xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 23-29 ก.พ.2563

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

1.รวบ “บรรยิน” พร้อมพวก อุ้มฆ่าแล้วเผาพี่ชายผู้พิพากษา หลังขู่ให้ยกฟ้องคดี “โอนหุ้นชูวงษ์” ไม่สำเร็จ!

พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอดีต ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชาชน
เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ตำรวจคอมมานโดกองปราบปรามนับร้อยนายได้ลงพื้นที่ตรวจค้นบ้านพักของ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อายุ 56 ปี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอดีต ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชาชน ที่ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ หลังตกเป็นผู้ต้องสงสัยฆ่าอำพรางศพนายวีรชัย ศกุนตะประเสริฐ อายุ 67 ปี พี่ชาย น.ส.พนิดา ศกุนตะประเสริฐ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งเป็นเจ้าของสำนวนคดีปลอมแปลงเอกสารโอนหุ้นนายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง 300 ล้านบาท ที่ พ.ต.ท.บรรยินตกเป็นจำเลย เพื่อบีบบังคับให้ น.ส.พนิดา ยกฟ้องคดีที่ศาลฯ นัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 20 มี.ค.นี้ แต่เมื่อบีบบังคับ น.ส.พนิดา ไม่สำเร็จ จึงลงมือฆาตกรรมนายวีรชัย และอำพรางศพ

ก่อนหน้าจับกุม พ.ต.ท.บรรยิน เจ้าหน้าที่ได้จับกุมลูกน้องคนสนิทของ พ.ต.ท.บรรยิน 3 คน ซึ่งลูกน้องได้ซัดทอดว่า พ.ต.ท.บรรยินเป็นผู้สั่งการ ซึ่งต่อมาตำรวจได้สอบสวนขยายผลเพิ่มเติม จนสามารถจับกุมได้ทั้งหมด 6 คน ประกอบด้วย พ.ต.ท.บรรยิน, นายมานัส ทับนิล, นายณรงค์ศักดิ์ ป้อมจันทร์, นายประชาวิทย์ ศรีทองสุข, นายชาติชาย เมณฑ์กูล และ ด.ต.ธงชัย วจีสัจจะ หรือ สจ.อ๊อด

โดยเจ้าหน้าที่ได้นำตัวผู้ต้องหาขอศาลฝากขัง พ.ต.ท.บรรยินกับพวกรวม 12 วัน โดยคำร้องสรุปว่า ผู้ต้องหาทั้ง 6 คน ได้สมคบกันเพื่อลักพาตัวนายวีรชัย พี่ชาย น.ส.พนิดา เพื่อนำไปข่มขู่ให้ น.ส.พนิดาพิพากษายกฟ้อง พ.ต.ท.บรรยิน กับพวก พร้อมทั้งให้คืนเงินกับหุ้นในคดีทั้งหมดแก่ พ.ต.ท.บรรยิน โดยมีการวางแผนและแบ่งหน้าที่กันทำ โดยผู้ต้องหาได้สะกดรอยเฝ้าดูพฤติการณ์ของ น.ส.พนิดา และนายวีรชัย กระทั่งทราบว่า ในแต่ละวัน นายวีรชัยจะนั่งรถแท็กซี่จากบ้านพักมารับ-ส่ง น.ส.พนิดาที่ศาลอาญากรุงเทพใต้เป็นประจำ

ต่อมา วันที่ 4 ก.พ. พ.ต.ท.บรรยิน จึงได้ร่วมกับพวกก่อเหตุ โดยหลังจากนายวีรชัยลงจากแท็กซี่ที่หน้าศาลอาญาฯ พ.ต.ท.บรรยินกับพวกได้ร่วมกันนำตัวนายวีรชัยขึ้นรถ แล้วขับออกไป เมื่อ น.ส.พนิดา โทรศัพท์ไปหานายวีรชัย ทาง พ.ต.ท.บรรยิน ได้ออกอุบายว่า นายวีรชัยเกิดอุบัติเหตุ เมื่อ น.ส.พนิดา ตรวจสอบตามโรงพยาบาลแล้วไม่พบ จึงไปแจ้งความต่อตำรวจ ระหว่างนั้น น.ส.พนิดาได้โทรศัพท์ไปยังหมายเลขของนายวีรชัยอีกครั้ง พ.ต.ท.บรรยินกับพวกได้พูดข่มขู่ น.ส.พนิดา ให้พิพากษายกฟ้อง พ.ต.ท.บรรยิน หากไม่ทำตาม จะฆ่านายวีรชัย

