“ฝนหลวง” ถือเป็นโครงการพระราชดำริส่วนพระองค์ของ พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งทรงเห็นความทุกข์ของประชาชนที่ประสบปัญหาความแห้งแล้ง ครั้งเสด็จแปรพระราชฐานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่จังหวัดนครพนม สกลนคร ในวันจันทร์ที่ 14 พ.ย. พ.ศ. 2498 ความทุกข์ของประชาชนที่ขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค จึงเสมือนสารตั้งต้น ของศาสตร์พระราชาฝนหลวง ที่วันนี้คนทั้งโลกต่างรับทราบถึงพระมหากรุณาธิคุณที่แผ่ไพศาล สมพระราชสมญา พระบิดาแห่งฝนหลวง
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากการเสด็จเยือนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในครั้งนั้น เป็นที่มาของพระราชดำริโครงการฝนหลวง พระองค์ได้รับสั่งให้หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล เข้าเฝ้า และพระราชทานความคิดในการทำฝน เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือประชาชน และจากนั้นทรงมุ่งมั่นค้นคว้าการทำฝน จนสามารถทดลองได้จริงครั้งแรกเมื่อ 1-2 ก.ค. 2512 ที่วนอุทยานเขาใหญ่ โดยครั้งนั้น ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ ได้ทดลองหยดน้ำแข็งแห้งที่ยอดเมฆระดับความสูง 10,000 ฟุต และสังเกตเห็นว่าเมฆที่กระจายตัวมีการรวมตัวของเมฆและการติดตามก้อนเมฆพบว่าเป็นฝนตกในพื้นที่เขาใหญ่ได้จริง
ความสำเร็จจากการค้นคว้าตลอด 14 ปีของพระองค์ ที่ทุ่มเท ศึกษา และทดลอง และพระราชทานข้อมูลให้ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เป็นการยืนยันแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระดำรัสเสมอว่าเรื่องการดึงเมฆ เรื่องการทำฝนสามารถทำได้ จนเป็นศาสตร์พระราชาฝนหลวงที่ทั่วโลกต้องการเรียนรู้ รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ 14 พ.ย. ของทุกปี เป็นวันพระบิดาแห่งฝนหลวง เป็นผลให้สำนักฝนหลวงก่อเกิด และพัฒนาเป็นกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อสืบสานโครงการพระราชดำริฝนหลวงศาสตร์ของพระราชา เมื่อ 24 ม.ค. 2556
ดร.สุรสีห์ กล่าวว่า สมเด็จพระชนกาธิเบศรฯ ทรงคิดค้นสารฝนหลวง เป็นที่มาของสารฝนหลวงพระราชทาน ที่ประกอบด้วย สารฝนหลวงสูตรร้อน มีแคลเซียมคลอไรด์ แคลเซี่ยมออกไซด์ สารฝนหลวงสูตรเย็น ยูเรีย แอมโมเนียมไนเตรท น้ำแข็งแห้ง สูตรสร้างแกนกลั่นตัวของอากาศ เกลือแป้ง (โซเดียมคลอไรด์) และสารฝนหลวงในสูตร ท ๑
“แต่เหนือสิ่งอื่นใด ผมเห็นว่า สารตั้งต้นทั้งหมดคือความทุกข์ของประชาชน ที่พระองค์ทรงเคยมีพระราชดำรัสว่าความทุกข์ของประชาชนชน รอไม่ได้ และพระราชดำรัสนี้ เป็นหนี่งพระดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระบิดาแห่งฝนหลวง ที่คนกรมฝนหลวงฯรับใส่เกล้าฯ”
19 ต.ค. 2515 พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงนำคณะนักวิทยาศาสตร์จากสิงคโปร์ที่มาสังเกตการการทำฝน ในไทย ที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยครั้งนั้นทรงบัญชาการการปฏิบัติการสาธิตด้วยพระองค์เอง ซึ่งภายใน 5 ชั่วโมงฝนได้ตกในพื้นที่เป้าหมาย ในจุดดังกล่าวปัจจุบันกรมฝนหลวงฯได้ร่วมกับกรมชลประทานในการบำรุงรักษาพื้นที่และทำเป็นพิพิธภัณฑ์ห้องเรียนรู้พื้นที่ทรงงาน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าเยี่ยมชมและหาความรู้ศาสตร์พระราชาฝนหลวง
อธิบดีกรมฝนหลวงฯ กล่าวว่า จากพระอัจฉริยะภาพดังกล่าวทำให้คณะอนุกรรมการว่าด้วยภูมิอากาศแห่งอาเซียนและองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก มีมติให้ไทยเป็นศูนย์กลางการดัดแปรสภาพอากาศในภูมิภาคเขตร้อน เมื่อปี 2527 และมีมติยืนยันอีกครั้งเมื่อปี 2537 ทำให้ไทยเข้าไปมีบทบาทมากขึ้นในระดับโลก และเป้าหมายของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร คือการเป็นศูนย์กลางการดัดแปรสภาพอากาศของโลก เพื่อเผยแพร่ศาสตร์พระราชาฝนหลวงเพื่อการพัฒนาและช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลกอย่างยั่งยืน