ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยคำสั่งห้ามเรือสำราญเวสเตอร์ดัมขึ้นฝั่ง สุดโหดร้าย ควรเลือกวิธีช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เพื่อยกระดับการพัฒนาการของประเทศในด้านความสัมพันธ์ที่ดีกับนานาชาติ
จากกรณีเรือสำราญเวสเตอร์ดัมจะขออนุญาตเข้าจอดเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ในวันนี้ (13 ก.พ.) ก่อนจะโดนปฏิเสธเนื่องจากเป็นกังวลเกี่ยวกับโรคไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ที่อาจจะปะปนมากับลูกเรือชาวฮ่องกง จนโดนหลายประเทศปฏิเสธมาก่อนหน้านี้ ล่าสุดมีรายงานว่า เรือสำราญเอ็มเอส เวสเตอร์ดัม เดินทางถึงเมืองสีหนุวิลล์ของกัมพูชาแล้ววันนี้ (13 ก.พ.) หลังได้รับไฟเขียวจากนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ซึ่งอนุญาตให้เรือลำนี้เข้าจอดด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม ท่ามกลางความดีอกดีใจของผู้โดยสารและถ้อยคำสรรเสริญจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 11 ก.พ. ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Piti Srisangnam” กล่าวถึงการปฏิเสธให้เรือสำราญเวสเตอร์ดัม จอดเทียบในท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ว่า
“เรากำลังขว้างโอกาสที่ดีที่สุดทิ้งไปกลางทะเล คำสั่งห้ามไม่ให้เรือ MS Westerdam เข้าเทียบท่าที่ประเทศไทย คือคำสั่งที่โหดร้ายและในซึ่งมนุษยธรรม เรือที่ถูกปฏิเสธมาแล้ว 3 ท่า คือ ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และกวม ลอยเรือมาแล้วกว่า 20 วัน ลองนึกถึงจิดใจทุกคนบนเรือดูว่เขากำลังสิ้นหวังเพียงใด พวกเรารู้หรือเปล่าว่าเรือลำนี้เดินทางออกมาจากสิงคโปร์ตั้งแต่ 16 มกราคม และจนถึงวันนี้ (ผ่านมาเกือบ 1 เดือนแล้ว) ยังไม่มีใครป่วยหรือมีอาการไม่สบายเลยแม้แต่คนเดียว จากการคัดกรองเบื้องต้นภายในเรือ แต่ที่หลายๆ ประเทศไม่ยอมรับให้เรือลำนี้จอดเทียบท่า ก็เป็นเพียงเพราะ เรือลำนี้เดินทางออกมาจากเมืองท่าที่มีการแพร่ระบาด
พวกเรารู้หรือไม่ว่า เรือเวสเตอร์ดัมมีผู้โดยสารเป็นคนไทย 19 คน (ชาย 13 หญิง 6 คน) ลูกเรือคนไทย 2 คน รวมคนไทยบนเรือ 21 คน การรับให้เขาเทียบท่า อาจจะไปใช้ facilities ของทหารเรือที่ฐานทัพเรือสัตหีบ จากนั้นคัดกรอง กักบริเวณเพื่อสังเกตอาการ คือเรื่องของมนุษยธรรมเราต้องให้ความช่วยเหลือเพื่อมนุษย์ผู้ประสบภัย ไม่ใช่ผลักใสเขาออกไป เรามีระบบป้องกันภัยทางสาธารณสุขอันดับที่ 6 ของโลก เรามีสถานที่ที่น่าจะเพียงพอที่จะดูแลทุกคนได้ แต่เรากลับเลือกที่จะไม่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
ประเทศสมาชิกจะถูกถามคำถามทั้งหมด 140 คำถาม และสร้างตัวชี้วัดออกมาทั้งหมด 34 ตัว และตัวชี้วัดย่อยอีก 85 ตัว ตัวชี้วัดเหล่านี้ถูกจัดกลุ่มออกมาเป็น 6 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
1. การป้องกันโรค มีระบบสาธารณสุขที่สามารถตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโรคได้ทันท่วงทีหรือไม่ หรือการแพร่ระบาดของการก่อการร้ายชีวภาพละความมั่นคง 2. มีระบบการตรวจจับและรายงาน มีระบบและศักยภาพการตรวจจับการแพร่ระบาดของโรคได้แต่เนิ่นๆ และสามารถส่งรายงานในระดับนานาชาติได้ 3. การตอบสนองต่อปัญหาอย่างรวดเร็ว มีความพร้อมและการเตรียมตัว มีแผนการที่เตรียมไว้ล่วงหน้าอย่างเป็นระบบเพื่อรับมือกรณีเกิดการแพร่ระบาดโรค 4. ระบบสุขภาพ มีระบบสุขภาพที่มีความสามารถในการรักษาผู้ป่วย มีบุคลากรและเครื่องมือแพทย์ที่เพียงพอ และพร้อมในการรักษาผู้ป่วย
5. การปฏิบัติตามข้อกำหนดสากล มีนโยบายในการปฏิบัติตามข้อกำหนดสากล IHR ขององค์กรอนามัยโลก 6. สภาพแวดล้อมต่อความเสี่ยง เป็นการประเมินความเสี่ยงทางการเมืองและความมั่นคง เช่น ความสามารถในการเตรียมตัวหรือรับมือการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจสังคม สาธารณูปโภคพื้นฐานมีเพียงพอหรือไม่ ในการควบคุมการแพร่ระบาดโรคสู่ประเทศเพื่อนบ้าน
