"ดร.พิชาย" ชี้จับตาศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ อาจถึงขั้นทำ "ประยุทธ์" ท้อ จนประกาศลาออก เชื่ออย่างน้อยต้องปรับ ครม. "ธรรมนัส - ดอน" ไม่น่ารอด
วันที่ 3 ม.ค. 63 รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อ.ประจำหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมสนทนาในรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง "นิวส์วัน" ในหัวข้อ "จับตาศึกซักฟอกรัฐบาล"
ดร.พิชาย กล่าวว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่จะถึงนี้ อาจเกิดจุดเปลี่ยนทางการเมือง อย่างน้อยรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย ก็สั่นสะเทือนความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่ง หนักสุดน่าจะเป็น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หลักฐานต่าง ๆ ที่ฝ่ายค้านสืบเสาะมาจากออสเตรเลีย ทำให้มีน้ำหนักมากพอควร อีกคนที่น่าจะเผชิญข้อมูลจากฝ่ายค้านหนักก็คือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กระทรวงนี้โครงการเยอะ มีเรื่องราวให้กล่าวขานเยอะ ถ้าฝ่ายค้านหาข้อมูลหลักฐานมาได้จะสร้างปัญหาให้พอควร
ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นแกนหลักขับเคลื่อน พปชร. ถ้าสามารถสั่นคลอน พล.อ.ประวิตร ได้ ก็สั่นคลอน พปชร.ได้ แต่นอกจากเรื่องนาฬิกาแล้วเรื่องอื่นก็ไม่ปรากฏสู่สาธารณะเท่าไหร่ แต่อนาคตใหม่ยืนยันอภิปรายเรื่องการทุจริต ก็อาจมีข้อมูลใหม่ที่ยังไม่ปรากฏสู่สาธารณะ
ดร.พิชาย กล่าวอีกว่า เป้าหมายหลักของการอภิปราย คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับ ข้อกล่าวหาไม่ยึดมั่นและศรัทธาต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ล้มล้างรัฐธรรมนูญ ปิดปากผู้ที่มีความเห็นต่าง ฝ่ายวิปรัฐบาลถึงกับต้องให้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบว่าเป็นญัตติเท็จ ซึ่งตนคาดว่า นายชวน ไม่น่าจะรับลูกตรวจสอบ เพราะข้อกล่าวหาที่ว่ามามันก็เป็นจริง
เมื่อถามว่าศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะเขย่ารัฐบาลถึงขั้น พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกไหม ดร.พิชาย กล่าวว่า ดูช่วงนี้นายกฯทำงานหนัก ดูป่วยทั้งกายและใจ บางทีก็บ่นออกมาว่าทำงานหนักก็ยังโดนวิจารณ์ อย่างนี้เป็นเสียงที่บ่นออกมาจากจิตใต้สำนึก ตนเชื่อว่านายกฯไม่มีผลประโยชน์อะไรที่ต้องพิทักษ์เอาไว้ ความคิดคงอยากทำอะไรเพื่อบ้านเมือง พอเจอหนัก ๆ เข้า อาจอยากวางมือก็ได้
ดร.พิชาย ยังกล่าวต่ออีกว่า หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลคงถูลู่ถูกังต่อไม่ไหว อย่างน้อยต้องปรับ ครม. อย่างน้อย 2 คน คือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คนอื่นอาจมีด้วยก็ได้ ถ้าชนะในการโหวตไม่ไว้วางใจ แต่หากฝ่ายค้านอภิปรายไปแล้วเกิดมีข้อมูลทำให้ประชาธิปัตย์ไม่ไหว ถึงขั้นงดออกเสียง นี่เรื่องหนักเลย เพราะยุบสภาก็ไม่ได้ ยกเว้นประกาศลาออก เมื่อก่อนถ้ารัฐบาลกลัวว่าจะแพ้อภิปรายจะชิงยุบสภา แต่รัฐธรรมนูญตอนนี้ไม่ให้ยุบสภา
ส่วนตัวแปรอย่างประชาธิปัตย์ กับ ภูมิใจไทย นายอนุทินคงไม่ทำอะไรหักหามน้ำใจรัฐบาล ส่วนประชาธิปัตย์ในนามพรรคคงไม่ แต่ลูกพรรคไม่แน่ ว่าจะคุมเสียงกันได้หรือเปล่า ประชาธิปัตย์เองตอนนี้ก็ลุ้นว่า นายอภิสิทธิ์ จะคัมแบ็กหรือเปล่า สถานการณ์นี้ก็มีการเคลื่อนไหวกันอยู่ เรื่องเสียบบัตรแทนกันก็อาจทำให้ไปถึงการคัมแบ็กของนายอภิสิทธิ์ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ออกมาเปิดเรื่องเสียบบัตรแทนกัน กระทบทั้งต่อ พ.ร.บ.งบประมาณ กระทบพรรคอื่น ๆ ด้วย แต่เรื่องนี้โทษ นายนิพิฏฐ์ ไม่ได้ เพราะทำถูกแล้ว ต้องโทษคนที่เสียบบัตรแทนกัน ที่ทำให้สภามีปัญหา
เมื่อถามว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.งบประมาณ 63 โมฆะหรือเปล่า ดร.พิชาย กล่าวว่า ถ้าศาลเห็นว่าเป็นเรื่องตัวบุคคล พ.ร.บ.ก็ผ่านไป อีกทิศทางหนึ่งศาลอาจเห็นว่านี่คือการทำกระบวนการที่ทำให้รัฐสภาเสียหาย งบฯก็จะตกไป แต่ตนคาดว่าแนวโน้มน่าจะเป็นแบบแรกมากกว่า