xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: โลกผวา! ไวรัส ‘COVID-19’ แพร่บนเรือสำราญในญี่ปุ่น ไทยคุมเข้มห้าม ‘เวสเตอร์ดัม’ เทียบท่าแหลมฉบัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เรือสำราญ ไดมอนด์ ปรินเซส ซึ่งถูกกักกันไวรัส COVID-19 อยู่ที่ท่าเรือโยโกฮามา
กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือ COVID-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องบนเรือสำราญ ‘ไดมอนด์ ปรินเซส’ ซึ่งถูกกักโรคอยู่ที่นอกชายฝั่งเมืองโยโกฮามาตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากลูกเรือและข้อถกเถียงในหมู่ผู้เชี่ยวชาญว่าการกักกันคนหลายพันคนไว้บนเรือที่พบผู้ติดเชื้อนั้นเป็นแนวทางที่ถูกต้องหรือไม่ ขณะที่กระแสหวาดกลัวไวรัสโคโรนาจากเรือสำราญยังส่งผลให้ไทยตัดสินใจปฏิเสธไม่ให้เรือ ‘เอ็มเอส เวสเตอร์ดัม’ เข้าเทียบท่าเรือแหลมฉบังในสัปดาห์นี้

รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศให้เรือ ไดมอนด์ ปรินเซส เข้าสู่กระบวนการกักกันโรคเป็นเวลา 2 สัปดาห์เมื่อวันที่ 5 ก.พ. หลังมีการยืนยันว่าผู้โดยสารชาวจีนที่วัย 80 ปีเคยโดยสารเรือลำนี้และเพิ่งขึ้นจากเรือที่ฮ่องกงติดเชื้อไวรัสซึ่งมีต้นตอมาจากมณฑลหูเป่ยของจีน

จากข้อมูลในวันที่ 13 ก.พ. พบว่ามีผู้โดยสารและลูกเรือติดเชื้อไวรัสแล้วรวมทั้งสิ้น 218 คน และเจ้าหน้าที่กักกันโรคอีก 1 คน รวมเป็น 219 คน

เรือสำราญติดธงอังกฤษลำนี้เป็นของบริษัท ปรินเซส ครูสส์ ไลน์ส ในเครือ คาร์นิวัล คอร์ป หนึ่งในผู้ให้บริการเรือสำราญรายใหญ่ที่สุดของโลก บนเรือมีคนอยู่ทั้งสิ้นราว 3,700 คน โดยแบ่งออกเป็นลูกเรือ 1,100 คน และผู้โดยสารอีก 2,670 คน

หนังสือพิมพ์เจแปนไทม์สรายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ผู้โดยสาร 80% บนเรือสำราญ ไดมอนด์ ปรินเซส เป็นผู้สูงวัยที่มีอายุเกินกว่า 60 ปี ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนหากได้รับเชื้อไวรัส

แม้การกักกันโรคจะถูกมองว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่จำเป็น แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนเตือนว่าวิธีนี้อาจใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป

“วิธีที่ญี่ปุ่นใช้อยู่ไม่มีประสิทธิภาพอีกต่อไป และออกจะขาดจริยธรรมด้วยซ้ำ” ทอม อิงเกิลสบี ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อความมั่นคงทางสุขภาพ จอห์น ฮอปกินส์ ระบุ “ดูเหมือนว่าตอนนี้กำลังมีการแพร่เชื้อเกิดขึ้นบนเรือ และเราอาจกำลังปล่อยคนสุขภาพดีไว้กับผู้ติดเชื้อ วิธีนี้จึงไม่สามารถยุติหรือยับยั้งการระบาดได้”

ล่าสุด รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นระบุว่า ผู้โดยสารที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ห้องพักบนเรือไม่มีหน้าต่าง จะได้รับอนุญาตให้ลงจากเรือเร็วที่สุดในวันศุกร์ที่ 14 ก.พ. ในกรณีที่ตรวจไม่พบเชื้อไวรัส COVID-19 ทว่ายังต้องถูกกักตัวอยู่ในสถานที่ที่รัฐบาลญี่ปุ่นจัดไว้ให้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่าสหรัฐฯ ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ไปยังญี่ปุ่นเพื่อช่วยรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสบนเรือ ไดมอนด์ ปรินเซส แล้ว

