ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 2 ชายชุดดำ คนละ 10 ปี พกพาอาวุธปืน-ระเบิด M-79 เหตุม็อบ นปช.ป่วนเมืองปะทะทหารเสียชีวิตและบาดเจ็บ แยกคอกวัว ปี 53
วันนี้ (26 ก.พ.) ที่ห้องพิจารณา 709 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อ.4022/2557 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายกิตติศักดิ์ หรืออ้วน สุ่มศรี อายุ 49 ปีเศษ ชาวกรุงเทพมหานคร, นายปรีชา หรือไก่เตี้ย อยู่เย็น อายุ 29 ปีเศษ ชาวจังหวัดเชียงใหม่, นายรณฤทธิ์ หรือนะ สุริชา อายุ 38 ปีเศษ ชาวจังหวัดอุบลราชธานี, นายชำนาญ หรือเล็ก ภาคีฉาย อายุ 50 ปีเศษ ชาวกรุงเทพมหานคร และนางปุนิกา หรืออร ชูศรี อายุ 44 ปีเศษ ชาวกรุงเทพมหานคร เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธ เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 8 ทวิ 55, 72, 78 และข้อหาพาอาวุธปืนไปในเมือง ที่ชุมชน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต
คำฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 จำเลยทั้ง 5 คนกับพวกที่ยังหลบหนี และพวกที่ถึงแก่ความตายไปแล้ว ได้บังอาจร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน โดยร่วมกันพาอาวุธ เครื่องกระสุน และวัตถุระเบิด ที่สามารถใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินให้เกิดความเสียหายได้ อาทิ เครื่องยิงลูกระเบิด เอ็ม 79 ปืนเอ็ม 16 ปืนเอชเค 33 หรือ ปืนอาก้า ซึ่งนายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไปตามบริเวณแยกคอกวัว ถนนตะนาว ถนนประชาธิปไตย แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กทม. ซึ่งเป็นเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ทั้งในเวลาเกิดเหตุมีการชุมนุมกันของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งวัน เวลาเกิดเหตุ เจ้าพนักงานยึดได้อาวุธสงครามของกลาง กระทั่งวันที่ 11 ก.ย. 2557 เจ้าพนักงานติดตามจับกุมพวกจำเลยทั้ง 5 ส่งพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินคดี
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2560 พิพากษาว่า นายกิตติศักดิ์ จำเลยที่ 1 และนายปรีชา จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธ เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 8 ทวิ 55, 72,78 ให้จำคุกคนละ 8 ปี และฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง ที่ชุมชน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 10 ปี ส่วนจำเลยที่ 3-5 นั้น พิพากษายกฟ้อง แต่ให้ขังไว้ระหว่างอุทธรณ์
ในวันนี้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวนายกิตติศักดิ์, นายปรีชา จำเลยที่ 1-2 มาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ส่วนจำเลยที่ 3-5 ได้รับการประกันตัวเดินทางมาฟังคำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์ว่าถูกบังคับให้รับสารภาพไม่สมัครใจ ไม่ตรงต่อความจริงนั้น พล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าฝ่ายกฎหมายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินการ เหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. 2553 จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเกี่ยวกับการรวมกำลังพลที่บ้านริมน้ำรามอินทรา 34 นำอาวุธสงคราม จำเลยที่ 2 รับสารภาพร่วมกันครอบครองอาวุธสงคราม มีพยานโจทก์เป็นข้าราชการทหารเบิกความ เห็นรถตู้สีขาวเข้ามาในที่เกิดเหตุ ชะลอรถแล้วจำเลยที่ 1 ตะโกนด่า เมื่อมองเข้าไปในรถตู้จึงเห็นอาวุธวางไว้ รวมถึงเห็นกลุ่มชายสวมเสื้อดำคลุมโม่ง เมื่อถอดหมวกคลุมโม่งพบเป็นจำเลยที่ 2 พยานโจทก์ไม่รู้จักกับจำเลยที่ 1-2 มาก่อน เชื่อได้ว่าพยานยืนยันข้อเท็จจริง มีน้ำหนักรับฟังได้ ข้อเท็จจริงของคดีมีรายละเอียดสมเหตุผล พฤติการณ์แห่งคดีชี้ว่าจำเลยที่ 1-2 รับสารภาพด้วยความสมัครใจ ยากที่พนักงานสอบสวนจะแต่งเรื่องปรักปรำ และมีการนำชี้ที่เกิดเหตุเปิดเผยต่อสื่อมวลชน ไม่ปรากฏบาดแผลถูกทำร้ายหรือทรมาน ส่วนกรณีของจำเลยที่ 3-5 นั้น พยานหลักฐานโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงให้สามารถรับฟังได้ กรณีมีความสงสัยตามสมควร
ศาลจึงพิพากษายืนโทษตามศาลชั้นต้น จำคุกจำเลยที่ 1-2 คนละ 10 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 3-5 แต่ให้ขังไว้ระหว่างฎีกา พร้อมให้ริบเครื่องยิงลูกระเบิด M-79 จำนวน 1 กระบอก กับกระสุนลูกระเบิด 1 นัด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับจำเลยที่ 3-5 ที่ศาลยกฟ้อง แต่ให้ขังไว้ระหว่างฎีกานั้น ยังสามารถยื่นประกันตัวระหว่างฎีกาได้