หลังจากนั้น พ.ต.ท.บรรยินกับพวกได้ร่วมกันฆ่านายวีรชัย ก่อนนำศพไปเผาอำพรางในพื้นที่ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ก่อนนำชิ้นส่วนศพที่ยังเผาไม่หมด รวมทั้งเถ้ากระดูกในจุดที่เผา ไปทิ้งลงแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อทำลายหลักฐานในการกระทำผิด

ด้านศาลอนุญาตให้ฝากขัง โดยพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันผู้ต้องหาทั้ง 6 คน เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูงเกิน 3 ปี และเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ซึ่ง พ.ต.ท.บรรยินให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และขอให้การในชั้นศาล

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่พบหลักฐานเป็นชิ้นส่วนเศษกระดูกที่ถูกเผา รวมถึงแหวน และเศษซากยางรถยนต์ที่ไฟเผาไม่หมดรวม 28 รายการ นอกจากนี้ยังตำรวจน้ำยังพบหลักฐานเศษซากกระดูกที่ถูกทิ้งลงในแม่น้ำอีกหลายชิ้น ก่อนนำไปตรวจพิสูจน์ว่าตรงกับดีเอ็นเอของนายวีรชัยหรือไม่

ต่อมา 27 ก.พ. มีรายงานว่า ผลตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอของชิ้นส่วนบริเวณกะโหลกศีรษะที่พบในพื้นที่รกร้าง จ.นครสวรรค์ และคราบเลือดที่พบบนรถโตโยต้า สปอร์ตไรเดอร์ ที่ผู้ต้องหาใช้เป็นพาหนะในการก่อเหตุ มีผลอย่างไม่เป็นทางการออกมาแล้วว่า ตรงกับดีเอ็นเอของนายวีรชัย ส่วนผลอย่างเป็นทางการ คาดว่าจะออกมาภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งเมื่อผลออกมาอย่างเป็นทางการ พนักงานสอบสวนจะแจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาทั้ง 6 รายเพิ่มอีก 4 ข้อหา ฐาน “ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้, ร่วมกันหน่วงเหนี่ยว หรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังฯ นั้นถึงแก่ความตาย, ซ่อนเร้นอำพรางศพ และเรียกค่าไถ่ เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย”

นอกจากนี้จะแจ้งข้อหา พ.ต.ท.บรรยินเพิ่มอีก 3 ข้อหา ฐาน “แต่งกายโดยใช้เครื่องแต่งกายคล้ายเครื่องแบบตำรวจ, แสดงตัวเป็นเจ้าพนักงาน และแต่งเครื่องแบบตำรวจโดยไม่มีสิทธิ์” เนื่องจากในวันก่อเหตุอุ้มนายวีรชัยที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ พ.ต.ท.บรรยินใส่เครื่องแบบตำรวจไปแสดงตัวกับนายวีรชัย เพื่อขอตรวจสอบบัตรประชาชนและเชิญตัวขึ้นรถไป

ด้านนายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เผยเมื่อวันที่ 27 ก.พ.ว่า น.ส.พนิดา ต้องการให้แจ้งข้อมูลต่อสื่อมวลชนว่า อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้มีคำสั่งเรียกสำนวนคดีโอนหุ้นนายชูวงษ์ ที่ น.ส.พนิดา เป็นเจ้าของสำนวนกลับคืนแล้ว โดยจะมีการมอบสำนวนคดีดังกล่าวให้ผู้พิพากษาคนอื่นเป็นผู้ทำคำพิพากษาแทนตามระเบียบและกฎหมาย โดยเหตุผลที่มีการเรียกคืนสำนวน เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมของศาล เกรงว่าคนภายนอกจะเข้าใจผิดในการทำงานของศาล

2.“บิ๊กตู่” พร้อม 5 รมต. ผ่านศึกซักฟอกฉลุย “บิ๊กป้อม” ได้เสียงไว้วางใจมากสุด “ธรรมนัส” น้อยสุด!

