จากสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงในปี 2542 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงโปรดให้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษที่จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งให้กับประชาชน ผลปฏิบัติการแก้ภัยแล้งครั้งนั้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ เมื่อต่อมามีการเปิดเผยว่ามาจากลายพระหัตถ์ในกระดาษเอ 4 ผ่านกองงานส่วนพระองค์ถึงหน่วยปฏิบัติการ นายปนิธิ เสมอวงษ์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร หนึ่งในคณะผู้ปฏิบัติการครั้งนั้นเล่าว่า ความเดือดร้อนของประชาชนไม่เคยรอดพ้นจากสายพระเนตร พระกรรณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยในปี 2542 ขณะนั้นเกิดภาวะภัยแล้งหนักมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง พระองค์ทรงให้ตั้งหน่วยฝนหลวงพิเศษ ที่จ.นครสวรรค์ และให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วในพระองค์ ไปช่วยที่หน่วยดังกล่าว ตั้งแต่ 29 ม.ค. 2542 ซึ่งหน่วยได้ปฏิบัติการเต็มกำลังจนจบภารกิจเมื่อ 15 เม.ย. 2542
“วันที่ 17 เม.ย. 2542 ได้ทรงเรียกให้ผมและคณะเข้าเฝ้า และพระราชทานปีกฝนหลวงให้ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง รวมทั้งพระราชทานเหรียญพระมหาชนกเนื้อเงินให้ ในฐานะที่เพียรพยายามในการทำงาน ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ปกเกล้า ปกกระหม่อมผมชั่วชีวิต”
น.ท.มณีพันธ์ รบชัยชนะ หรือพี่ม้าของน้องๆในกรมฝนหลวงฯ เล่าว่า ในปีนั้นแล้งมาก ชาวนาร้องขอฝนหลวง ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ โดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งจากเชียงใหม่ กลับมากรุงเทพมหานคร ตลอดเส้นทาง ทอดพระเนตรเห็นว่าท้องฟ้าบริเวณจังหวัดนครสวรรค์มีเมฆลอยอยู่บ้างตลอดเส้นทาง จึงรับสั่งว่า ทำไมทำฝนให้ประชาชนไม่ได้ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษ โดยให้ผู้อำนวยการกองงานในพระองค์มาประสานงานในพื้นที่กับกรมฝนหลวงฯ ซึ่งในขณะนั้นเป็นสำนักฝนหลวงฯ และให้ถวายรายงานทุกวัน
“ทุกฝ่ายช่วยกันเต็มที่ พวกผมในฐานะนักบินก็เต็มที่ บินหาเมฆกันวันละหลายรอบ เจอไม่มากก็พยายามทำฝน แต่ก็ยังไม่ตก เราก็รู้สึกไม่สบายใจ แต่ก็พยายามกันต่อไป เวลาผ่านไประยะหนึ่ง ผอ.กองงานในพระองค์ กลับไปทูลถวายรายงานว่ายังไม่ได้ผล พระองค์จึงพระราชทานตำราฝนหลวงมาให้ แล้วรับสั่งว่าให้ทำตามสูตรในหนังสือ ก็ปรากฏว่าได้ผลฝนตกลงมา จากนั้นก็ทำตามตำราต่อเนื่อง สถานการณ์คลี่คลาย จึงรับสังว่าพอแล้วช่วยประชาชนได้แล้ว”
น.ท.มณีพันธ์ เล่าต่อว่า เหตุการณ์ครั้งนั้น กลายเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของกรมก็คือ ในครั้งนั้นเมื่อได้ตำราฝนหลวงมาแล้ว ก็ปรากฏว่ายังหาเมฆไม่ค่อยเจอ
“แต่มาวันหนึ่งผอ.กองงานฯ มาที่หน่วยเคลื่อนที่เร็ว มาถึงก็สั่งให้ขึ้นบินพร้อมทีมปฏิบัติการทำฝน บอกว่า ไป เราไปหาเมฆกัน แล้วขอเครื่องไป 1 ลำ ก็ให้ไปในทิศที่บอก มุ่งหน้าอำเภอคลองขลุง จ.กำแพงเพชร พอเข้าเขตคลองขลุง 5 ไมล์ ก็พบกลุ่มเมฆก้อนใหญ่มาก จึงได้เข้าปฏิบัติการเลี้ยงให้อ้วนเพิ่มขึ้น ผลคือฝนตกเยอะมาก พวกเราดีใจมาก จากวันนั้นผอ.กองงานฯก็มาเฉลยว่า รู้หรือไม่ ทำไมให้ไปคลองขลุง ผอ.กองงานฯเล่าว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์นั่งเฝ้าฟังรายงานกรมอุตุนิยมวิทยา ดูแผนที่ลมตลอดเวลา ไม่ทรงเหนื่อย ไม่ทรงพัก แล้ววันนั้นก็ถือกระดาษมา แล้วบอกว่ามีลมตะวันตกมา แล้วร่องความกดอากาศสูง ความกดอากาศต่ำมาเจอกันในจุดนั้นน่าจะมีผลให้เมฆไปอยู่บริเวณคลองขลุงให้ไปดูเมฆแถวนั้น ผอ.กองงานฯส่งกระดาษเอ 4 ลายพระหัตถ์เขียนด้วยดินสอให้พวกเราดู พวกเรานี่นั่งนิ่ง น้ำตาเอ่อ จุกเลย สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างบอกไม่ถูก พระองค์ทรงงานพร้อมกับพวกเราตลอดเวลา ทรงชี้แนะ และติดตามงานทุกวัน คนกรมฝนหลวงฯ จึงตระหนักดีว่าการทำงานของพวกเราจะมีในหลวงรัชกาลที่ 9 ติดตามผลตลอดเวลา”
ผลจากการทำงานอย่างไม่ท้อถอยครั้งนั้น เมื่อแล้วเสร็จทรงรับสั่งให้คณะผู้ปฏิบัติงานเข้าเฝ้าฯ และพระราชทานเหรียญพระมหาชนกและ Patch ปักเป็นรูปพระมหาชนกสำหรับติดที่ชุดนักบิน ซึ่งพระองค์ให้แทนความหมายของความเพียรพยายาม ที่ทำให้เกิดผลสำเร็จ ซึ่ง Patch นี้ เห็นครั้งใด ก็จะรู้สึกฮึกเหิมในการทำงาน เหมือนเป็นแรงบันดาลใจผู้ปฏิบัติการงานไม่ท้อถอย มีพลังที่จะทำงานให้สำเร็จ ทุกวันนี้สองสิ่งที่ได้รับมา น.ท.มณีพันธ์ บอกว่า “บูชาไว้บนหิ้ง”
เหมือนดังที่ว่า “อันความกรุณาปราณี จะมีใครบังคับก็หาไม่ หลั่งมาเองเหมือนฝนจากฟากฟ้าสุรารัย สู่แดนดิน” พระมหากรุณาธิคุณดังกล่าวจึงเป็นสายฝนเพื่อแผ่นดินอย่างแท้จริง