เรือสำราญ ไดมอนด์ ปรินเซส ซึ่งถูกกักกันไวรัส COVID-19 อยู่ที่ท่าเรือโยโกฮามา
สำหรับประเทศไทยเองก็มีความหวั่นวิตกเกี่ยวกับไวรัส COVID-19 ซึ่งอาจติดมากับเรือสำราญเช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 11 ก.พ. นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่าทางการไทยได้ปฏิเสธคำขอเข้าเทียบท่าเรือแหลมฉบังของเรือสำราญ “เอ็มเอส เวสเตอร์ดัม” ในวันที่ 13 ก.พ. โดยเรือลำดังกล่าวมีผู้โดยสารและลูกเรือกว่า 2,200 คนรวมถึงคนไทย และเคยถูกทางการญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาะกวม และฟิลิปปินส์ ปฏิเสธไม่ให้เทียบท่ามาแล้วเนื่องจากความกังวลเรื่องไวรัส

ต่อมาในวันที่ 12 ก.พ. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสมาคมวิชาชีพเรือสำราญขอให้รัฐบาลช่วยเหลือเรือเวสเตอร์ดัม โดยนายอนุทินระบุว่า ทุกอย่างต้องมีการพิจารณา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้สั่งให้พิจารณาด้วยความมีมนุษยธรรมต่อทุกฝ่าย แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนในประเทศด้วย เพราะบุคลากรของไทยมีจำกัด อีกทั้งยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะยืนยันได้ว่าเรือลำนี้ปลอดภัย

นายอนุทินยังย้ำด้วยว่า ประเทศไทยเป็นเพียงท่าสำรอง ไม่ใช่จุดหมายปลายทางของเรือลำนี้ หากมีเหตุฉุกเฉินก็มีสิทธิที่จะขอเข้ามาได้ ส่วนจะอนุญาตหรือไม่เป็นสิทธิ์ของไทย ยืนยันแม้ไม่ให้เทียบท่าแต่ยังพร้อมมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เช่น อาหาร น้ำ ยารักษาโรค หรือน้ำมันเพื่อให้เรือไปต่อได้

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านทางบัญชีเฟซบุ๊ก Piti Srisangnam โดยชี้ว่าการปฏิเสธไม่ให้เรือเวสเตอร์ดัมเทียบท่านั้นเป็นคำสั่งที่ “โหดร้าย” และเท่ากับว่าไทย “กำลังขว้างโอกาสที่ดีที่สุดทิ้งไปกลางทะเล”

“เรือลำนี้เดินทางออกมาจากสิงคโปร์ตั้งแต่ 16 ม.ค. และจนถึงวันนี้ (ผ่านมาเกือบ 1 เดือนแล้ว) ยังไม่มีใครป่วยหรือมีอาการไม่สบายเลยแม้แต่คนเดียว จากการคัดกรองเบื้องต้นภายในเรือ แต่ที่หลายๆ ประเทศไม่ยอมรับให้เรือลำนี้จอดเทียบท่าก็เป็นเพียงเพราะเรือลำนี้เดินทางออกมาจากเมืองท่าที่มีการแพร่ระบาด” ดร. ปิติ กล่าว

ดร. ปีติ ย้ำว่าไทยมีระบบป้องกันภัยทางสาธารณสุขที่ดีเป็นอันดับ 6 ของโลก และมีสถานที่ที่น่าจะเพียงพอดูแลทุกคนได้ โดยเสนอใช้พื้นที่ฐานทัพเรือสัตหีบเป็นจุดคัดกรองและกักบริเวณเพื่อสังเกตอาการ ซึ่งจะเป็นมาตรการที่สะท้อนถึงความมีมนุษยธรรมมากกว่าการผลักไส

