xs
xsm
sm
md
lg

น่ากลัวใกล้ตัว! "อัลไซเมอร์"..เพราะความแก่ยับยั้งไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมองทุกคนมีความเสี่ยง! "อัลไซเมอร์" คือความท้าทายทางการแพทย์ และสังคม เป็นโรคที่ค้นพบเมื่อ ค.ศ. 1906 แต่ผ่านมาแล้วถึง 114 ปี ตอนนี้ยังไม่มีทางรักษาให้หาย ทำได้แค่ประคับประคองให้ความจำถดถอยช้าลง ติดเตียงน้อยลง ภาระหนักอึ้งตกไปอยู่กับลูกหลาน ซึ่งเป็นโรคที่ใช้เงินแพงมาก และเชื่อว่าจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าในอนาคต

"เรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ ญาติเองก็ไม่รู้ว่าเป็น มันมีอาการแปลกๆ เช่นอัลไซเมอร์แบบรื่นเริงก็มี ซึ่งพอรู้ก็มักจะปฎิเสธ ไม่ยอมรับ ไม่อยากให้พ่อแม่ หรือคนในบ้านเป็น จนสุดท้ายพอพบว่าเป็นอัลไซเมอร์ ปัญหาที่ตามมาคือคนดูแล มันสาหัสสากรรจ์มาก บางครอบครัวลูกหลานไม่สามารถดูแลได้ ก็ต้องจ้างคนอื่นมาดูแล ต้องรับมือกับผู้ป่วยที่หงุดหงิด อาละวาด ดีไม่ดีถูกทุบตีอีก ลูกหลานบางคนถึงขั้นกรี๊ดเลยนะ"

นพ.ยุทธ โพธารามิก ประธานมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย เผยถึงความน่าเป็นห่วงในงานกิจกรรม "สร้างสรรค์สังคมไทย ห่างไกลอัลไซเมอร์" ครั้งที่ 11 จัดขึ้นโดยร่วมมือกันระหว่างศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) และมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย ที่โรงแรมตวันนา กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้



นพ.ยุทธ โพธารามิก ประธานมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย

นับเป็นโรคที่น่ากลัว และใกล้ตัวเราทุกคน เห็นได้จากข้อมูลที่น่าตกใจพบว่า ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 1 คนในทุกๆ 68 วินาที ขณะที่ไทยมีผู้สูงอายุประมาณ 7 ล้านคน จากข้อมูลสมาคมผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย พบว่าร้อยละ 10 ของผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีอาการสมองเสื่อม และอัลไซเมอร์คือชนิดหนึ่งของโรคสมองเสื่อมที่พบได้มากที่สุด

ศ.พญ.นันทิกา ทวิชาชาติ รองประธานกรรมการและเลขานุการมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย ให้ความรู้ในงานเดียวกันว่า จุดเริ่มต้นของอัลไซเมอร์เริ่มจากหลงลืมไปจนถึงระดับที่เป็นมาก เช่น ความผิดปกติด้านความจำ การใช้ภาษา ซึ่งขึ้นอยู่กับจุดที่สมองฝ่อ เช่น ฝ่อบริเวณควบคุมความจำ ส่งผลให้ความจำบกพร่อง หรือฝ่อบริเวณควบคุมการเคลื่อนไหว ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเหมือนพาร์กินสันได้ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะเสียชีวิตจากการติดเชื้อ หากได้รับการดูแลไม่ดี หรือผู้ดูแลขาดความรู้ความเข้าใจ


"เราไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงของอัลไซเมอร์ แต่มีปัจจัยเสี่ยงหลายๆ อย่างที่ทำให้เกิดโรคนี้ คือ อายุ เรามักจะพบผู้ป่วยอัลไซเมอร์ตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้หญิงเจอเยอะกว่าผู้ชาย ซึ่งในปัจจุบันอาจไม่ใช่แบบนั้นแล้ว ต้องรอดูข้อมูลระบาดวิทยาใหม่ เดี๋ยวนี้ผู้หญิงเก่ง ทำงานเยอะ ต่างจากสมัยก่อนที่เรียนน้อย ใช้สมองน้อย ปัจจัยเสี่ยงต่อมาคือ พันธุกรรม และโรคทางร่างกาย เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันสูง ซึ่งมีผลต่อเส้นเลือดสมองเล็กๆ ทำให้ค่อยๆ ฝ่อ และตายไป นอกจากนั้นยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ด้วย เช่น สมองถูกกระทบกระเทือน เครียด ซึมเศร้า" ศ.พญ.นันทิกาเผย



