การตอบโต้ไม่ว่าในยุทธการใดๆ ตามหลักการของตำราพิชัยสงครามนั้น ก็ต้องดูว่าคู่ต่อสู้คือใคร อยู่ในระดับไหน วิธีการของการตอบโต้จะต้องใช้รูปแบบที่เหมาะสมกับคู่ต่อสู้และสถานการณ์ หากเอาวิธีของสุภาพบุรุษไปสู้กับโจร ก็อาจจะตกม้าตายง่ายๆ วันนี้เลยมีเรื่องเก่าเล่าสนุกมาเล่าเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง และเป็นแบบฉบับที่น่าศึกษา
ความจริงเขมรกับไทยก็เป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกันมาก แม้จะทะเลาะกันมาบ้าง แต่ก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาตลอด แต่ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาไม่ว่ายุคไหน ความสัมพันธ์ของไทยกับเขมรก็ขึ้นอยู่ที่ว่า ถ้าไทยอ่อนแอหรือมีศึกด้านอื่นประชิด เขมรก็จะแอบเข้ามาปล้น มากวาดต้อนผู้คนเป็นประจำ แต่ถ้าไทยเข้มแข็ง เขมรก็อยู่ได้อย่างสงบ ไม่มีน้ำยาจะมาตอแย
ในยุคปัจจุบัน เมื่อมีความขัดแย้งทางการเมืองภายใน ก็มักจะใช้ไทยปลุกกระแสความนิยมของตัว อย่างกรณีเผาสถานทูตไทย หรือแม้แต่เรื่องชายแดนด้านเขาพระวิหารก็ไม่ยอมจบง่าย เมื่อตอนที่การเมืองไทยวุ่นวายในปลายปี ๒๕๕๑ อยู่ดีๆเขมรก็ตวาดออกมาเป็นข่าวดังไปทั่วโลกว่า ให้ไทยถอนทหารที่รุกล้ำเขาพระวิหารออกไปภายใน ๒๔ ชั่วโมง และเมื่อครบ ๒๔ ชั่วโมงเขมรก็ออกข่าวอีกทีว่า ไทยถอนทหารออกไปแล้ว ทำเอาฝ่ายไทยได้แต่งง มันเล่นอะไรของมันวะ ก็ยังไม่ได้รุก ไม่ได้ล้ำ และไม่ได้ถอย ไม่ได้ขยับซักนิด ทั้งยังขนคนเข้ามาสร้างชุมชน สร้างวัด และตัดถนนเข้ามายึดครองเขตทับซ้อนที่ยังมีปัญหา พยายามจะเปิดแนวรบไปถึงปราสาทตาเมือนธมและปราสาทต่างๆ ของไทยที่อยู่ใกล้ชายแดนเขมรอีก แม้วันนี้จะเงียบๆไป ก็ไม่แน่ว่าจะปลุกขึ้นมวันไหนอีก
พูดถึงการแก้ไขปัญหากับเขมรที่เจรจากันได้ยากเย็น ก็ทำให้นึกถึงวิธีการของนายอำเภอชายแดนท่านหนึ่ง ซึ่งหาทางบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชนในพื้นที่ของตนได้อย่างเหมาะสมยิ่งต่อสถานการณ์ในพื้นที่
ยุคนั้นอยู่ในสมัยที่สมเด็จนโรดมสีหนุก้าวลงจากราชบัลลังก์ ให้พระราชบิดาขึ้นครองราชย์แทน ส่วนตัวเองเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สีหนุได้ตั้งกองทหารพิเศษขึ้นกองหนึ่ง นัยว่าเลียนแบบหน่วยรบพิเศษป่าหวายของไทย และเพื่อให้ดูเข้มกว่าทหารทั่วไป จึงให้แต่งกายด้วยชุดสีดำ เรียกว่า “กองพันเชิร์ตดำ”
แต่ทหารเขมรในยุคนั้น ไม่ว่าเชิร์ตเขียวหรือเชิร์ตดำ ที่เหมือนกันอยู่อย่างก็คือ “ขาดแคลนเงินเดือน” ที่ไม่ค่อยจะมาตามกำหนด และวิธีที่จะหาเลี้ยงชีพได้ง่ายที่สุดก็คือ ใช้อาวุธในมือปล้นราษฎรไทยชายแดน ซึ่งก็ไม่มีทรัพย์สินอะไรจะให้ปล้น นอกจากวัวควาย ในยุคนั้นราษฎรไทยที่อยู่ชายแดนเขมรจึงถูกปล้นวัวควายกันเป็นประจำ