“คนที่อยู่ในเรือเช่นนี้เขาจะเดือดร้อนขนาดไหนที่ไม่สามารถขึ้นฝั่งมาได้แล้วเกือบเดือน ถ้าเขาขึ้นฝั่งได้ที่ประเทศไทย เขาจะซาบซึ้ง และจดจำนึกถึงประเทศไทยตลอดไป ว่าเราคือผู้ที่ช่วยดูแลในยามที่พวกเขาเดือดร้อน เราคือมิตรแท้ท่ามกลางความยากลำบาก… และเราต้องอย่าลืมนะครับ ในระยะยาวไวรัสจะหยุดระบาด แต่ไวรอลที่เกิดจากความประทับใจ ทุกคนจะบอกต่อๆ กันไปว่า ไทยเราดูแลคนเหล่านี้ดีแค่ไหน ไทยเรามีมาตรฐานทางมนุษยธรรมสูงกว่าหลายๆ ประเทศ เหล่านี้จะนำกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับ Hi-end และนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ จากทั่วโลกให้มาเป็นลูกค้าประเทศไทยไปอีกนานแสนนาน… แต่ตอนนี้ก็ช้าไปแล้วครับ เพราะจากที่เราเคยอนุญาตให้เขาเทียบท่า จากนั้นเราไม่ให้เขาเทียบท่า นั่นเท่ากับเราได้โยนโอกาสที่ดีในท่ามกลางวิกฤตทิ้งลงทะเลไปแล้วครับ”

เรือสำราญ เอ็มเอส เวสเตอร์ดัม ขณะทอดสมออยู่นอกชายฝั่งเมืองสีหนุวิลล์ของกัมพูชา เมื่อวันที่ 13 ก.พ.

บุคลากรทางการแพทย์ของกัมพูชาเตรียมทำการตรวจคัดกรองผู้โดยสารบนเรือสำราญเวสเตอร์ดัม
ล่าสุดประเทศที่ได้หน้าไปเต็มๆ จากกรณีนี้ก็คือ “กัมพูชา” หลังจากนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ประกาศไฟเขียวให้เรือเวสเตอร์ดัมเข้าจอดเทียบท่าที่เมืองสีหนุวิลล์ในวันที่ 13 ก.พ. ด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม

เทดรอส อาดานอม เกเยเบรซัส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยกย่องความมีน้ำใจของรัฐบาลกัมพูชา และชี้ว่า “นี่คือตัวอย่างของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวระดับนานาชาติที่เราเรียกร้องมาโดยตลอด... โรคระบาดทำให้เราได้เห็นสิ่งที่ดีที่สุดและแย่ที่สุดในตัวผู้คน”

วินเซนต์ สมิต กัปตันเรือเวสเตอร์ดัม ระบุในจดหมายถึงผู้โดยสารว่า เรือจะทอดสมอที่นอกชายฝั่งเมืองสีหนุวิลล์เพื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกัมพูชาทำการตรวจสุขภาพผู้โดยสารก่อน และผู้โดยสารส่วนใหญ่จะได้รับอนุญาตให้ลงจากเรือเพื่อออกเดินทางกลับบ้านด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำจากท่าอากาศยานานาชาติพนมเปญตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ.เป็นต้นไป

นอกจากเรือทั้ง 2 ลำที่กล่าวมาแล้ว ยังมีเรือสำราญ “เวิลด์ ดรีม” ซึ่งถูกไต้หวันปฏิเสธไม่ให้เทียบท่าที่เมืองเกาสง และต่อมาในวันที่ 5 ก.พ. ก็ถูกทางการฮ่องกงสั่งกักกันโรคอยู่ที่ท่าเรือสำราญไคตั๊กพร้อมผู้โดยสารและลูกเรือ 3,600 คน หลังพบว่าเรือลำนี้เคยรับผู้โดยสารชาวจีน 3 คนที่ติดไวรัส COVID-19

แม้การระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน (SARS) จะเคยส่งผลกระทบต่อการเดินทางมาแล้ว แต่ครั้งนี้อุตสาหกรรมเรือท่องเที่ยวกลับได้รับผลกระทบรุนแรงเป็นพิเศษจากไวรัส COVID-19 สาเหตุสำคัญเป็นเพราะต้นตอการระบาดอยู่ใน “จีน” ซึ่งถือเป็นตลาดเกิดใหม่ของธุรกิจเรือสำราญ

