอล์ ที่ใช้ล้างมือ ทำมาจากเอทิลแอลกอฮอล์ แต่มีหลายเกรด แบบที่ดีที่สุดเรียกว่า “ฟาร์มา เกรด” (Pharma Grade) หรือเรียกอีกชื่อว่าฟู้ดเกรด เป็นแอลกออฮอล์ 99.9% สามารถกินได้ เช่น “วอดก้า” เป็นแอลกอฮอล์ ที่ขาดตลาดไปเมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา และราคาพุ่งขึ้น 3 เท่า ในวันเดียว และมั่นใจว่า ราคาที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จะถูกปั่นให้สูงขึ้นไปอีกในช่วงนี้

เกรดรองลงมา คือ “คอมเมอร์เชียล เกรด” (Commercial Grade) เป็นเอทิลแอลกอฮอล์ 95% ใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง หรือสเปรย์ต่างๆ ที่ฉีดพ่น แม้จะกินไม่ได้ แต่เมื่อสัมผัสกับผิวหนังหรือร่างกายก็ไม่ส่งผลใดๆ

เกรดต่อมา คือ “เกรดไอพีเอ” หรือ ไอโซโพรพิล แอลกอฮอล์ (Isopropyl alcohol หรือ IPA) หรือ “แอลกอฮอล์ล้างแผล” ฆ่าเชื้อ เป็นยาใช้ภายนอกอย่างเดียว ราคาถูกกว่า มีกลิ่นฉุนกว่า ซึ่งไม่เหมาะกับการใช้ทำแอลกอฮอล์ล้างมือ เพราะเป็นเกรดที่กินไม่ได้ เมื่อล้างมือแล้วไปหยิบจับอาหารเข้าปาก ก็จะมีผลกระทบกับร่างกาย

ที่น่าสนใจคือ สถานการณ์เวลานี้ เมื่อเอทิลแอลกอฮอล์ 99.9% (Food Grade) ขาดตลาด ทำให้ผู้ผลิตหันไปใช้ แอลกอฮอล์ 95% (Commercial Grade) ซึ่งก็เริ่มเหลือน้อยจนมีราคาสูงขึ้นตามมาแล้ว นั่นส่งผลให้มีผู้ผลิตบางรายไปใช้แอลกอฮอล์เกรด IPA ที่เป็นยาใช้ภายนอกมาผสมทำเจลแอลกอฮอล์ล้างมือออกจำหน่าย และมีปะปนในท้องตลาดมาประมาณ 2 เดือนแล้ว


หลังกระทรวงสาธารณสุขเริ่มปรับยุทธวิธีมารณรงค์ว่า คนที่ไม่ป่วย ไม่จำเป็นต้องใช้หน้ากากอนามัยเกรดเดียวกับที่ใช้ในโรงพยาบาลก็ได้ ทำให้มีแนวโน้มว่า แอลกอฮอล์ ซึ่งจะถูกนำไปเป็นส่วนผสมของเจลล้างมือ จะเป็นสินค้าที่มีความต้องการมากกว่าหน้ากากอนามัยในเวลาอันใกล้ ประกอบกับมีประกาศดังกล่าว ทำให้โรงงานเครื่องสำอาง ไม่สามารถผลิตได้ในอีกไม่กี่วัน จนมีแนวโน้มนำไปสู่การกักตุน ราคาจึงพุ่งสูงขึ้น

แต่แหล่งข่าวก็มั่นใจว่า การปั่นราคาด้วยการกักตุนวัตถุดิบ หรือ ผลิตมาแล้วแต่ยังไม่นำออกมาจำหน่าย ซึ่งกำลังทำกันอยู่ในขณะนี้ ไม่น่าจะทำได้ยาวนาน เพราะแอลกอฮอล์เป็นสินค้าที่ถูกควบคุมการจำหน่ายโดยกรมสรรพสามิต ต่างจากหน้ากากอนามัยที่ไม่ถูกควบคุม ดังนั้นเมื่อผ่านไปซักระยะหนึ่ง ราคาก็จะค่อยๆ ลดลง

เพียงแต่ยังบอกไม่ได้ว่า ราคาในช่วงนี้จะถูกปั่นขึ้นไปสูงมากขนาดไหน ถ้าถูกปั่นราคาจนสูงมากก็อาจจะลดลงมาได้อย่างช้าๆ


ก่อนจะซื้อ หรือก่อนจะใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ให้สังเกตให้ดี เพราะที่จำหน่ายกันกันอยู่ในเวลานี้ มีบางชนิดที่เขียนโฆษณาข้างขวดว่า “มีแอลกอฮอล์ 99.9%” เป็นสารตั้งต้นก็จริง แต่ต้องต้องดูส่วนผสมอื่นด้วย ให้แน่ใจว่าเมื่อผสมไปแล้วต้องเหลือแอลกอฮอล์จริงๆ ประมาณ 60-70% จึงจะใช้ฆ่าเชื้อโควิด 19 ได้ (70% ดีที่สุด)

แต่ถ้าต่ำกว่านี้ก็ไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ และยังมีบางยี่ห้อที่จำหน่ายเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ด้วยการเอาของที่ผสมแล้วมีแอลกอฮอล์ 70% มาผสมอีกครั้งเพื่อขายต่อ ทำให้ได้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ที่มีแอลกอฮอล์เหลือไม่ถึง 50% ด้วยซ้ำ ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้
กำลังโหลดความคิดเห็น