สธ.ร่วมมือจุฬาฯ-มหิดล-ไบโอเนท พัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 อาศัยเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่กรมวิทย์เพาะเลี้ยงในเซลล์ เผยเตรียมพัฒนาวัคซีนหลายรูปแบบ ทั้งแบบเชื้อตาย mRNA และ DNA แลกเปลี่ยนความรู้นานาชาติ ไม่ทำรูปแบบที่รู้ว่าไม่ได้ผล ย้ำวัคซีนต้องใช้เวลานานในการพัฒนา แต่จะพยายามเร่งสปีดให้ได้ใน 9 เดือน หากพบว่าปลอดภัยในเฟส 1 อาจนำมาใช้ในกลุ่มเส่ยงก่อนไม่ต้องรอวิจัยครบแล้วยื่นขึ้นทะเบียน
วันนี้ (28 ก.พ.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดีกำกับดูแลด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.นพ.ศิริฤกษ์ ทรงวิไล เลขาธิการคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และผู้แทนบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ร่วมกันลงนามความร่วมมือเพื่อพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และการวิจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในประเทศ
นพ.สุขุมกล่าวว่า ที่ผ่านมานักวิจัยนักวิชาการจะแยกกันพัฒนาวัคซีน ต่างคนต่างมีความรู้เฉพาะด้านของตัวเอง ทำให้เกิดการประสานงานยาก แต่วันนี้ประชาคมด้านวัคซีนมาร่วมกันลงนามความร่วมมือ เพื่อร่วมกันพัฒนาและแบ่งปันความรู้เพื่อสร้างวัคซีนต่อต้านโรคอุบัติใหม่ คือ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นตัวแบบพัฒนาให้ประเทศไทยมีภูมิคุ้มกัน คิดว่าเป็นตัวสำคัญให้ประเทศไทยมีความมั่นใจ ว่าหากมีการระบาดจริง การพึ่งพาคนอื่นอาจจะยาก แต่วันนี้เราสามารถพึ่งพาตนเองด้วยความรู้ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งจากการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญก็คิดว่าจะมีความสำเร็จ
นพ.โอภาสกล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ถือว่าเพาะเลี้ยงเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในเซลล์เพาะเลี้ยง เป็นครั้งแรกของโลกได้รองจากจีน ทำให้เรามีวัตถุดิบให้หน่วยงานต่างๆ ไปพัฒนาวิจัยวัคซีน และเราสามารถเลี้ยงเซลล์ที่มีเชื้อไวรัสและวัดปริมาณได้ ซึ่งมีความสำคัญต่อการศึกษาต่างๆ เช่น ทดลองให้ยา ภูมิคุ้มกัน หรือวัคซีน แล้วเชื้อในเซลล์ลดลงหรือไม่อย่างไร นอกจากนี้ เรามีมาตรฐานศูนย์ทดลองสูงสุดระดับโลก ทำให้สามารถทดลองวัคซีนต่างๆ ในสัตว์ทดลอง และวัดภูมิคุ้มกันได้ เพื่อต่อไปจะไปวัดในคนได้ และหาวิธีวัดภูมิคุ้มกันในคนหลังรับวัคซีน