(บนขวา) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม (บนซ้าย) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ (ล่างขวา) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย (ล่างซ้าย) ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์
เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ได้มีการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาญัตติการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลตามที่ฝ่ายค้านยื่นขอเปิดอภิปรายฯ ซึ่งมีข้อตกลงกันไว้แล้วว่า การอภิปรายจะจบในเวลา 19.00 น.วันที่ 27 ก.พ. ไม่รวมการสรุป และลงมติในวันที่ 28 ก.พ. โดยผู้ที่ถูกอภิปราย ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ทั้งนี้ การอภิปรายเริ่มด้วยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ กล่าวเปิดอภิปรายฯ โดยชี้ความล้มเหลว 5 ประการ คือ 1. ล้มเหลวต่อการสร้างความเชื่อมั่นการเมืองในระบอบประชาธิปไตย 2.ล้มเหลวในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 3.ล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 4.ล้มเหลวในการปราบทุจริตคอร์รัปชั่น และ 5.ล้มเหลวในภาวะความเป็นผู้นำของนายกฯ

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ ลุกขึ้นชี้แจงโดยยืนยันว่า ไม่เคยมีแนวคิดล้มล้างรัฐธรรมนูญหรือไม่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยตามที่ถูกอภิปรายกล่าวหา และว่า ทุกท่านทราบดีอยู่แล้วว่า ก่อนวันที่ 22 พ.ค.2557 เกิดอะไรขึ้น ภาพที่ปรากฏทางโทรทัศน์ในปี 2553 และ 2557 นั่นแหละที่ทำให้ต้องมายืนอยู่ตรงนี้ ตนจำเป็นต้องแก้ปัญหาของประเทศให้มีความสงบเรียบร้อย แล้วเดินหน้ามาสู่การเลือกตั้ง มีรัฐธรรมนูญ ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนทั้งหมด...

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในขณะที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และรัฐมนตรีในสภาฯ ปรากฏว่า น.ส.พรรณิการ์ วานิช อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะคณะกรรมการอนาคตใหม่ ได้แถลงอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา โดยตอนหนึ่ง น.ส.พรรณิการ์อ้างว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีความเกี่ยวข้องกับคดี 1MDB ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของมาเลเซีย ที่ก่อตั้งโดยนายนาจิบ ราซัก อดีตนายกฯ มาเลเซีย โดยอ้างว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ปกปิดข้อเท็จจริง หลังมีการจับกุมนายชาเบียร์ ฆุสโต ผู้ที่เปิดเผยข้อมูลการทุจริตกองทุนในคดีดังกล่าวได้ที่ประเทศไทย...

ต่อมา ผู้สื่อข่าวได้ถามเรื่องนี้กับ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวทำนองสอน น.ส.พรรณิการ์ ว่า การกล่าวหาว่ารัฐบาลมีส่วนร่วมคดีทุจริต คิดว่าต้องระมัดระวัง เพราะเป็นเรื่องระหว่างประเทศ พร้อมชี้ว่า การกล่าวหาดังกล่าว มีลักษณะจับแพะชนแกะ นำเรื่องโน้นเรื่องนี้เชื่อมโยงกันไปมา ซึ่งคิดว่าหน่วยงานต่างๆ มีข้อมูลอยู่แล้ว และคงนำไปสู่การดำเนินการทางกฎหมาย

ด้าน พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้ออกมาชี้แจงกรณี น.ส.พรรณิการ์กล่าวหาว่ารัฐบาลมีส่วนปกปิดซ่อนเร้นคดี 1MDB ว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้รับตัวนายจัสโต้ ซาเวียร์ อันเดร ไว้ในการควบคุมเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2558 ตามหมายขังของศาล ต่อมามีคำพิพากษาของศาลอาญากรุงเทพใต้ วันที่ 17 ส.ค.2558 ตัดสินให้จำคุกผู้ต้องขังดังกล่าว ในข้อหารีดเอาทรัพย์ โดยจำเลยเคยเป็นลูกจ้างบริษัท ปิโตรซาอุดิ อินเตอร์เนชันแนล จำกัด เมื่อบริษัทเลิกจ้างจำเลยตามกฎหมายแล้ว จำเลยกลับขู่ว่าจะเปิดเผยความลับของบริษัท หากบริษัทไม่ยอมจ่ายเงิน 2.5 ล้านฟรังก์สวิส (ประมาณ 80.6 ล้านบาท) การกระทำของจำเลยถือว่าผิดร้ายแรง จึงถูกลงโทษจำคุก 3 ปี

