จากเรื่องราวบอกเล่าและหลักฐานบันทึกโบราณที่กล่าวถึงดินแดนสีทองอุดมสมบูรณ์ ทั้งในชื่อของ suvaṇṇa (อินเดีย) Χρύση (กรีก) Aureaus (โรมัน) 金 (จีน) และ สุวรรณภูมิ หรือ สุวัณณภูมิ โดยอาจเป็นเกาะ ทวีป หรือเมือง ครอบคลุมดินแดนตั้งแต่ส่วนที่อยู่เลยจากอินเดียมาจนจรดถึงจีน (Beyond India, before China) ตั้งอยู่เลยจากลุ่มน้ำคงคาก่อนถึงจีน เป็นดินแดนที่ปรากฏเมืองท่า นคร แว่นแคว้น รัฐน้อย ๆ หลายรัฐ ก่อนที่จะเกิดรัฐขนาดใหญ่ในสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ โดยมีการค้าเป็นปัจจัยหลัก ตามด้วยการจัดการบ้านเมือง และการศาสนา ผนวกกับในพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ปรากฏชื่อเมือง “สุวรรณภูมิ” ซึ่งเป็นนามเดียวกับที่พระราชทานให้ท่าอากาศยานหลักของประเทศไทย นับเป็นพระราชกุศโลบายที่อยากให้ประเทศไทยได้ยึดมั่นในความเพียรเพื่อพัฒนาแผ่นดินให้อุมดสมบูรณ์ดังเช่นชื่อสุวรรณภูมินี้
จึงนำไปสู่โครงการ สุวรรณภูมิ: ภูมิแห่งคุณค่าอาเซียน การค้นหาแผ่นดินสุวรรณภูมิในอดีตในหลากหลายมุมมอง ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูล ด้านศิลปะ การค้า ศาสนา วัฒนธรรม ธรณีวิทยา ธรณีสัณฐาน ประวัติศาสตร์ โบราณสถาน การตั้งถิ่นฐาน ฯลฯ ด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ผ่านแนวคิดหลัก “Connecting the various traces of Suvarnabhumi by using Area-based Techniques” เพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลง ที่ตั้งทางโบราณคดีและการพัฒนาการของเมืองโบราณ โดยเริ่มจาก
- รวบรวม ข้อมูลหลักฐาน บันทึก จารึก และวิจัยต่าง ๆ ทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เพื่อนำมาสกัดหาเมืองต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้อง เกี่ยวพันกับสุวรรณภูมิ ให้อยู่ในรูปแบบข้อมูลเชิงพื้นที่ ด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ภายใต้การควบคุมความถูกต้องจากนักวิชาการด้านโบราณคดี
- วิเคราะห์ความเชื่อมโยงของหลักฐานต่อสภาพภูมิประเทศในอดีต โดยมุ่งเน้นการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงของแนวชายฝั่งทะเลโบราณกับเมืองท่าโบราณในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง
- วิเคราะห์และสังเคราะห์เส้นทางข้ามคาบสมุทรต่อการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณ โดยมุ่งเน้นเส้นทางสำคัญ จาก 8 เส้นทางคือ เส้นทางทวาย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา - ออกแก้ว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม หรือ เส้นทางปากโขง-ปากมังกร โดยมีเมืองโบราณตั้งอยู่ตลอดเส้นทางถึง 11 เมือง ซึ่งมีความสัมพันธ์สอดคล้องกับสุวรรณภูมิและเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญอีกเส้นของภูมิภาค
ความมุ่งหวังของโครงการฯ ไม่ใช่ต้องการพิกัดว่าสุวรรณภูมิอยู่ที่ใดบนโลกนี้อย่างชัดเจน แต่เพื่อทำให้อาเซียนเห็นคุณค่าร่วม นำไปสู่การพัฒนาศักยภาพเชิงพื้นที่และต่อยอดในการสร้างนโยบายร่วมที่จะร่วมขับเคลื่อนทั้งภูมิภาคอาเซียนไปสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยกัน
[คัดย่อจากงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ สุวรรณภูมิ: ภูมิแห่งคุณค่าอาเซียน
วันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 ณ Auditorium Hall, ชั้น 10 C asean, อาคาร CW Tower]
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมของ
สุวรรณภูมิ : ภูมิแห่งคุณค่าอาเซียน
(Suvarnabhumi : Terra of ASEAN Co-cultural Values)
ได้ที่ suvarnabhumi.gistda.or.th