นพ.นครกล่าวว่า เมื่อมีโรคอุบัติใหม่ เช่น โรคโควิด-19 ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่จะต้องรวบรวมความเชี่ยวชาญและสรรกำลังที่มีอยู่ในการช่วยกันวิจัยพัฒนาให้ได้วัคซีนป้องกันโรค และสถาบันฯ กำลังแสวงหาความร่วมมือกับนานาชาติ เช่น จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งหารือเบื้องต้นแล้วได้รับการตอบรับว่ายินดีที่จะร่วมกัน โดยจะมาดูโจทย์และความสามารถร่วมกันว่าจะช่วยกันทำงานอย่างไร เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางองค์กรอนามัยโลก การวิจัยพัฒนาวัคซีนต้องไม่ซ้ำซ้อนแต่ต้องสนับสนุนซึ่งกันและกัน ไม่ต้องลงทุนซ้ำซ้อนหรือทำในส่วนที่ซ้ำกัน คือ การมีเครือข่ายทำงานร่วมกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เพื่อไม่ให้ทำซ้ำในเรื่องที่รู้แล้วว่าไม่ได้ผล หรือรูปแบบไหนที่ได้ผล ซึ่งประเทศไทยก็จะใช้รูปแบบนี้
เมื่อถามถึงระยะเวลาในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 นพ.นครกล่าวว่า การพัฒนาวัคซีนต้องใช้เวลาพอสมควร อย่างต่างชาติที่เริ่มก่อนเราหรือพร้อมมากกว่าเรา ยังพูดว่าต้องใช้ระยะเวลา 9-12 เดือน ซึ่งของเราไม่ใช่เพิ่งเริ่ม ก็เริ่มพอสมควร และมีพื้นฐานอยู่เดิม การจะบอกว่าได้วัคซีนเมื่อไรนั้นตอบยาก เพราะวัคซีนที่ได้คือต้องได้ผล ซึ่งกว่าจะผ่านการทดลองจากทั้งในสัตว์ทดลองก็ใช้เวลา 9-12 เดือน ถึงได้คำตอบ ซึ่งขึ้นกับรูปแบบและวิธีการพัฒนาวัคซีน ซึ่งแต่ละตัวใช้เวลาไม่เท่ากัน
ศ.นพ.เกียรติกล่าวว่า ในสหรัฐฯ ที่ให้ทุนบริษัทเอกชนทำวัคซีนประเภท mRNA ใช้เวลาไม่ถึง 2 เดือนก็เสร็จแล้ว ส่งไปที่สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา เพื่อทดสอบก็ใช้เวลา 2-3 เดือน ตอนนี้เทคโนโลยีไปเร็วมาก คาดว่าภายใน 6 เดือนน่าไปทดลองในคนได้ ส่วนของประเทศไทยก็อยู่ที่ความเร็วในการดำเนินการ รอบนี้เป็นวิกฤตที่ประเทศต้องพิสูจน์ตัวเองว่าเรามีศักยภาพจะทำความเร็วภายใน 9 เดือนเพื่อให้วัคซีนถึงในคนได้หรือไม่ แต่ยุคที่การระบาดกว้างขวางจะไม่รอถึงขึ้นทะเบียน หากทดลองเฟส 1 ปลอดภัย และผลเลือดของคนและสัตว์ทดลอง ทดสอบแล้วว่าสามารถจัดการเชื้อได้ไม่ให้ติด อาจขยายผลไปใช้ในคนเสี่ยงสูงได้เลย แต่ถ้ามาตรฐานปกติของวัคซีนใช้เวลาเกิน 2 ปี
ถามต่อว่าประเทศไทยจะพัฒนาวัคซีนในรูปแบบใด นพ.นครกล่าวว่า ตอนนี้ก็มีการวางกันไว้แล้วว่าจะพัฒนาวัคซีนในรูปแบบใดบ้าง เช่น จุฬาฯ จะพัฒนาลักษณะของ mRNA วัคซีน ไบโอเนท-เอเชีย ทำในรูปแบบของ DNA วัคซีน ม.มหิดลทำในรูปแบบของวัคซีนเชื้อตาย ส่วนศิริราชทำในเรื่องของไวรัส ไลค์ พาร์ติเคิล คือ การถอดจีโนมมาทำเป็นแบบไวรัส แต่ไม่ใช่ตัวไวรัส เรียกว่าแต่ละที่ทำรูปแบบต่างกัน ตอนเริ่มต้องเริ่มหลายรูปแบบ แล้วหารูปแบบที่เป็นไปได้มากที่สุด และแลกเปลี่ยนข้อมูลติดตามกันว่าแบบไหนดีหรือไม่ดี
