พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบรศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถพิตร เสด็จฯ จากพระราชวังไกลกังวล ไปอาคารทรงงานปฏิบัติการฝนหลวงท่ากากาศยานหัวหิน ที่สนามบินบ่อฝ้าย ทรงนำสอนนักเรียนจากโรงเรียนไกลกังวล ถึงขั้นตอนการทำฝนหลวง ตามศาสตร์พระราชาฝนหลวง ประกอบการอธิบายตำราฝนหลวงด้วยพระองค์เอง การนำสอนในวันนั้นเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญที่ติดอยู่ในความทรงจำของคนไทยทั้งปวง
นายปนิธิ เสมอวงษ์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งตามเสด็จฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในวันดังกล่าวได้เล่าให้ฟังว่า ขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว ติดตามพระองค์ โดยจะต้องประจำการอยู่ที่สนามบินหัวหินบ่อฝ้าย และต้องตามเสด็จฯ เมื่อมีการแปรพระราชฐาน
ในครั้งนั้น ก่อนวันเสด็จพระราชดำเนินประมาณเกือบ 1 เดือน ได้รับการประสานจากผู้อำนวยการกองงานในพระองค์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่าจะเสด็จฯ นำนักเรียนจากโรงเรียนวังไกลกังวลมาสอนเรื่องการทำฝนหลวง ภารกิจของหน่วยขณะนั้นคือการวางแผนการบิน และการใช้สารฝนหลวงว่าจะใช้สูตรใด ที่จะเหมาะกับสภาพอากาศวันที่จะเสด็จพระราชดำเนิน โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นผู้ทรงกำหนดวันด้วยพระองค์เอง เพราะทรงมีพระปรีชาเรื่องอุตุนิยมวิทยามาก ก่อนหน้าทรงเลือกต้นเดือน ต.ค. แต่ติดพระราชกรณียกิจ จึงเลื่อนมาสิ้นเดือน ต.ค. โดยทรงรับสั่งว่า “ช้ากว่านี้จะเข้าหนาว อากาศจะไม่เหมาะ”
ในการเป็นครูสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 วันนั้น ทรงเริ่มจากการอธิบายคุณสมบัติของสารสูตรฝนหลวง ที่จะใช้กับเมฆอุ่นและเมฆเย็น และ 3 ขั้นตอน คือก่อกวน เลี้ยงให้อ้วนและโจมตี ประกอบกับการสอนโดยอธิบาย ผ่านตำราฝนหลวง ที่ทรงประดิษฐ์ด้วยพระองค์เอง การบรรยาย ไม่มีบท ไม่มีสคริปต์ เพราะทรงเป็นครูที่ศึกษาด้วยพระองค์เองมาตลอด
จบการสอนในห้อง พระองค์ทรงนำสอนนอกห้องเรียน ใช้ท้องฟ้าเป็นกระดานดำ ทรงสอนให้นักเรียนสังเกตทิศทางการบิน และท่าทางการบิน เพื่อเอื้อการทำฝนให้เกิดผลสัมฤทธิ์มากที่สุด ในขณะที่ทรงสอนเด็กนักเรียน ทรงพระเกษมสำราญในการสอน ในการถ่ายทอดความรู้ของพระองค์ที่ทรงศึกษามาต่อเนื่องให้กับเด็กนักเรียนและประชาชนทั่วไปที่ได้ชมผ่านข่าวสำนักพระราชวัง 30 ต.ค. 2544 พระราชดำรัสเหล่านั้นต่างก้องในใจของเจ้าหน้าที่และข้าราชการทุกคนที่ได้รับเสด็จ
“วันนั้นทำให้อีกหลายคนที่ไม่เคยเข้าเฝ้า ไม่เคยฟังรับสั่งในเวลาทรงงาน เวลาแนะนำการทำงาน วันนั้นทุกคนมีโอกาสได้ฟังและตระหนักในจิตใจได้ทันทีว่า ทรงเป็นผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครูโดยแท้จริง พวกผมตระหนักในพระอัจฉริยะภาพด้านนี้เป็นที่สุด และเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้” นายปนิธิเล่าด้วยเสียงปลาบปลื้ม
ทั้งนี้ตำราฝนหลวงพระราชทาน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้นำรายละเอียดตำราฝนหลวง ที่ทรงทำเป็น กราฟิกแบบเข้าใจง่าย ย่อยตำราศึกษาที่ใช้เวลาศึกษา 14 ปี ผสมผสานกับขนบประเพณีของไทย แฝงด้วยพระอารมณ์ขันไว้จบใน 1 หน้ากระดาษ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนทั่วไป หากไม่ตกผนึกพอ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้นำศาสตร์เหล่านั้นเผยแพร่ในหลากรูปแบบ และสามารถเข้าไปศึกษาในเวบไซต์ของกรม เพื่อศึกษาตำราฝนหลวง ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานเป็นสมบัติล้ำค่าของไทยและสมบัติแห่งโลกสืบไป