ศรีสะเกษ-ผอ.ททท.สุรินทร์ชวนเที่ยว ชมแสงตะวันแรกช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 ณ ผามออีแดง หน้าผาสูงชันกั้นเขตแดน 3 แผ่นดินไทย ลาว กัมพูชา สัมผัสสายหมอกจากเขมรต่ำลอยเข้ามาในเขตแดนไทย ที่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร
วันนี้ (28ธ.ค.62) ที่ผามออีแดง ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ บริเวณใกล้ทางเดินขึ้นปราสาทเขาพระวิหาร น.ส.ธมลวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุรินทร์ พร้อมคณะ เดินทางสำรวจบรรยากาศการท่องเที่ยวช่วงวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ 2563 พบว่า มีนักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศทะยอยเดินทางมาเที่ยวชมผามออีแดงกันอย่างต่อเนื่อง
ผามออีแดง เป็นหน้าผาสูงชันกั้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา ตลอดแนวผามออีแดงมีระยะทางยาวประมาณ 500 เมตร เป็นจุดชมวิวที่มองเห็นทัศนียภาพของแผ่นดินประเทศกัมพูชาที่อยู่ต่ำลงไป ได้เห็นมุมมองกว้างไกลสุดลูกหูลูกตามีธรรมชาติที่สวยงามมาก นักท่องเที่ยวจะมองเห็นสายหมอกที่ลอยอ้อยอิ่งจากเขตกัมพูชาเข้ามาในเขตแดนไทย ทำให้นักท่องเที่ยวได้รับอากาศที่บริสุทธิ์สดชื่นมาก
น.ส.ธมลวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผอ.ททท.สำนักงานสุรินทร์ กล่าวว่าขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวทั่วประเทศให้มารอชมแสงแรกยามเช้าของวันที่ 1 มกราคม 2563 หรือเรียกว่ารับตะวัน 3 แผ่นดินที่ผามออีแดง ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่าง 3 ชาติ คือไทย กัมพูชา และลาว เพื่อซึมซับรับบรรยากาศของแสงแรกแห่งปี ซึ่งมีความเชื่อกันว่าการได้มารับพลังสุริยะจากแสงแรกของวันขึ้นปีใหม่ จะช่วยเติมเต็มให้ผู้ที่ได้รับพลังสุริยะมีพลัง โชคดีมีชัย และทำให้มีกำลังใจมุ่งมั่นทำกิจการงานต่างๆได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ บริเวณผามออีแดง ยังมีภาพแกะสลักหินนูนต่ำบนหน้าผาหินทราย อายุประมาณ 1,500 ปี เป็นภาพเทพ 3 องค์สร้างขึ้นก่อนปราสาทเขาพระวิหาร ราวกลางศตวรรษที่ 11 ซึ่งถูกประกาศให้เป็นหนึ่งใน อันซีนไทยแลนด์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชมและศึกษาประวัติศาสตร์อารยะธรรมของขอมโบราณ
น.ส.ธมลวรรณ กล่าวว่านักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมผามออีแดง จะสามารถส่องกล้องทางไกลชมความสวยงามของปราสาทพระวิหารได้ พร้อมทั้งจะได้ชมสถูปคู่ทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ สร้างจากหินทราย ถือเป็นสิ่งก่อสร้างพิเศษ ในส่วนของทางลงจากผามออีแดง จะมีปราสาทโดนตรวล สร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 16 (พ.ศ. 1545) ทรงปรางค์เดี่ยว ผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาวประมาณ 7 เมตร ย่อมุมทั้ง 4 ด้าน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก
ตัวปรางค์ ก่อด้วยอิฐและศิลา อย่างละครึ่ง โดยก่อศิลาแลงจากฐานถึงครึ่งผนังเรือนธาตุ จากนั้นก่อขึ้นไปด้วยอิฐฝนเรียบไม่สอปูนจนถึงยอดปรางค์ บริเวณทางเข้าทำเป็นมุขยื่นออกไป ผนังของมุขเป็นอิฐ หลังคาคาดว่าจะเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องยาวประมาณ 5-7 เมตร
นอกจากนี้ในช่วงค่ำนักท่องเที่ยวจะได้ชมดาวนับล้านดวง ที่ลานนับดาว เป็นแหล่งเรียนรู้ดาราศาสตร์ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศไปเที่ยวเท่ๆสัมผัสเสน่ห์เมืองรองอีสานใต้ จ.ศรีสะเกษ และจ.สุรินทร์ เมืองรองที่ไม่เป็นรองใคร ไปร่วมเปิดประสบการณ์การท่องเที่ยวในแบบฉบับ Cool อีหลี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 044-514447 โทรสาร 044 – 518530 ในวันเวลาราชการ