ระหว่างถูกคุมขัง กระทรวงการต่างประเทศได้ส่งหนังสือคำร้องขอโอนตัวนายจัสโต้ เพื่อกลับไปรับโทษต่อยังประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ต่อมาวันที่ 14 ก.ย.2559 ได้มีมติไม่เห็นชอบให้โอนตัวนายจัสโต้ เนื่องจากมีคุณสมบัติขัดต่อ พ.ร.บ.การปฏิบัติเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ คือต้องรับโทษในราชอาณาจักรเหลืออยู่น้อยกว่า 1 ปี แต่ขณะนั้นนายจัสโต้เพิ่งถูกจำคุก 1 ปี 6 เดือนเท่านั้น ซึ่งในเวลาต่อมา นายจัสโต้ได้รับการปล่อยตัวไป ตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ โดยกรมราชทัณฑ์ได้มอบตัวนายจัสโต้ให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองดำเนินการตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยมีเจ้าหน้าที่สถานทูตสวิสเซอร์แลนด์ร่วมสังเกตการณ์ นายจัสโต้ได้เดินทางออกจากประเทศไทยไปเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2559 ด้วยเที่ยวบินที่ TG 970 จึงขอยืนยันว่า กระบวนการควบคุมตัวนายจัสโต้ ไปจนถึงการปล่อยตัว เป็นการดำเนินการตามกฎหมายอย่างถูกต้องตามหลักสากลทุกประการ

เป็นที่น่าสังเกตว่า การประชุมสภาฯ ในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่สาม ต้องหยุดการประชุมชั่วขณะ หลังจากพบว่า มี ส.ส.คนหนึ่งเพิ่งกลับจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงโรคระบาดไวรัสโคโรนา และมาร่วมประชุมสภาด้วย จึงมีสมาชิกเสนอให้ ส.ส.ดังกล่าวไม่ต้องมาประชุม และเสนอให้การประชุมวันดังกล่าวเลิกประชุมเร็วขึ้น เพื่อทำความสะอาดห้องประชุมครั้งใหญ่

ทั้งนี้ ในการประชุมสภาฯ วันที่สี่ ได้มี ส.ส.พรรคเพื่อไทยขอหารือกรณีมีการชุมนุมของนักศึกษาหลายมหาวิทยาลัย ไม่อยากให้เกิดเหตุร้ายแรงหรือลุกลามบานปลาย ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า กังวลกับเหล่านี้ที่อาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจถูกชักชวน อาจถูกปลุกมาโดยฟังความข้างเดียว ขอให้นักศึกษาทุกคนที่ชุมนุมเวลานี้ ช่วยฟังข้อมูลของรัฐบาลที่ได้แถลงออกไปและเลือกฟังดูว่า จะเชื่อทางไหนอย่างไร “ผมไม่ได้โกรธเด็กๆ หลานๆ ลูกๆ เลย เพราะเขาเป็นผู้ที่มีแรงกระตุ้นพอสมควร ...ผมไม่โทษนักศึกษา แต่ผมอาจจะต้องกล่าวถึงคนที่ไปนำสิ่งเหล่านี้ออกมา ผมคิดว่าอันตรายที่สุด และต้องเตือนว่า ขณะนี้ได้มีการนำเรื่องหมิ่นสถาบันเข้าไปขับเคลื่อนด้วย”