เมื่อถามว่าวัคซีนรูปแบบไหนที่ทำได้รวดเร็วและอาจประสบความสำเร็จ นพ.นครกล่าวว่า เชื้อแต่ละตัวหรือแต่ละโรคมีความจำเพาะ การผลิตวัคซีนจึงต่างกัน เช่น การทำวัคซีนเชื้อเป็น เชื้อตาย การนำบางส่วนไปเลี้ยงในยีสต์ หรือการใช้พันธุกรรม แต่ถ้าจำเพาะตัวไวรัสโคโรนา ก็มีเทคโนโลยีแบบดั้งเดิม คือ วัคซีนเชื้อเป็นกับเชื้อตาย ซึ่งรูปแบบนี้ใช้เวลานาน แต่มีประสบการณ์ความสำเร็จจำนวนมาก และเทคโนโลยีใหม่ เช่น mRNA และ DNA วัคซีน ยังไม่มีประสบการณ์ความสำเร็จ แต่ถือว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ทำได้รวดเร็วกว่า ปลอดภัยกว่า จึงบอกไม่ได้ว่าตัวไหนจะได้ผล จึงต้องไปทั้งสองทางคือแบบดั้งเดิมและแบบใหม่
ถามต่อว่าการผลิตวัคซีนด้วยเทคโนโลยี mRNA และ DNA เป็นเช่นไร นพ.นครกล่าวว่า การวิจัยวัคซีนใช้เวลาพอสมควร ไม่เร็วแน่นอน ต้องหาวัคซีนที่มีความปลอดภัย และมีประสิทธิผลในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรคได้จริง ต้องครบองค์ประกอบเหล่านี้ โดยเทคโนโลยี mRNA จะคล้ายกับหน่วยความจำสารพันธุกรรม โดยสายพันธุกรรมทั้งตัวของไวรัสโคโรนาไวรัส ก็ต้องไปค้นหาว่า mRNA ตัวไหนที่ไปสร้างส่วนของไวรัสที่จะไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ ก็ต้องสังเคราะห์เอา mRNA นั้นขึ้นมาและใส่เข้าไปในเซลล์ร่างกายคน เมื่อเข้าไปแล้วก็จะสร้างโปรตีนของไวรัสที่กระตุ้นภูมิคุ้มกัน แต่ไม่ใช่ตัวไวรัส ก็จะคล้ายๆ กับการเอาโรงงานเล็กๆ ที่สร้างเฉพาะส่วนของไวรัสที่จะกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได เข้าไปใส่ไว้ในเซลล์ เมื่อเซลล์ของเราแบ่งตัวก็จะพลอยสร้างเฉพาะส่วนของไวรัสนี้ จึงมีความปลอดภัยมาก โจทย์จึงมีความยากในทุกขั้นตอน คือ หา mRNA ตัวไหนที่สร้างส่วนกระตุ้นภูมิคุ้นกัน จะเอาเข้าเซลล์ได้อย่างไร เข้าแล้วร่างกายจะสร้างโปรตีนของไวรัสออกมาได้ตรงหรือไม่ สร้างออกมาแล้วระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตรวจจับได้หรือไม่ และปริมาณ mRNA ที่จะสร้างโปรตีนของไวรัสออกมาจะเพียงพอในการสร้างภูมิคุ้มกันที่มากพอในการป้องกันไวรัสทั้งตัวจริงๆ หรือไม่ ซึ่งตอนนี้จุฬาฯ ทำได้แล้วว่าทั้งตัวไวรัสประกอบด้วยโปรตีนอะไรบ้าง นี่คือความรู้สำคัญในการทำ mRNA วัคซีน ส่วน DNA วัคซีนจะมีความยากกว่า เพราะต้องทำเข้าสู่ระดับของนิวเคลียสในเซลล์