ข้อมูลจากสมาคมเรือสำราญนานาชาติ (Cruises Lines International Association - CLIA) ซึ่งรายงานความเคลื่อนไหวของตลาดในเอเชีย ระบุว่า จำนวนผู้โดยสารเรือสำราญท่องมหาสมุทรในทวีปเอเชียพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์แตะ 4.24 ล้านคนในปี 2018 โดย 55% เป็นผู้โดยสารจากจีนแผ่นดินใหญ่

อย่างไรก็ดี ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายสื่อสารยุทธศาสตร์ของ CLIA ให้สัมภาษณ์กับยูเอสเอทูเดย์ว่า แม้ตลาดเอเชีย-แปซิฟิกจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ยังถือว่าค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับตลาดเรือสำราญในภูมิภาคอื่นๆ ของโลก โดยในปี 2018 เรือสำราญในกลุ่ม CLIA รองรับผู้โดยสารทั่วโลกมากถึง 28.5 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้โดยสารจากจีน ฮ่องกง และมาเก๊าเพียง 2.5 ล้านคน หรือราวๆ 8-9% เท่านั้น

ผู้อำนวยการ CLIA ระบุด้วยว่า แม้จะมีเรือสำราญหลายลำที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา ทว่าอีกหลายร้อยลำทั่วโลกก็ยังคงให้บริการแก่ผู้โดยสารได้ตามปกติ

WHO ได้ประกาศตั้งชื่อให้กับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในจีนว่า "COVID-19" เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างบาดแผลหรือมลทินให้กับเมืองอู่ฮั่นซึ่งเป็นจุดแรกที่พบการแพร่ระบาด ขณะที่ผู้อำนวยการใหญ่ WHO ออกมาเรียกร้องให้ทั่วโลกตระหนักว่าไวรัสชนิดนี้กำลังกลายเป็น “ศัตรูอันดับหนึ่งของสาธารณชน (Public Enemy No.1)” ซึ่งอาจจะร้ายแรงยิ่งกว่า “ภัยก่อการร้าย” เสียอีก

เซิง กัง (Zeng Gang) รองประธานสถาบันการเงินและการพัฒนาแห่งชาติจีน (NIFD) คาดการณ์ว่าระบาดของไวรัส COVID-19 จะส่งผลให้จีดีพีจีนขยายตัวลดลงระหว่าง 0.2% ถึง 1% ในปี 2020 และอาจทำให้สถิติการล้มละลายของธุรกิจขนาดย่อมและตัวเลขคนว่างงานเพิ่มสูงขึ้นในไตรมาสแรก ขณะที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ยืนยันว่ารัฐบาลปักกิ่งจะป้องกันไม่ให้เกิดการเลิกจ้างขนานใหญ่ และในส่วนของธนาคารกลางจีนก็ได้เตรียมมาตรการต่างๆ เพื่อบรรเทาความเสียหายทางเศรษฐกิจ อาทิ ลดดอกเบี้ย อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดการเงิน และจัดหาเงินทุนพิเศษเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์นำไปปล่อยกู้แก่ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เป็นต้น

นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน แห่งกัมพูชาเดินทางไปต้อนรับผู้โดยสารเรือสำราญเวสเตอร์ดัมที่เมืองสีหนุวิลล์เมื่อวันที่ 14 ก.พ. หลังอนุญาตให้เรือลำนี้เข้าจอดเทียบท่า โดยก่อนหน้านี้เรือเวสเตอร์ดัมถูกทางการ 5 ประเทศกีดกันไม่ให้เข้าจอดเนื่องจากเกรงว่าจะมีการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในหมู่ผู้โดยสาร

นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน แห่งกัมพูชาเดินทางไปต้อนรับผู้โดยสารเรือสำราญเวสเตอร์ดัมที่เมืองสีหนุวิลล์เมื่อวันที่ 14 ก.พ. หลังอนุญาตให้เรือลำนี้เข้าจอดเทียบท่า โดยก่อนหน้านี้เรือเวสเตอร์ดัมถูกทางการ 5 ประเทศกีดกันไม่ให้เข้าจอดเนื่องจากเกรงว่าจะมีการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในหมู่ผู้โดยสาร
กำลังโหลดความคิดเห็น