เป็นที่น่าสังเกตว่า ช่วงเย็นของการอภิปรายฯ ในวันที่สี่ซึ่งต้องจบตามข้อตกลง ปรากฏว่า ฝ่ายค้านได้ต่อรองขอเวลาอภิปรายเพิ่ม โดยยอมรับว่าเป็นการบริหารเวลาผิดพลาดของฝ่ายค้าน ทำให้ยังมีรัฐมนตรีบางคนที่ยังไม่ถูกอภิปราย เช่น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่ฝ่ายรัฐบาลไม่เห็นด้วยให้เพิ่มเวลา ต้องการให้ยึดตามข้อตกลงเดิม ฝ่ายค้านจึงไม่พอใจ และมีการวอล์กเอาต์ ซึ่งในที่สุด ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้ปิดอภิปรายด้วยคะแนน 251 เสียง งดออกเสียง 7 และไม่ลงคะแนน 2 เสียง

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวปิดท้ายการประชุมอภิปรายฯ โดยขอบคุณที่ได้ให้โอกาสฝ่ายรัฐบาลได้ชี้แจงข้อเท็จจริง “ผมจะทำงานโดยไม่เลือกพื้นที่ ไม่เลือกข้าง จะดูแลให้ทั่วถึงทุกภาค ทุกกลุ่ม ทุกจังหวัด ให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน คำนึงถึงคนทุกกลุ่มทุกฝ่าย เราไม่ใช่ศัตรูกัน เรายังมีปัญหาอีกมากทั้งเก่าและใหม่ เราจะต้องคำนึงถึงรัฐธรรมนูญ กฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง สิ่งสำคัญคือ ความสงบสุข ทุกฝ่ายต้องเข้าใจกัน เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน มีความซื่อสัตย์ต่อกัน รักษาสิทธิ เคารพกฎหมาย ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน เพื่อนำความสงบสุขของประเทศกลับคืนมา”

วันต่อมา (28 ก.พ.) ที่ประชุมสภาฯ ได้มีการลงมติในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ผลปรากฏว่า ในการลงมติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จำนวนผู้เข้าประชุม 323 คน เห็นด้วยกับญัตติไม่ไว้วางใจ 49 คน ไม่เห็นด้วย 272 คน งดออกเสียง 2 คน, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จำนวนผู้เข้าประชุม 329 คน เห็นด้วยกับญัตติไม่ไว้วางใจ 50 คน ไม่เห็นด้วย 277 คน งดออกเสียง 2 คน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ จำนวนผู้เข้าประชุม 325 คน เห็นด้วยกับญัตติไม่ไว้วางใจ 54 คน ไม่เห็นด้วย 272 คน งดออกเสียง 2 คน, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จำนวนผู้เข้าประชุม 328 คน เห็นด้วยกับญัตติไม่ไว้วางใจ 54 คน ไม่เห็นด้วย 272 คนงดออกเสียง 2 คน, นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จำนวนผู้เข้าประชุม 326 คน เห็นด้วยกับญัตติไม่ไว้วางใจ 55 คนไม่เห็นด้วย 272 คน งดออกเสียง 2 คน, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวนผู้ร่วมประชุม 331 คน เห็นด้วยกับญัตติไม่ไว้วางใจ 55 คน ไม่เห็นด้วย 269 คน งดออกเสียง 7 คน

3.ไทยพบผู้ติดเชื้อโคโรนาเพิ่ม 6 รายใน 1 สัปดาห์ ด้าน สธ.ประกาศให้ “ไวรัสโคโรนา” เป็นโรคติดต่ออันตรายแล้ว!

(ขวา) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข (ซ้าย) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
เมื่อวันที่ 24 ก.พ. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ซึ่งต่อมา ที่ประชุมได้มีมติเอกฉันท์ ให้ประกาศว่า ไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคติดต่ออันตรายลำดับที่ 14 ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยจะมีการร่างประกาศดังกล่าว ก่อนให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามโดยเร็วที่สุด และจะมีผลบังคับใช้เมื่อมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

ซึ่งล่าสุด วันนี้ (29 ก.พ.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศของกระทรวงสาธารณสุขที่ให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 (COVID-19) เป็นโรคติดต่ออันตรายเรียบร้อยแล้ว พร้อมระบุว่า โรคดังกล่าว มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย หรือมีอาการของโรคปอดอักเสบ ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และอาจถึงขั้นเสียชีวิต

