xs
xsm
sm
md
lg

“ศ.นพ.ยง” ชี้ความเป็นไปได้ในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศาสตราจารย์นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ
“ศ.นพ.ยง” ชี้ยากที่จะทำวัคซีนให้ได้ภายใน 1 ปี เนื่องจากแต่ละขั้นตอนต้องใช้เวลา ค่าใช้จ่าย เชื่อวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ที่จะผลิตโดยจีนน่าจะสำเร็จก่อนทางตะวันตกแน่นอน

วันนี้ 26 ก.พ. 63 ศาสตราจารย์นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ราชบัณฑิต และหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวหัวข้อ โควิด-19 กับความหวังเรื่องวัคซีน ว่าจากการระบาดอย่างมากของโรคโควิด-19 สิ่งที่ทุกคนรอคอย คือ วัคซีนป้องกันโรค ความเป็นไปได้ในการทำวัคซีนในการใช้ป้องกัน

“ถ้าเราใช้วิธีเดิมที่เคยทำกันอยู่เช่น

1. วัคซีนที่มีชีวิต เป็นวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ Live attenuated vaccine วิธีการนี้ยังคงห่างไกลเพราะต้องใช้เวลาคัดเลือกหาสายพันธุ์ที่ไม่ทำให้เกิดโรค และมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคโควิด-19

2. วัคซีนเชื้อตาย inactivated vaccine เอาเชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่นี้มาทำให้ตาย แล้วให้กับผู้ป่วยเพื่อสร้างภูมิต้านทาน ปัญหาของวัคซีนชนิดนี้ เนื่องจากไวรัสตัวนี้เป็นสายพันธุ์ใหม่ ก่อโรครุนแรง ในการผลิตจะต้องใช้ระดับความปลอดภัยที่สูง ในการเพาะเชื้อเพิ่มจำนวน จึงเป็นการยากในการลงทุน เพราะจะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก

3. recombinant vaccine เป็นการตัดส่วนหนึ่งของยีน เข้าให้กับสิ่งมีชีวิตเช่นแบคทีเรีย ยีสต์ สร้างโปรตีนขึ้นมา ที่เป็นส่วนสำคัญของแอนติเจน แล้วเอาส่วนนั้นมาทำเป็นวัคซีน เช่นวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี ข้อสำคัญของโรคโควิด 19 เราจะต้องรู้ว่าส่วนไหนของไวรัส ที่มีความสำคัญในการกระตุ้นภูมิต้านทาน ขณะนี้ทุกคนรู้ว่า น่าจะเป็นส่วน Spike gene ที่เป็นหนามแหลมออกมา

แนวทางการคิดวัคซีนสำหรับโรคโควิด-19 จึงต้องเป็นแนวทางใหม่ที่ทำได้ง่าย และรวดเร็ว

1. mRNA vaccine และ DNA vaccine ใช้อนุพันธ์ของอาร์เอ็นเอหรือดีเอ็นเอ ที่ให้แปลโค้ดสร้างโปรตีน ในส่วนที่ใช้ป้องกันโรคโควิด 19 แล้วให้เซลล์ของร่างกายเราสร้างโปรตีนตัวนี้ขึ้นมาเพื่อป้องกันโรค mRNA วัคซีน อาจจะเหนือกว่า DNA vaccine เพราะสลายไปเองได้ วัคซีนชนิดนี้ก็ยังอยู่ในขั้นทดลองในหนู ถ้าจะนำมาใช้ในคน ก็คงจะต้องอีกหลายขั้นตอน คงใช้เวลาเป็นปี ถึงแม้ว่าขั้นตอนในการผลิตจะทำได้ง่ายมาก

2. อนุภาคเทียม Pseudovirus เป็นการใช้ไวรัสไม่ก่อโรค แล้วฝากส่วนหนึ่งของไวรัสที่ก่อโรคเข้าไป เป็นส่วนหนึ่งของตัวไวรัสที่ เรียกว่า Pseudovirus วัคซีนชนิดนี้ที่มีการทดลองใช้ในคน ขณะนี้ คือวัคซีนที่ใช้ป้องกันอีโบล่า ที่กำลังรอประเมินผลในประเทศคองโก

3. วัคซีนชนิดรับประทาน มีข่าวออกมาว่าจีนสามารถผลิตวัคซีนชนิดรับประทาน เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก นักวิทยาศาสตร์สามารถ ที่จะฝากส่วนหนึ่งของไวรัสเข้าไปอยู่ในสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง เช่น แบคทีเรีย ยีสต์ ยาสูบ มะเขือเทศ หรือแม้กระทั่ง กล้วยหอม แต่สิ่งสำคัญ ส่วนของโปรตีนที่สิ่งมีชีวิตใหม่สร้างให้นั้นจะต้องมีความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ โรคโควิด-19 เป็นโรคที่ติดต่อทางเยื่อบุทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร ก็มีความเป็นไปได้อีกอย่างหนึ่ง ถ้าแอนติเจนนี้สามารถกระตุ้นเยื่อบุ ให้มีภูมิคุ้มกันปกป้องไม่ให้ไวรัสนี้เข้าไปติดเชื้อได้

อย่างไรก็ตาม การทำในห้องปฏิบัติการสามารถทำได้แน่นอน แต่ยังต้องผ่านขั้นตอนการศึกษาในสัตว์ทดลอง ความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง ประสิทธิภาพในการป้องกันในสัตว์ทดลอง แล้วจึงเริ่มเข้ามาศึกษาในมนุษย์ โดยศึกษาความปลอดภัยในมนุษย์

ผลของการกระตุ้นภูมิต้านทานในมนุษย์ และประสิทธิภาพในการป้องกันโรค จะเห็นว่าขั้นตอนแต่ละลำดับ ต้องใช้เวลาทั้งนั้นจึงเป็นการยากที่จะทำวัคซีนให้ได้ภายใน 1 ปี เรามักจะได้ยินในบ้านเราเสมอว่า เราจะผลิตยาได้ภายใน 4 ปี มักจะเป็นการกล่าวอ้างที่เกินความเป็นจริง

เมื่อเกิดโรคระบาดร้ายแรง ทางการจีนได้มีการทุ่มเทระดมนักวิทยาศาสตร์จำนวนมาก เครื่องไม้เครื่องมือ และเงินทุน ที่จะต้องเอาชนะกับโรคร้ายนี้ให้ได้ ผมเองก็มีความเชื่อว่าวัคซีนที่จะผลิตโดยจีนน่าจะสำเร็จก่อนทางตะวันตกแน่นอน”


กำลังโหลดความคิดเห็น