ร่างประมวล กม. ยาเสพติดจ่อเข้า ครม. สัปดาห์หน้า จับตาปลดล็อก “กัญชา” วิจัยทางการแพทย์ในคนได้ เผยตั้ง 4 คณะทำงาน “กัญชา” ครบวงจร ทั้งปลูก - ปรับปรุงสายพันธุ์ ทำสารสกัด นำมาใช้ทางการแพทย์ และ ระบบควบคุม ด้านองค์การเภสัชฯ เตรียมขอวิจัย “กัญชา” ในอาคารระบบปิดขนาด 1,100 ตร.ม. เล็งนำเข้ากว่า 20 สายพันธุ์ ให้ได้สารสกัดหลากหลายปริมาณกับชนิดยา
วันนี้ (10 พ.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เป็นครั้งแรก โดยมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน พร้อมด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแนวทางการดำเนินการเรื่องกัญชาอย่างครบวงจร ตั้งแต่การปลูก การวิจัย การพัฒนาสายพันธุ์ การสกัด การนำมาใช้ทางการแพทย์ และ การควบคุมระบบ
เมื่อเวลา 12.20 น. นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชาฯ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ว่า กัญชามีทั้งประโยชน์และโทษ แต่จะทำอย่างไรให้เป็นนวัตกรรมและนำมาใช้เป็นประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ซึ่งในที่ประชุมมีการพิจารณาแต่งตั้งคณะทำงาน จำนวน 4 คณะ คือ 1. คณะทำงานเพื่อการพัฒนาการปลูกและปรับปรุงสายพันธุ์ มี อภ. เป็นหน่วยงานหลัก พร้อมด้วย อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาสายพันธุ์กัญชง 2. คณะทำงานเพื่อพัฒนาการสกัดและการตรวจสังเคราะห์ มี อภ. เป็นหน่วยงาน ร่วมด้วยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ มหาวิทยาลัยรังสิต
3. คณะทำงานเพื่อพิจารณาการนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน และ แพทย์แผนไทย มีกรมการแพทย์และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมด้วยกรมสุขภาพจิต ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองมาร่วม และ 4. คณะทำงานเพื่อวางระบบการควบคุมในการศึกษาวิจัยและการใช้ทางการแพทย์ มี อย. เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมด้วยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ป.ป.ส.) วางระบบ นอกจากนี้ หากเป็นในส่วนของผลิตภัณฑ์จากกัญชาที่จะออกมาในอนาคต อย.ก็ต้องรับผิดชอบดูแลด้วย จะออกมาอย่างไร อนุญาตให้ใช้อย่างไรบ้าง
“ในส่วนของการนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์คงเริ่มก่อน ในแผนปัจจุบันกับแผนไทยมีโรคอะไรที่ใช้กัญชารักษาบ้าง จากนั้นสัดส่วนของสารสำคัญ คือ สารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) และ สาร Cannabidiol (CBD) ควรเป็นอย่างไร เพื่อบอกให้คณะที่ 1 คือ การปลูกและปรับปรุงสายพันธุ์ และคณะที่ 2 คือ การสกัด ไปพัฒนาให้เป็นประโยชน์ทางการแพทย์จริงๆ ที่สำคัญที่สุด คือ อย. และ ป.ป.ส. ต้องวางระบบทั้งหมดเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์จริงๆ” นพ.โสภณ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด จะเข้ามาช่วยปลดล็อกไม่สามารถนำกัญชามาวิจัยในคนได้หรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า ปัจจุบันมี พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งอนุญาตให้สามารถปลูก สกัด และทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ ยกเว้นการเสพคือไปวิจัยในคนไม่ได้ เพราะเท่ากับเป็นการเสพ แต่ขณะนี้มีร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด จาก ป.ป.ส. คาดว่า จะเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้าและส่งเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามลำดับ ซึ่งขึ้นกับว่า สนช.จะพิจารณาแล้วเสร็จเมื่อไร และน่าจะมีผลบังคับใช้ 180 วันหลังประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ก็จะช่วยให้สามารถวิจัยทางการแพทย์ในคนได้
เมื่อถามว่า จะเน้นกลุ่มโรคไหนก่อน นพ.โสภณ กล่าวว่า คงต้องรอคณะทำงานชุดที่ 3 การนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์พิจารณาก่อน แต่ส่วนใหญ่ที่ใช้ในต่างประเทศที่มีข้อบ่งชี้ชัดเจนแล้ว คือ ลมชัก พาร์กินสัน การเจ็บปวดเรื้อรัง เช่น มะเร้งระยะสุดท้าย ที่ต้องวิจัยต่อคืออัลไซเมอร์ มะเร็งอื่นๆ หรือออทิสติก ว่าได้ประโยชน์หรือไม่
เมื่อถามถึงแนวทางการกำกับดูแลของ อย. นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นทางจะดูตั้งแต่การขออนุญาตการปลูก พื้นที่ที่ปลูก การควบคุม การกระจายไม่ให้หลุดรอดออกไป การนำไปใช้ต้องนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ขอมา ซึ่งขณะนี้ยังคงทดลองได้แค่ในระดับสัตว์ทดลอง ยังทดลองในคนไม่ได้ เพราะถือเป็นการเสพ เหมือนขณะนี้ที่มีมหาวิทยาลัยงรังสิตที่ขออนุญาตวิจัยและผลิตออกมาเป็นยาสเปรย์ฉีดพ่น แต่ไม่สามารถทดลองในคนได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการเล็งพื้นที่ในการเพาะปลูกหรือพัฒนาสายพันธุ์หรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า มีการหารือบ้าง อย่าง อภ. ก็เล็งว่าจะใช้พื้นที่อาคารหนึ่งของ อภ. ที่ถนนพระราม 6 ในการทำระบบปิด ซึ่ง อย. จะต้องเข้ามาดู โดยอาจเป็นระบบปิดในเชิงโครงสร้าง เช่น เข้าออกได้ทางเดียว มีระบบคนเข้าออก เป็นต้น โดยวางไว้ว่าชั้นบนอาจเป็นเรื่องของการปลูก ต้องจดทั้งหมดว่าต้องใช้แสงเท่าไร อุณหภูมิเท่าไร ชั้นล่างเป็นที่สกัด ให้ได้เป็นน้ำมันกัญชาในการใช้ โดยอาคารดังกล่าวมีขนาด 1,100 ตารางเมตร ใช้งบประมาณ 10-20 ล้านบาท คาดว่า จะสามารถปลูกกัญชาได้ประมาณ 500 กิโลกรัมต่อปี และนำมาใช้วิจัยในคนได้ประมาณ 500 คน แต่ต้องขออนุญาตทางคณะกรรมการยาเสพติดก่อน จึงจะดำเนินการได้ และรอให้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ออกมาเสียก่อน ซึ่ง อภ. จะเร่งทำเอกสารโครงการเพื่อขออนุญาตต่อไป เพื่อเริ่มดำเนินการให้เร็วที่สุด ให้มีน้ำมันกัญชามาใช้ในคนได้หลังกฎหมายอนุญาต
เมื่อถามถึงสายพันธุ์ที่จะนำมาใช้ควรเป็นสายพันธุ์ไทยหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า ตอนของ ม.รังสิตทำวิจัยใช้กัญชาที่เป็นของกลาง ส่วนของ อภ. อาจเริ่มจากการขอของกลางเช่นกัน หรือขออนุญาตสำรวจในธรรมชาติ เพื่อนำสายพันธุ์ไทยมาใช้ เพราะเป็นสายพันธุ์ที่ดีที่สุดในโลก หรือนำเข้าจากต่างประเทศ แล้วมาพัฒนาให้ดีขึ้น ซึ่งแล้วแต่ทีมวิจัยจะดำเนินการ
ผศ.ดร.วิเชียร กีรตินิจกาล อาจารย์ประจำภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตรศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ในฐานะนักปรับปรุงพันธุ์สมุนไพร กล่าวว่า เริ่มแรกมองว่าอาจจะต้องนำเข้าสายพันธุ์จากต่างประเทศก่อน โดยอาจนำเข้าจากประเทศแคนาดา แล้วนำมาพัฒนา ซึ่งเบื้องต้นตั้งใจจะนำเข้ามาสักประมาณ 20 สายพันธุ์ เนื่องจากแต่ละสายพันธุ์ก็จะให้สาร THC และ CBD แตกต่างกันไป เช่น บางสายพันธุ์มี THC มากกว่า บางสายพันธุ์ได้ CBD มากกว่า หรือบางสายพันธุ์ให้สารสำคัญเท่ากันในอัตราส่วน 1 : 1 เพื่อรองรับการกำหนดชนิดของยาที่จะนำไปใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งมีความต้องการใช้สารสำคัญที่แตกต่างกันไป แต่ในอนาคตจะใช้สายพันธุ์ไทย ซึ่งจะไปหาตามแหล่งธรมชาติที่เกิดขึ้นเอง ซึ่งพบมากแถมสกลนครหรืออีสาน เพราะไม่ต้องควบคุมสภาพแวดล้อมมากเท่าสายพันธุ์ที่นำเข้า ต้นทุนก็จะถูกลง ซึ่งแต่ละประเทศที่ทำเรื่องนี้ก็พยายามจะพัฒนาสายพันธุ์ของตัวเองทั้งสิ้น ส่วนเบื้องต้นจะนำเข้ามาเท่าไรนั้นยังบอกไม่ได้ เพราะพื้นที่ในการปลูกมีจำกัด อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้ทุกคนกลัวกัญชา เพราะต่างประเทศ เช่น 23 มลรัฐในสหรัฐอเมริกา ก็เปิดให้ใช้เพื่อความสำราญได้ และเร็วๆ นี้ แคนาดาเองก็จะประกาศให้ใช้เพื่อความสำราญได้ทั่วประเทศ แต่ประเทศไทยคงใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์มากกว่า