ทั้งนี้ ประกาศที่ให้ไวรัสโคโรนาเป็นโรคติดต่ออันตรายจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 1 วัน หรือวันที่ 1 มี.ค.2563 เป็นต้นไป ซึ่งเมื่อมีผลบังคับใช้แล้ว จะดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ผู้ใดฝ่าฝืน จะมีโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาในไทยนั้น เมื่อวันที่ 25 ก.พ. กระทรวงสาธารณสุขแถลงพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2 ราย รวมเป็น 37 ราย โดยรายใหม่รายแรกเป็นหญิงไทย อายุ 31 ปี เป็นแม่บ้าน ประวัติไม่เคยเดินทางไปจีน แต่มีสมาชิกในครอบครัวเดินทางกลับจากเมืองกว่างโจว รักษาตัวที่ รพ.ราชวิถี ส่วนรายที่ 2 เป็นเป็นชายไทย อายุ 29 ปี ทำงานสัมผัสใกล้ชิดนักท่องเที่ยวชาวจีน รักษาตัวที่สถาบันบำราศนราดูร

วันต่อมา 26 ก.พ. กระทรวงสาธารณสุขแถลงพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนารายใหม่อีก 3 ราย ซึ่งอยู่ในครอบครัวเดียวกัน โดยรายแรกเป็นชายไทย อายุ 65 ปี เดินทางไปเที่ยวเมืองฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น เข้ารักษาตัวที่ รพ.เอกชน เมื่อวันที่ 23 ก.พ. รายที่ 2 เป็นหญิงไทย อายุ 62 ปี เป็นภรรยาของผู้ป่วยรายแรก ติดเชื้อจากประเทศญี่ปุ่น ส่วนรายที่ 3 เป็นเด็กชายไทย อายุ 8 ปี ซึ่งเป็นหลานของผู้ป่วยสองรายแรก และไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศ แต่เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายแรก

วันเดียวกัน (26 ก.พ.) โรงพยาบาลบี.แคร์ เมดิคอล เซ็นเตอร์ ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า ผู้ป่วยชายไทย อายุ 65 ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา ได้เข้าตรวจรักษาที่โรงพยาบาลเมื่อวันที่ 23 ก.พ.และปฏิเสธว่าไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศ เมื่อแพทย์เข้าตรวจและสอบถามประวัติอีกครั้งในวันที่ 24 ก.พ.ก็ยังคงปฏิเสธ กระทั่งช่วงสายวันเดียวกัน จึงเผยประวัติว่า ได้เดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยง ทางโรงพยาบาลจึงแยกผู้ป่วย และตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนา และว่า จากการที่ผู้ป่วยปกปิดและปฏิเสธประวัติการเดินทางไปต่างประเทศ ส่งผลให้บุคลากรทั้งแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ของ รพ.ที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโคโรนา 30 คน จึงได้ตรวจเพื่อเฝ้าระวังโรคและให้ทุกคนหยุดงานที่บ้านเพื่อสังเกตอาการ 14 วัน

นอกจากนี้ โรงเรียนพระหฤทัยดอนเมือง ซึ่งเป็นโรงเรียนที่หลานของผู้ป่วย 2 รายดังกล่าว ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาด้วย และเด็กชายดังกล่าวได้ไปเรียนตามปกติช่วงที่ยังไม่ทราบว่าติดเชื้อ ส่งผลให้ทางโรงเรียนต้องประกาศปิดเรียน 14 วัน เพื่อทำความสะอาดโรงเรียนและให้เด็กๆ ได้สังเกตอาการที่บ้าน

ไม่เท่านั้น ทางธนาคารธนชาติยังได้ประกาศปิดธนาคารธนชาติสาขาดอนเมือง ซึ่งบิดาของเด็กชายที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาจากปู่ ทำงานอยู่ และให้พนักงานคนดังกล่าวแยกตัวเองเพื่อเฝ้าระวังโรคเป็นเวลา 14 วัน

