แพทย์รังสี จุฬาฯ แนะ สธ. ให้ข้อมูล “สมุนไพรหมอแสง” มากขึ้น ห่วงพูดแค่คุณภาพชีวิตดีขึ้น เสี่ยงผู้ป่วยมะเร็งระยะต้นทิ้งการรักษา ทั้งที่มีโอกาสรักษาหาย ย้ำไม่ได้ห้ามใช้ทางเลือก แต่ขอรับข้อมูลรอบด้าน ส่วนผู้ป่วยระยะสุดท้ายไปรับได้ เพราะถือเป็นความหวัง
นพ.เพชร อลิสานันท์ แพทย์สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวถึงกรณีผลวิจัยประสิทธิภาพสมุนไพรสูตร นายแสงชัย แหเลิศตระกูล หรือ หมอแสง ไม่สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็ง แต่ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบหาสารออกฤทธิ์ในสมุนไพรสูตรนายแสงชัยแล้ว ซึ่งหากไม่ได้ผลในระดับหลอดทดลองก็ถือว่าจบ เพราะเมื่อมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานจึงทดลองในสัตว์และในมนุษย์ต่อไป ตรงนี้ได้ผ่านข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้ว แม้วิทยาศาสตร์อาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมด แต่ในเรื่องสารเคมีหรือฤทธิ์ทางยาก็ต้องผ่านการพิสูจน์ เพื่อยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัย ดังนั้น เมื่อผลออกมาเช่นนี้ นายแสงชัย ไม่น่าจะไปกดดันกรมการแพทย์ หรือ สธ. เพราะไม่มีประโยชน์ และ สธ. เองก็ไม่ได้สั่งห้ามแจกสมุนไพร เพียงแต่ให้ข้อมูล แต่ตนกังวลว่าจะเป็นการสร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อน และทำให้สังคมเข้าใจผิดไม่ยอมรักษาจากแพทย์แผนปัจจุบัน
“เรื่องนี้ต้องสื่อสารให้ดี ซึ่งก็ยังรู้สึกว่า สธ. แม้จะทำหน้าที่ของตนเองแล้ว แต่ก็ต้องให้ความรู้มากขึ้นด้วย ยิ่งตอนนี้กระแสสังคมออกมาแบบนี้อีก เนื่องจากกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งจะมีความละเอียดอ่อน เมื่อมีความหวังก็จะรับ แต่ความหวังนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานที่ปลอดภัย ซึ่งที่กังวลคือ กลัวว่าจะเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการแพทย์ว่า มะเร็งรักษาไม่หาย ทั้งที่จริงแล้วมะเร็งระยะต้นมีหลายชนิดมีโอกาสรักษาหายได้ ไม่อยากให้เสียโอกาสกัน ซึ่งเราก็ไม่ได้ห้ามใช้ทางเลือกอื่น เพียงแต่ต้องได้รับข้อมูลรอบด้านด้วย หากเป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย เขาก็ต้องการความหวัง เราก็รู้ดี แต่เรากังวลสำหรับผู้ป่วยที่เป็นระยะต้นๆ และกำลังตัดสินใจว่าจะใช้ทางเลือกหรือแพทย์แผนปัจจุบัน ตรงนี้ต้องให้ข้อมูลให้ครบ สธ. ต้องออกมาให้ข้อมูลมากขึ้นด้วย” นพ.เพชร กล่าว
นพ.เพชร กล่าวว่า นายแสงชัยหากต้องการช่วยคนในเรื่องของแพทย์แผนไทย ก็มีทางออกมากมาย เช่น ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ หรือกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกพัฒนาต่อยอด หรือหาสูตรอื่นๆ มาพัฒนา เพื่อทำให้ทุกอย่างถูกต้องไม่ดีกว่าหรือ อย่างการวิจัยพัฒนาก็ต้องเป็นไปตามหลักของวิทยาศาสตร์ เพราะหากจะศึกษาประสิทธิภาพทางยา ก็ต้องผ่านการทดลองทั้งระดับหลอดทดลอง สัตว์ทดลอง และในมนุษย์ ซึ่งก็ต้องมีคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยขึ้นมาควบคุม ซึ่งในคณะกรรมการมีผู้เกี่ยวข้องจากทุกฝ่าย ทั้งแพทย์ นักกฎหมาย นักวิทยาศาสตร์ และภาคประชาชน