ศ.พญ.นันทิกา ทวิชาชาติ รองประธานกรรมการและเลขานุการมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย

อาการเตือน..พวกเราใกล้แล้ว

สำหรับอาการเตือนวที่บ่งบอกว่าเข้าใกล้อัลไซเมอร์ ศ.พญ.นันทิกา พูดเอาไว้เป็นข้อๆ คือ 1. ลืม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ใหม่ๆ ชื่อคน ข้อมูลใหม่ 2. วางของผิดที่ 3. สับสนเกี่ยวกับเวลา สถานที่ 4. ต้องใช้ความพยายามในการทำกิจวัตรประจำวัน 5. มีปัญหากับการใช้คำพูด การพูดให้จบประโยค ติดตามเรื่องการสนทนา 6. การตัดสินใจบกพร่อง 7. อารมณ์ อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย เร็ว แยกตัว ไม่สนใจในเหตุการณ์ หรือกิจกรรมปกติ 8. มีความยากลำบากในการคิดที่สลับซับซ้อน ตรรกะของความคิด เหตุผล เช่น คิดบัญชี การเงินการธนาคาร และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับตัวเลข 9. บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง 10. ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ และ 11. ผู้หญิงที่ทำกับข้าวเป็นประจำ หากวันหนึ่งรสชาติเริ่มเปลี่ยน นั่นคืออีกหนึ่งสัญญาเตือน


หากมีสัญญาณเตือนเหล่านี้ ประกอบกันหลายๆ ข้อ ต้องไปให้แพทย์ทำการวินิจฉัย โดยหลักการรักษา เริ่มจากลดการก้าวหน้าของโรค การรักษาตามอาการ ช่วยประคองการถดถอยของความจำ การใช้ยาทางจิตเวช เพื่อรักษาอาการทางจิต


ท้ายนี้จะดูแลตัวเองอย่างไร เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเพียงพอสำหรับการป้องกันโรคนี้ แต่ที่่น่าห่วงคือการใช้ยา หรือรับประทานอาหารเสริมอย่างแคลเซียมโดยไม่จำเป็น ซึ่งเรื่องนี้ ศ.พญ.นันทิกา เตือนและย้่ำอยู่หลายครั้งว่า การกินแคลเซียมเสริมโดยที่ร่างกายไม่ได้ขาด ทำให้เกิดอัลไซเมอร์ได้เร็วขึ้น


"เปิดดูกูเกิ้ลตอนนี้ได้เลยค่ะ มีข้อมูลจากงานวิจัยเยอะมากที่สนับสนุนว่าการกินแคลเซียมโดยที่ร่างกายไม่ขาด ทำให้เกิดอัลไซเมอร์เร็วขึ้น ดังนั้นหากเจาะเลือดแล้วไม่พบว่าร่างกายขาดแคลเซียม ไม่ต้องกินแคลเซียมเสริม หากสะสมมากๆ มันจะไปเกาะเส้นเลือด และแข็งตัว ทำให้สมองฝ่อ และตายไป" รองประธานกรรมการและเลขานุการมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทยเผย




ดังนั้น การปฎิบัติตัวที่ช่วยให้มีสุขภาพสมองที่ดี มีหลายทาง เริ่มจาก ออกกำลังสมอง ได้แก่ การพยายามฝึกให้สมองได้คิดบ่อยๆ เช่น อ่านหนังสือ เขียนหนังสือบ่อยๆ คิดเลข ดูเกมตอบปัญหา ฝีกหัดการใช้อุปกรณ์ใหม่ๆ, การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3-5 วัน เช่น เดินเล่น รำมวยจีน, การพูดคุย พบปะผู้อื่นบ่อยๆ เช่น ไปวัด ไปงานเลี้ยงต่างๆ หรือเข้าชมรมผู้สูงอายุ, ถ้ามีโรคประจำตัวอยู่เดิมก็ต้องติดตามการรักษาเป็นระยะ เช่น รักษาโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น อีกเรื่องที่่สำคัญคือพยายามอย่าคิดมาก ไม่เครียด หากิจกรรมต่างๆ ทำเพื่อคลายเครียด เพราะความเครียดและอาการซึมเศร้า ทำให้จำอะไรได้ไม่ดี

นอกจากนั้น ยังมีหลักการใช้ชีวิตจากประสบการณ์ตรงของประธานมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทยที่ปัจจุบันอายุ 82 แต่ยังเฟี้ยว โดยยึดหลัก 3 ข้อ คือ 1.คบเด็ก ไม่ใช่ในทางชู้สาว แต่หมายถึงคบเพื่อนต่างวัยด้วยการเปิดใจรับฟัง ช่วยให้ความคิดทันยุค ทันสมัย 2. หาทางออกจากบ้าน ไม่ใช่ไปที่อโคจร แต่ออกไปทำกิจกรรม ชอปปิ้ง ออกกำลังกาย หรือพบปะเพื่อนฝูง เพราะการอยู่แต่บ้านอาจเฉาตายได้ 3. หางานทำ หางานที่เหมาะกับตัวเรา เพื่อให้รู้สึกมีประโยชน์ และมีคุณค่า


สูงวัย..กายไม่เฉื่อย สมองไม่เสื่อม



ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์

ปัจจุบันมีแอปพลิเคชันที่ช่วยฝึกสมองหลายตัวน่าสนใจ โดย "ดร.นเรศ ดำรงชัย" ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ พัฒนาร่วมกันกับทางมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย อย่างในปีที่แล้วได้เปิดตัวแอปพลิเคชัน "MEMO GAMING" ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยฝึกสมองด้านความจำ ผ่านตัวการ์ตูนเพิ่มสีสันในการสื่อสารให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้น และได้ออกกำลังสมอง

ส่วนในปีนี้ มีการเปิดตัว Application "Calcool Gaming" ครอบครัวหมากรุกสนุกคิด เกมฝึกสมองด้านความจำ เป็นการออกกำลังสมอง ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ อาทิ เกมฝึกคำนวณ, เกมสมการผลไม้แสนกล และเกมปริศนาเรขาคณิต สามารถดาวน์โหลดผ่าน Play Store ในระบบ Android และ App Store ในระบบ iOS Calcool ค้นหาคำว่า "Calcool Gaming"


สำหรับผู้สูงอายุที่เล่น "ไลน์" เป็นกิจวัตรประจำวันทุกเช้า เช่น ส่งไลน์ทักทายสวัสดีเพื่อนๆ หรือญาติพี่น้องด้วยรูปภาพดอกไม้ หรือรูปวิว ทิวทัศน์สวยงามที่ประกอบข้อมูลคำอวยพรผ่านความห่วงใยมาพร้อมกับคำว่า สวัสดีวันจันทร์, สวัสดีวันอังคาร, สวัสดีวันต่างๆ ล่าสุดทางทีเซลส์ (TCELS) และมูลนิธิอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย จับมือร่วมกับบริษัท เดนท์สุ (ประเทศไทย) จำกัด กำลังพัฒนาชุดรูปภาพเกม "สวัสดีสมองดี" ฝึกฝนความคิดผ่านเกมต่างๆ ในรูปภาพเกม "สวัสดี สมองดี" โดยคาดว่า จะช่วยฝึกทักษะด้านความจำ การสังเกต และที่เป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุในด้านอื่นๆ เพื่อช่วยกระตุ้นการใช้สมองส่วนต่างๆ เสมือนเป็นการออกกำลังสมองในทุกๆ วัน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ

กำลังโหลดความคิดเห็น