ล่าสุด วันนี้ (29 ก.พ.) กระทรวงสาธารณสุข แถลงพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาเพิ่มอีก 1 ราย รวมยอดสะสมเป็น 42 ราย โดยรายล่าสุดนี้เป็นชาย อายุ 21 ปี อาชีพพนักงานขาย สัมผัสใกล้ชิดกับชาวต่างชาติ เริ่มมีอาการป่วยวันที่ 24 ก.พ. และเข้ารับการรักษาวันที่ 25 ก.พ. ขณะนี้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อแนะนำประชาชนเลี่ยงเดินทางไปประเทศเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งขณะนี้มี 9 ประเทศ คือ จีน ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อิตาลี และอิหร่าน หากจำเป็นต้องเดินทางไป หลังจากกลับมา ให้อยู่บ้านเฝ้าระวังอาการ 14 วัน เพื่อรับผิดชอบตัวเองและสังคม หากมีอาการป่วยใน 14 วัน ให้เดินทางไป รพ.ใกล้บ้าน แจ้งข้อมูลกับสถานพยาบาลโดยไม่ปกปิด หรือโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

4.ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 10 ปี 2 “ชายชุดดำ” พกอาวุธสงครามร่วมม็อบ นปช.แยกคอกวัว!


เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีชายชุดดำในที่ชุมนุมกลุ่ม นปช. เมื่อปี 2553 คดีที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายกิตติศักดิ์ สุ่มศรี หรืออ้วน อายุ 51 ปี ชาว กทม., นายปรีชา อยู่เย็น หรือไก่เตี้ย อายุ 30 ปี ชาวเชียงใหม่, นายรณฤทธิ์ สุริชา หรือนะ อายุ 39 ปี ชาวอุบลราชธานี, นายชำนาญ ภาคีฉาย หรือเล็ก อายุ 51 ปี ชาว กทม. และนางปุนิกา ชูศรี หรืออร อายุ 44 ปี ชาว กทม. เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันพกพาอาวุธไปในที่สาธารณะ หรือชุมชน และมีอาวุธ เครื่องกระสูนปืน และวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน ฯ พ.ศ.2490 มาตรา 4, 8 ทวิ, 55, 72 ทวิ และ 78

คดีนี้ อัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2557 สรุปพฤติการณ์ว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 จำเลยทั้งห้ากับพวกที่ยังหลบหนี และพวกที่ถึงแก่ความตายไปแล้ว ร่วมกันพกอาวุธ เครื่องกระสุนและวัตถุระเบิด ที่สามารถใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินให้เกิดความเสียหายได้ อาทิ เครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79, ปืนเอ็ม 16, ปืนเอชเค 33 หรือปืนอาก้า ซึ่งนายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ไปตามบริเวณแยกคอกวัว ถ.ตะนาว, ถ.ประชาธิปไตย แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร ในช่วงที่มีกลุ่มชายชุดดำ ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

ซึ่งศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ม.ค.2560 จำคุกจำเลยที่ 1-2 คนละ 10 ปี ส่วนจำเลยที่ 3-5 ยกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย แต่ให้ขังจำเลยไว้ระหว่างอุทธรณ์ ซึ่งต่อมา จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ ขณะที่จำเลยที่ 3, 4 และ 5 ได้ยื่นประกันตัวไปคนละ 200,000 บาท

เมื่อถึงกำหนดนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ (26 ก.พ.) ศาลได้เบิกตัวนายกิตติศักดิ์ จำเลยที่ 1 และนายปรีชา จำเลยที่ 2 มาจากเรือนจำ เพื่อฟังคำพิพากษา ส่วนจำเลยที่ 3-5 ที่ศาลยกฟ้องและได้รับการประกันตัวไป ได้เดินทางมาศาลเพื่อฟังคำพิพากษาอุทธรณ์

ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3, 4, 5 และลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และ 2 คนละ 10 ปีนั้นเหมาะสมกับพฤติการณ์แล้ว ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืน และให้ริบเครื่องยิงลูกระเบิด M 79 พร้อมเครื่องกระสุนของกลาง กับให้ขังจำเลยที่ 3-5 ระหว่างรอฎีกา โดยในส่วนของจำเลย 3-5 ที่ศาลยกฟ้อง มีสิทธิยื่นขอประกันตัวได้ตามกฎหมาย

5.ศาลฎีกาออกหมายจับ “ปลอดประสพ” หลังเบี้ยวนัดฟังคำพิพากษาคดีโยกย้ายลูกน้องโดยมิชอบ!

นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่นายวิฑูรย์ ชลายนนาวิน อดีตรองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายปลอดประสพ สุรัสวดี อายุ 75 ปี อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

คดีนี้ โจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ย.2546 นายบรรพต หงษ์ทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขณะนั้น มีคำสั่งแต่งตั้งนายวิฑูรย์ โจทก์ ดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนัก (นักวิชาการป่าไม้ 9) สำนักส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรสหกรณ์ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2546 แต่หลังจากนั้นมีการตรา พ.ร.ฎ.โอนป่ากรมป่าไม้ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีผลเมื่อลงราชกิจจานุเบกษาวันที่ 30 ก.ย. 2546 ซึ่งขณะนั้นโจทก์ดำรงตำแหน่ง ผอ.กองการอนุญาต กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ต่อมาวันที่ 1 ต.ค. 2546 -12 พ.ย. 2556 จำเลยซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2546 ให้ระงับการมอบหมายงานในหน้าที่ตามคำสั่งที่แต่งตั้งโจทก์ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนัก (นักวิชาการป่าไม้ 9) โดยให้ถือว่าเป็นการยกเลิกคำสั่งดังกล่าวไว้ก่อน อันเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยไม่ชอบ เพื่อยังยั้งไม่ให้โจทก์ได้เลื่อนตำแหน่ง สาเหตุเนื่องจากโจทก์กับจำเลยมีเรื่องโกรธเคืองในเรื่องส่วนตัวกันมาก่อน

กระทั่งวันที่ 12 พ.ย. 2546 จำเลยกลั่นแกล้งโจทก์ ด้วยการให้นายดำรงค์ พิเดช ออกคำสั่งกรมป่าไม้ ย้ายโจทก์ไปดำรงตำแหน่งป่าไม้จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญระดับ 8 เป็นการย้ายให้ปฏิบัติหน้าที่ต่ำกว่าระดับเดิม อีกทั้งก็ไม่ใช่ความจำเป็นที่ต้องรีบดำเนินการ และจำเลยก็ทราบดีว่า นายดำรงค์ไม่มีอำนาจสั่งย้ายโจทก์ ดังนั้นคำสั่งย้ายที่จำเลยให้ความเห็นชอบนั้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นผลให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อเสียชื่อเสียง และเสียสิทธิไม่ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นระดับ 9 จึงขอให้ชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ด้วย 2 ล้านบาท ซึ่งนายปลอดประสพ จำเลย ให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดีมาโดยตลอด

ต่อมา ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2560 ให้จำคุกนายปลอดประสพ จำเลย 1 ปี และปรับ 20,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา ไว้ 2 ปี และให้จำเลยชดใช้เงินค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย 1.4 ล้านบาท ต่อมา ทั้งโจทก์และจำเลยต่างยื่นอุทธรณ์

ด้านศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2561 ว่า ที่ศาลชั้นต้นให้รอการลงโทษจำเลยนั้น ศาลอุทธรณ์ฯ ไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิด ตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 84 อีกกรรมหนึ่งที่ใช้ให้นายดำรงค์โยกย้ายโจทก์ จึงให้จำคุก 2 กระทงๆ ละ 1 ปี รวมโทษจำคุกทั้งสิ้น 2 ปี โดยไม่รอการลงโทษ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 1.4 ล้านบาทด้วย โดยนายปลอดประสพ จำเลย ได้ประกันตัวระหว่างฎีกา ด้วยหลักทรัพย์ 400,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

เมื่อถึงกำหนดนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา (26 ก.พ.) ซึ่งเป็นการนัดอ่านครั้งที่ 2 หลังจากเคยเลื่อนมาแล้วครั้งหนึ่ง ปรากฏว่า นายปลอดประสพ จำเลย ไม่มาศาล โดยมีผู้รับมอบอำนาจมายื่นคำร้องขอเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาฎีกา โดยระบุว่า มีอาการป่วย แต่ศาลพิจารณาแล้วให้ยกคำร้อง และมีคำสั่งให้ปรับนายประกันตามจำนวนประกันด้วย 400,000 บาท พร้อมให้ออกหมายจับนายปลอดประสพ จำเลย เพื่อมาฟังคำพิพากษาฎีกาในนัดต่อไปวันที่ 7 เม.ย.นี้ เวลา 10.00 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น