เช้าวันหนึ่งราษฎรทั้งหมู่บ้านชายแดนได้ยกขบวนกันมาที่อำเภอ คร่ำครวญว่าเมื่อคืนถูกทหารชุดดำเข้ามาปล้นวัวควายไปหมด ถ้าไม่มีวัวควายช่วยทำไร่ไถนาก็เหมือนขาดมือขาดตีน โดยเฉพาะหญิงแม่ลูกอ่อนคนหนึ่งร้องว่า ตัวเองไม่มีน้ำนมให้ลูกกิน ได้อาศัยแม่วัวที่เลี้ยงไว้รีดน้ำนมให้ลูก เมื่อเช้าเลยไม่มีนมให้ลูกกิน ต้องเอาน้ำข้าวป้อนแทน
นายอำเภอฟังเรื่องของราษฎรแล้วก็เวทนา แต่ก็ไม่รู้ว่าจะช่วยได้อย่างไร จึงสั่งเจ้าหน้าที่อำเภอให้จดจำนวนวัวของแต่ละคนที่ถูกปล้นเอาไว้
ตลอดทั้งวัน นายอำเภอเดินงุ่นง่านอยู่บนอำเภอเหมือนเสือติดจั่น ครุ่นคิดหนัก ไม่มีใครกล้าเข้าหน้า ตกเย็นจึงสั่งให้ อส. หรือเหล่าอาสารักษาดินแดน ผู้มีฉายาว่า “นักรบประชาชน” ไปตัดไม้ไผ่มาล้อมคอกขึ้นที่หน้าอำเภอ ซึ่งเหล่า อส.ก็ไม่กล้าถามจุดประสงค์ เพราะรู้ว่านายอำเภอกำลังเครียด
ราษฎรที่ถูกปล้นวัวไป พอรู้ข่าวว่านายอำเภอสั่งให้สร้างคอกวัวก็ดีใจ พากันมาดูพร้อมกับคำถามมากมาย
“นายอำเภอได้วัวมาแล้วเหรอ?”
“นายอำเภอไปซื้อวัวมาจากไหน?”
แต่ก็ไม่มีคำตอบจากเหล่า อส. เพราะไม่รู้เหมือนกัน ตกค่ำ นายอำเภอก็พาเหล่า อส.ประมาณ ๓๐ คนพร้อมอาวุธครบมือ หายไปในความมืด
รุ่งเช้า ราษฎรที่อยู่รอบอำเภอก็เห็นมีวัวอยู่เต็มคอกที่ล้อมไว้เมื่อตอนเย็น ข่าวนี้ทำให้ราษฎรที่ถูกปล้นวัวไป ถูกปลุกให้มายืนมุงอยู่รอบคอกวัวตั้งแต่เช้าด้วยความดีใจ
นายอำเภอสั่งให้จ่ายวัวแก่ราษฎรไปตามจำนวนที่จดไว้ แม้หน้าตาจะไม่เหมือนกับตัวที่ถูกปล้นไปก็ตามที
เมื่อคืนวัวให้ราษฎรได้ครบตามบัญชีแล้ว นายอำเภอที่ใบหน้ายิ้มแย้มผิดกับเมื่อวันวาน ก็ตระโกนลงมาจากอำเภอหยอก อส.เพื่อนร่วมตาย
“ไอ้ห่ะ บอกว่าให้เอามาให้พอดี นี่เกินมาตั้งเยอะ แล้วใครจะรับภาระเลี้ยงไอ้พวกนี้ล่ะ”
เหล่า อส.พากันหัวเราะครื้นเครง ใบหน้าทุกคนแสดงว่าหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง ที่ได้แก้ไขปัญหาให้ราษฎรได้ แม้จะต้องเสี่ยงตายกันมาก็ตาม
ขณะนี้ นายอำเภอท่านนี้เกษียณอายุราชการไปหลายปีแล้วในตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดใหญ่แห่งหนึ่งในภาคใต้ การกระทำของท่านเป็นที่น่ายกย่องในความมุ่งมั่นที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ราษฎรตามหน้าที่ และใช้วิธีที่เหมาะสมกับยุคสมัยและพื้นที่
นี่ก็เป็นแบบอย่างของการตอบโต้ที่เหมาะสมกับคู่ต่อสู้ ใช้เกลือจิ้มเกลือนี่แหละ