สำหรับประเทศไทยได้คะแนนรวม 75.7/100 คะแนน โดยได้คะแนนด้านการป้องกันโรค 75.7 คะแนน ด้านระบบการตรวจจับและรายงาน 81 คะแนน ด้านการตอบสนองต่อปัญหาอย่างรวดเร็ว 78.6 คะแนน ด้านระบบสุขภาพ 70.5 คะแนน ด้านการปฏิบัติตามข้อกำหนดสากล 70.9 คะแนน โดยคะแนนในส่วนที่แย่คือ ความเสี่ยงต่างๆ ด้านเศรษฐกิจการเมืองในการแพร่ระบาดของโรคที่ได้คะแนนเพียง 56.4 คะแนน ซึ่งไทยได้คะแนนสูงจากกรณีการควบคุมการแพร่ระบาดของไข้หวัดตะวันออกกลาง MERS ในปี 2015 ที่สามารถตรวจจับได้ก่อนและเข้าควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ทันท่วงที รวมถึงการมีสถาบันวิจัยการแพร่ระบาดโรคเขตร้อน และมีการทำงานอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านนี้ รวมถึงการมีระบบสุขภาพที่ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้
จะเห็นได้ว่าเรามีความสามารถสูงมาก และด้านที่คะแนนต่ำคือ ด้านที่เราอ่อนที่สุดนัน่คือ สภาพแวดล้อมต่อความเสี่ยง เป็นการประเมินความเสี่ยงทางการเมืองและความมั่นคง เช่น ความสามารถในการเตรียมตัวหรือรับมือการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจสังคม สาธารณูปโภคพื้นฐานมีเพียงพอหรือไม่ ในการควบคุมการแพร่ระบาดโรคสู่ประเทศเพื่อนบ้าน แน่นอน การรับเรือลำนี้เข้ามา จะทำให้มาตรฐานด้านนนี้ของประเทศไทยสูงขึ้นในเวทีโลก และเมื่อรวมกับ 1-5 เราน่าจะป้องกันการแพร่ระบาดได้อย่างดี
คุณรับเรือลำนี้เข้ามาเทียบท่า คุณอาจจะถูกประชาชนบางกลุ่มที่ไม่เข้าใจด่า คุณไม่ให้เรือลำนี้มาจอดเทียบท่า คุณก็ถูกประชาชนด่าเช่นกัน ไม่ว่าคุณจะเลือกทางไหนคุณก็ถูกด่า ทำไมไม่เลือกทางที่เห็นแก่ความเป็นคน เห็นแก่เพื่อนมนุษย์ที่กำลังเดือดร้อน
ลองนึกดูว่า คนที่อยู่ในเรือเช่นนี้เขาจะเดือดร้อนขนาดไหนที่ไม่สามารถขึ้นฝั่งมาได้แล้วเกือบเดือน ถ้าเขาขึ้นฝั่งได้ที่ประเทศไทย เขาจะซาบซึ้ง และจดจำนึกถึงกระเทศไทยตลอดไป ว่าเราคือผู้ที่ช่วยดูแลในยามที่พวกเขาเดือดร้อน เราคือ #มิตรแท้ท่ามกลางความยากลำบาก
การช่วยเหลือมนุษย์ด้วยกันคือเรื่องที่ถูกต้อง สิ่งที่เราต้องทำคือ วางแผนรับมือกับสถานการณ์ให้ดี ประชาสัมพันธ์แผนรับมือที่ดีให้สาธารณชนเข้าใจ หลายๆ คนอาจจะกังวลเรื่องกำลังเงิน กำลังคน ว่าเราจะเอาที่ไหนไปดูแลพวกเขา อย่าลืมนะครับ เราเป็นหนึ่งใน Global Medical Hub ที่เราภูมิใจ เราสร้างรายได้มหาศาลจากการดูแลสุขภาพคนทั้งโลก เรามีศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน (ACMM) ตั้งอยู่ในประเทศไทย ส่วนเรื่องกำลังเงิน ผมเชื่อว่าถ้าเป็นเรื่องช่วยเหลือเพื่อมนุษย์ผู้ประสบภัย คนไทยใจบุญช่วยเหลืออยู่แล้ว และที่สำคัญผมเชื่อว่า ประชาคมโลก ประชาคมอาเซียน ก็ไม่ทอดทิ้งไทยให้เผชิญหน้าแบกภาระตามลำพังอยู่แล้ว อยู่ที่เราจะรู้จักประสานงานหรือไม่ เท่านั้นเอง ถ้าไทยอยากจะยกระดับการพัฒนาการของประเทศ อยากมีบทบาทความสัมพันธ์ที่ดีกับนานาชาติ เราต้องช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ครับ
ในอนาคตเรื่องราวเหล่านี้จะเสริมบทบาทของไทยในเวทีโลก และเราต้องอย่าลืมนะครับ ในระยะยาว ไวรัสจะหยุดระบาด แต่ไวรัลที่เกิดจากความประทับใจ ทุกคนจะบอกต่อๆ กันไปว่า ไทยเราดูแลคนเหล่านี้ดีแค่ไหน ไทยเรามีมาตรฐานทางมนุษยธรรมสูงกว่าหลายๆ ประเทศ เหลานี้จะนำกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับ Hi-end กลุ่มนี้ในเรือ และนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ จากทั่วโลกให้มาเป็นลูกค้าประเทศไทยไปอีกนานแสนนาน แต่ตอนนี้ก็ช้าไปแล้วครับ เพราะจากที่เราเคยอนุญาตให้เขาเทียบท่า จากนั้นเราไม่ให้เขาเทียบท่า นั่นเท่ากับเราได้โยนโอกาสที่ดีในท่ามกลางวิกฤตทิ้งลงทะเลไปแล้วครับ โอกาสที่จะพิสูจน์ว่า เรามีมนุษยธรรม มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐเพราะเรารู้จักที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันครับ”