1.รวบแล้ว โจรชิงทอง-ฆ่า 3 ศพลพบุรี เป็นถึง “ผอ.รร.” อ้างก่อเหตุเพราะอยากตาย-อยากถูกวิสามัญฯ!
ความคืบหน้าคดีคนร้ายชิงทรัพย์ร้านทองออโรร่า กลางห้างที่ จ.ลพบุรี โดยใช้อาวุธปืนเก็บเสียงยิงชาวบ้านและพนักงานร้านทอง จนมีผู้บาดเจ็บหลายราย และเสียชีวิต 3 ราย โดยผู้เสียชีวิตมีเด็กวัย 2 ขวบรวมอยู่ด้วย โดยคนร้ายได้ทองไป 28 บาท มูลค่ากว่า 6 แสนบาท ก่อนหลบหนีด้วยรถจักรยานยนต์ ซึ่งมีภาพจากกล้องวงจรปิดบันทึกเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุได้ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา
ในที่สุด เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมคนร้ายรายนี้ได้แล้วเมื่อวันที่ 22 ม.ค. ทราบชื่อคือ นายประสิทธิชัย เขาแก้ว หรือกอล์ฟ อายุ 38 ปี เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนวัดโพธิ์ชัย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสิงห์บุรี ซึ่งนายประสิทธิชัยมีบ้านพักอยู่ใน จ.ลพบุรี และถูกจับกุมได้ขณะขับรถเพื่อไปยังโรงเรียนวัดโพธิ์ชัย
มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ลงพื้นที่แกะรอยคนร้าย และได้รับแจ้งเบาะแสจากพลเมืองดีว่า คนร้ายที่ก่อเหตุดังกล่าวน่าจะเป็นนายประสิทธิชัย จึงดำเนินการพิสูจน์ทราบ พร้อมรวบรวมพยานหลักฐาน โดยใช้เวลาสืบสวนประมาณ 7 วัน เมื่อพบหลักฐานหลายอย่าง โดยเฉพาะอาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุซึ่งเชื่อมโยงว่านายประสิทธิชัยคือผู้ก่อเหตุ จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอนุมัติหมายจับ กระทั่งศาลออกหมายจับเมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา
หลังจับกุมนายประสิทธิชัยได้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้ลงพื้นที่ร่วมสอบปากคำนายประสิทธิชัย โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ยืนยันว่า ไม่ใช่จับแพะ พร้อมบอกสื่อ จะเปิดแถลงในวันรุ่งขึ้น (23 ม.ค.)
ทั้งนี้ นายประสิทธิชัยให้การว่า นำเสื้อผ้าที่สวมใส่วันก่อเหตุไปทิ้งไว้ที่ป่าหญ้าข้างทางใกล้กับซอยโยธาธิการลพบุรี เมื่อตำรวจพาไปชี้จุด ก็พบเสื้อผ้าดังกล่าว ส่วนทองที่ชิงจากร้านทองมา ตอนแรกนายประสิทธิชัยให้การว่า ทิ้งลงแม่น้ำใต้สะพานบางระจัน สะพานข้ามแม่เจ้าพระยา แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ระดมกำลังไปค้นหา กลับไม่พบแต่อย่างใด ภายหลังจึงพบว่า นายประสิทธิชัยซุกซ่อนทองดังกล่าวไว้ที่ใต้หลังคาโรงรถบ้านพ่อแม่ของตนเอง
มีรายงานว่า นายประสิทธิชัยให้การว่า ที่เลือกก่อเหตุเวลา 20.47 น. เพราะเป็นช่วงเวลาเลิกงาน โดยช่วง 20.00 น.ได้บอกกับพ่อตาแม่ยายว่า จะออกไปทำธุระ โดยรถจักรยานยนต์คันก่อเหตุ เป็นของพ่อตา ซึ่งยืมมาเพื่อใช้ก่อเหตุ ก่อนนำไปคืน ส่วนปืนที่ใช้ก่อเหตุ เป็นปืนของพ่อตนเองที่เป็นอดีตตำรวจ
รายงานระบุด้วยว่า นายประสิทธิชัยอ้างสาเหตุที่ก่อเหตุครั้งนี้ว่า เพราะตนเองประสบปัญหาชีวิตรุนแรง ต้องการโดนตำรวจวิสามัญฆาตกรรม จึงลงมือปล้นร้านทอง แล้วกราดยิงจนมีผู้เสียชีวิตหลายศพ ซึ่งจากการตรวจสอบประวัติพบว่า นายประสิทธิชัยจบการศึกษาระดับปริญญาโท ด้านบริหารการศึกษา ชอบยิงปืน ทางบ้านฐานะดี บิดาเป็นตำรวจ ส่วนมารดาเป็นครู อย่างไรก็ตาม ภายหลังมีรายงานทำนองว่า นายประสิทธิชัยไม่ได้ฐานะดีจริง และใช้ชีวิตติดหรู ใช้ของแบรนด์เนม และยังมีหนี้เงินกู้จากสหกรณ์ครู และธนาคารบางแห่ง ประมาณ 2 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 ม.ค. พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ได้นำทีมแถลงข่าวการจับกุมนายประสิทธิชัย ที่กองบังคับการปราบปราม โดยได้มีการโฟนอินให้ผู้ต้องหาตอบคำถามผู้สื่อข่าวด้วย โดยนายประสิทธิชัยเผยเหตุจูงใจที่ก่อเหตุครั้งนี้ว่า เกี่ยวกับปัญหาส่วนตัว และปัญหาเกี่ยวกับการเงินของตัวเอง
เมื่อถามว่า ต้องการทอง แล้วทำไมต้องก่อเหตุยิงผู้อื่นด้วย นายประสิทธิชัยกล่าวว่า ต้องการยิงเพื่อเปิดทางหรือว่าให้กลัว ถามต่อว่า ได้วางแผนไว้หรือไม่ เจ้าตัวตอบว่า มีการคิดไว้ล่วงหน้า 2-3 วัน เมื่อถามว่า ทำไมต้องยิงผู้หญิง (พนักงานร้านทอง) ซ้ำ เจ้าตัวอ้างว่า ตอนที่ตนขึ้นไปที่ตู้กระจก ได้หันปลายกระบอกปืนไปที่ผู้หญิง ถึงมือที่ใส่อยู่มันไปขัด พอดึงถุงมือให้ขยับออก มันได้ยิงไป 2 นัด คือ ถุงมือเข้าไปพันไกปืน ผู้สื่อข่าวถามว่า เห็นเด็กไหม เจ้าตัวตอบว่า ไม่เห็น ตนยิง รปภ.เพื่อเปิดทาง คาดว่า ลูกกระสุนแฉลบไปโดนเด็ก ไม่ได้ตั้งใจจะยิงเด็ก ถามต่อว่า ไม่รู้สึกผิดเลยหรือที่ยิงเด็ก เจ้าตัวตอบว่า รู้สึกสำนึกและรู้สึกผิด เสียใจกับการกระทำ อยากจะกล่าวคำว่าเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต ส่วนท่อเก็บเสียงที่ใช้กับปืนนั้น นายประสิทธิชัยเผยว่า สั่งมาจากเพื่อนรุ่นน้องในอินเทอร์เน็ต เหตุที่ต้องใช้เพื่อไม่ให้เกิดเสียงดัง ไม่ต้องการให้ผู้คนตื่นตระหนก
เบื้องต้นตำรวจตั้งข้อหานายประสิทธิชัย 7 ข้อหา ได้แก่ ฆ่าผู้อื่นเพื่อตระเตรียมทำความผิดอื่น, ฆ่าผู้อื่นเพื่อจะเอาประโยชน์, พยายามฆ่าผู้อื่นฯ, ชิงทรัพย์โดยใช้อาวุธปืนฯ, ยิงปืนในเมืองหมู่บ้านฯ, มีและใช้อาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ และมียุทธภัณฑ์ครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
หลังตำรวจขอศาลฝากขัง นายประสิทธิชัยได้ถูกควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ซึ่งเจ้าตัวระบุว่า พร้อมรับโทษทุกสถาน ไม่ว่าจะประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต
2.ศาลฎีกาพิพากษาแก้ ลดโทษจำคุก "สรยุทธ" คดีโกงค่าโฆษณา อสมท เหลือ 6 ปี 24 เดือน ไม่รอลงอาญา!
เมื่อวันที่ 21 ม.ค. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ฟ้องนางพิชชาภา หรือนางชนาภา บุญโต อดีตพนักงานจัดทำคิวโฆษณาของ บมจ.อสมท จำเลยที่ 1, บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2, นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมการผู้จัดการ บจก.ไร่ส้ม และอดีตพิธีกรรายการเล่าข่าวชื่อดัง จำเลยที่ 3 และ น.ส.มณฑา ธีระเดช พนักงาน บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 4 ในความผิดฐานเป็นพนักงานเรียกรับทรัพย์สินฯ, เป็นพนักงานฯ ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นความเสียหายแก่องค์กร, เป็นพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และสนับสนุนพนักงานกระทำความผิดดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2548-28 เม.ย.2549 ต่อเนื่องกัน นางพิชชาภาซึ่งเป็นพนักงานจัดทำคิวโฆษณาของ บมจ.อสมท ได้จัดทำคิวโฆษณารวม ในรายการ “คุยคุ้ยข่าว” โดยใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต ไม่รายงานการโฆษณาเกินเวลา เพื่อเรียกเก็บค่าโฆษณาเกินเวลาจาก บจก.ไร่ส้มจำนวน 17 ครั้ง ทำให้ บมจ.อสมท เสียหายกว่า 138 ล้านบาท และยังได้เรียกรับเอาเงินกว่า 6 แสนบาท จากบริษัท ไร่ส้ม, นายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา ที่ให้การสนับสนุนในการกระทำความผิด โดยจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธต่อสู้คดี
ต่อมา ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำคุกนางพิชชาภา อดีตพนักงาน บมจ.อสมท จำเลยที่ 1 ฐานเป็นพนักงานเรียกรับหรือยอมรับทรัพย์สินฯ เป็นเวลา 20 ปี, ปรับ บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 จำนวน 80,000 บาท ส่วนนายสรยุทธ และน.ส.มณฑา จำเลยที่ 3-4 ให้จำคุกคนละ 13 ปี 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา
หลังจากนั้น บจก.ไร่ส้ม, นายสรยุทธ, น.ส.มณฑา จำเลยที่ 2-4 ได้ยื่นฎีกา โดยมีผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นเซ็นชื่อรับรองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามขั้นตอนของกฎหมาย เนื่องจากคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น หรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี หรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่โทษจำคุกนั้นไม่เกิน 5 ปี หรือคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกินกำหนดดังกล่าว หากจะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องมีผู้พิพากษาในสำนวน หรือที่ทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ หรืออัยการสูงสุดเซ็นรับรองว่า มีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย
ทั้งนี้ จำเลยทั้งหมดได้ขอประกันตัวและได้รับการปล่อยชั่วคราว โดยศาลตีราคาประกันคนละ 5 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล
ต่อมา ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่ต้องรายงานคิวโฆษณาส่วนเกินเวลาให้ผู้บังคับบัญชาทราบ แต่ไม่รายงาน โดยในทางไต่สวนรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 4 เป็นผู้ใช้จำเลยที่ 1 หาช่องทางช่วยเหลือตามคำขอของจำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 1 ใช้น้ำยาลบคำผิด แม้จะฟังไม่ได้ว่า เช็ค 6 ฉบับ จ่ายเป็นค่าตอบแทน แต่ฟังได้ว่ามีการจ่ายเช็คในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งหากไม่ได้ประโยชน์ในการดำเนินการ จำเลยที่ 1 คงไม่หาช่องทางช่วยเหลือ แม้จะมีการจ่ายเงินค่าโฆณาส่วนเกิน ก็จ่ายหลัง อสมท ผู้เสียหายตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้ว และล่วงเลยจากเวลาที่เกิดเหตุ 2 ปี
พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1-4 เป็นเจ้าหน้าที่ และผู้สื่อข่าวอาวุโส กลับทำผิดโดยไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง ทั้งที่ควรเป็นแบบอย่างที่ดี ขณะที่การกระทำของจำเลยทั้งสี่ ถือว่าเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระ ไม่ใช่กรรมเดียวที่จำเลยฎีกาต่อสู้ พิพากษาแก้ให้จำคุกนางพิชชาภา หรือนางชนาภา บุญโต จำเลยที่ 1 จาก 20 ปี เป็นจำคุก 12 ปี, ส่วน บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 จากปรับ 80,000 บาท เป็นปรับ 72,000 บาท, ส่วนนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา จำเลยที่ 3 และ น.ส.มณฑา ธีระเดช จำเลยที่ 4 จากจำคุก 13 ปี 4 เดือน เป็นจำคุก 6 ปี 24 เดือน
3.ศาล รธน.ชี้ อนค.พฤติการณ์ยังไม่พอฟังล้มล้างการปกครอง แต่ควรแก้ข้อบังคับพรรค เหตุคลุมเครือ ส่อทำแตกแยก!
เมื่อวันที่ 21 ม.ค. ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมเพื่อพิจารณาและวินิจฉัยสำนวนคดีที่นายณฐพร โตประยูร อดีตประธานที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ผู้ถูกร้องที่ 1 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค อนค. ผู้ถูกร้องที่ 2 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค อนค. ผู้ถูกร้องที่ 3 และคณะกรรมการบริหารพรรค อนค. ผู้ถูกร้องที่ 4 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่
ทั้งนี้ นายณฐพร โตประยูรในฐานะผู้ร้องเรื่องนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวต่อผู้สื่อข่าวก่อนเข้ารับฟังคำวินิจฉัยคดี โดยยืนยันว่า ไม่มีเจตนาที่จะกลั่นแกล้งพรรค อนค. แต่ทำด้วยจิตสำนึกของประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ที่ต้องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์
ด้านพรรค อนค.ได้เปิดที่ทำการพรรคที่ชั้น 5 อาคารไทยซัมมิท ให้ผู้ที่สนับสนุนพรรคเข้าให้กำลังใจและรอลุ้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่แกนนำพรรค และ ส.ส.ของพรรค รอฟังคำวินิจฉัยอยู่ที่ชั้น 8 ของอาคารดังกล่าว
ส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญ องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคดี โดยมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ยกคำร้องของนายณฐพร เนื่องจากเห็นว่า กรณีที่กล่าวอ้างว่าข้อบังคับ นโยบายพรรคและสัญลักษณ์ของพรรคอนาคตใหม่ มีลักษณะเป็นการใช้สิทธิเพื่อล้มล้างการปกครอง และเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา14 (1) จากบทบัญญัติดังกล่าว จะพบว่า เป็นอำนาจหน้าที่ กกต.และนายทะเบียนพรรคการเมืองต้องตรวจสอบว่า คำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองถูกต้องหรือไม่
ซึ่งปรากฎข้อเท็จจริงว่า ในกระบวนการยื่นคำขอจดจัดตั้งพรรคการเมืองอนาคตใหม่ มีการยื่นเอกสารข้อบังคับพรรค พร้อมคำประกาศอุดมการณ์และสัญลักษณ์พรรค นายทะเบียนพรรคการเมืองได้ตรวจสอบความถูกต้องและรับจดจัดตั้งโดยความเห็นชอบของ กกต. และมีประกาศจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ข้อบังคับพรรคอนาคตใหม่จึงไม่มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ หากภายหลังพบว่า ข้อบังคับพรรคไม่เป็นไปตาม พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมืองต้องรายงานต่อ กกต.ให้มีมติเพิกถอนข้อบังคับพรรค ตามมาตรา17 (3) ได้ กรณีนี้จึงไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอว่า เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ
ทั้งนี้ องค์คณะตุลาการฯ ระบุว่า การยื่นคำร้องของนายณฐพรเป็นเพียงข้อห่วงใยในฐานะพลเมืองที่มีต่อสถาบันและระบอบการปกครองของประเทศ โดยการที่ข้อบังคับพรรคใช้ถ้อยคำว่า "ประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ” โดยเฉพาะคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคอนาคตใหม่ที่ใช้ถ้อยคำว่า "จะยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย” นั้น ศาลเห็นว่า ควรทำให้มีความชัดเจน ไม่คลุมเครือ แตกต่างจาก มาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญที่ระบุ ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันอาจก่อให้เกิดความแตกแยกของชนในชาติ ตามมาตรา 14 (3) พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่ง กกต. มีหน้าที่และอำนาจที่จะพิจารณาและเพิกถอน เพื่อป้องกันความสับสนขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น สมควรที่ผู้เกี่ยวข้องจะได้ช่วยกันแก้ไข เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญต่อไป
ส่วนกรณีที่ผู้ร้องอ้างว่า ผู้ถูกร้องมีแนวคิดคลั่งไคล้ปรัชญาตะวันตก และเป็นปฏิกษัตริย์นิยม มีการแสดงความเห็นทั้งก่อนและหลังการจัดตั้งพรรคการเมือง รวมถึงการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนและการแสดงความเห็นต่อสังคมในช่องทางต่างๆ ศาลเห็นว่า การใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงเพียงพอในระดับที่ทำให้เกิดผลและกระทบสิทธิและเสรีภาพ จนถึงขนาดที่วิญญูชนอาจคาดการณ์ได้ว่า น่าจะเกิดผลเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง โดยการกระทำนั้นจะต้องดำเนินการอยู่ ไม่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ
แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากกฎในคดี เป็นเพียงข้อมูลข่าวสารจากเว็ปไซต์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออินเตอร์เน็ต จึงยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกร้องทั้งสี่ มีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครอง กรณีจึงไม่เพียงพอรับฟังได้ว่า เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง ส่วนการกระทำจะเป็นความผิดตามกฎหมายอื่นใดหรือไม่ ต้องว่ากันตามกระบวนการและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป
หลังฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค อนค. นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคพร้อมแกนนำและ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ได้เปิดแถลง โดยนายปิยบุตรกล่าวว่า คดีนี้ไม่ควรเป็นคดีตั้งแต่แรก พร้อมยืนยันว่า ตน นายธนาธร และพรรค อนค.ไม่มีความคิดล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ขณะที่นายธนาธรได้กล่าวขอบคุณทุกคนที่ให้กำลังใจ พร้อมสัญญากับประชาชนว่า ส.ส.อนาคตใหม่ จะมุ่งมั่นทำงานในสภาอย่างสร้างสรรค์ ส่วนตนจะทำงานนอกสภากับประชาชนอย่างต่อเนื่อง
4. “บิ๊กตู่” สั่งเด้ง “วิระชัย” เข้ากรุสำนักนายกฯ พร้อมออกคำสั่งเตือน “บิ๊กโจ๊ก” อย่าประพฤติชั่วร้ายแรง ขู่ฟันวินัย!
เมื่อวันที่ 24 ม.ค. พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เผยถึงกรณีมีกระแสข่าวสำนักนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร.ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 ม.ค.ว่า เป็นเรื่องจริง โดยคำสั่งดังกล่าวมีเหตุผลมาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติรายงานว่า พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร.มีพฤติการณ์และการกระทำซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ ในการอำนวยความยุติธรรม กระทบต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการปฏิบัติราชการของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นเหตุให้ราชการเสียหาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงลงวันที่ 21 ม.ค. 2563 แล้ว
ดังนั้นเพื่อประโยชน์แก่การตรวจสอบเรื่องดังกล่าวและเรื่องอื่นๆ กรณีที่ประชาชนร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ระหว่างตรวจสอบให้เป็นไปอย่างโปร่งใส มีความน่าเชื่อถือ และเพื่อให้เป็นที่ยอมรับแก่ประชาชนและผู้ร้องเรียน สมควรพิจารณาสั่งการให้ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. ไปปฏิบัติราชการนอกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มีคำสั่งให้ พล.ต.อ.วิระชัย มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยไม่ขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิม และให้ได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มพิเศษและสิทธิประโยชน์อื่นใดไม่ต่ำกว่าที่ได้รับอยู่เดิม โดยเบิกจ่ายจากสังกัดเดิม ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นตันไปจนกว่าจะมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นอย่างอื่น
ทั้งนี้ นอกจาก พล.ต.อ.วิระชัย จะถูกโยกไปอยู่สำนักนายกฯ แล้ว วันเดียวกัน (23 ม.ค.) พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ยังมีคำสั่งให้ พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย รอง ผบ.ตร. มาปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยขาดจากการปฏิบัติหน้าที่ทางตำแหน่งเดิม เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มอบหมาย ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง โดยให้เหตุผลในการโยก พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ว่า เพื่อให้การปฏิบัติราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ
ด้าน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. เผยถึงกรณีมีคำสั่งโยกย้าย 2 นายตำรวจระดับ รอง ผบ.ตร.ว่า เพื่อให้มีความเอกภาพในคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ พล.ต.อ.วิระชัย ท่านเป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ตนได้เสนอไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงมีคำสั่งไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ถ้าท่านอยู่เกรงว่าจะเป็นอุปสรรคและเกิดปัญหาได้ พร้อมยอมรับว่า สาเหตุการย้ายมาจากเรื่องคลิปเสียงสนทนาระหว่าง 2 นายตำรวจยศ พล.ต.อ.
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังมีคำสั่งสำนักนายกฯ ย้าย พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา มาประจำสำนักนายกฯ เมื่อวันที่ 23 ม.ค. ปรากฏว่า วันต่อมา 24 ม.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 1/2563 เรื่อง ให้ข้าราชการรักษาจรรยาและวินัยข้าราชการ มีเนื้อหาระบุว่า ตามที่ได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 2/2562 ลงวันที่ 9 เม.ย. 2562 สั่งให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ขาดจากการเป็นข้าราชการตำรวจ และให้โอนไปเป็นข้าราชการพลเรือน เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในกรอบอัตรากำลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษในสำนักนายกรัฐมนตรี ตามมาตรการแก้ไขปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างถูกตรวจสอบ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ได้รับเฉพาะเงินเดือน โดยไม่ได้รับงินประจำตำแหน่งและสิทธิประโยชน์ประจำตำแหน่งนั้น
เพื่อให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล รักษาจรรยาและวินัยข้าราชการ และเพื่อให้การปฏิบัติงานของข้าราชการดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้บังคับบัญชา ซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง จึงเห็นสมควรกำชับให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ รักษาจรรยาและวินัยข้าราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเหตุดังต่อไปนี้
1. ไม่กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ไม่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ไม่รายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา ไม่ปฏิบัติราชการอันเป็นการกระทำการข้ามผู้บังคับบัญชาเหนือตน ไม่อาศัยตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนหาประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น ไม่ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ ไม่ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการ ไม่กระทำการอันเป็นการกลั่นแกล้ง กดขี่ ข่มเหงกันในการปฏิบัติราชการ ไม่ดูหมิ่น เหยียดหยามประชาชน
2. ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบ ของทางราชการ ด้วยความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ อุทิศเวลาของตนให้แก่ราชการ รักษาความลับของทางราชการ มีความสุภาพ เรียบร้อย รักษาความสามัคคี ช่วยเหลือการปฏิบัติราชการระหว่างข้าราชการด้วยกันและผู้ร่วมปฏิบัติราชการ
ทั้งนี้ ให้ข้าราชการดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ แต่ให้งดการมอบหมายงานพิเศษและสำคัญ และหากมีกรณีไม่รักษาจรรยาและวินัยข้าราชการให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยต่อไป ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ลงวันที่ 24 ม.ค. 2563
5.“ชวน” ส่งศาล รธน.วินิจฉัยปัญหา ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน กระทบ พ.ร.บ.งบประมาณฯ 63 หรือไม่!
เมื่อวันที่ 20 ม.ค. นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีต ส.ส.พัทลุง ปชป.แถลงว่า ได้ตรวจสอบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 3.2 ล้านล้านบาท ของสภาผู้แทนราษฎร พบว่า มี ส.ส.กดบัตรแทนกัน คือ นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง เขต 2 พรรคภูมิใจไทย (ภท.) เนื่องจากวันและเวลาในการลงมติ นายฉลองเดินทางไปยังสนามบินหาดใหญ่ แต่กลับมีชื่อนายฉลองร่วมเป็นองค์ประชุม และมีชื่อร่วมลงมติในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ตั้งแต่มาตรา 39 ในวันที่ 10 ม.ค. ไปจนถึงการประชุมวันที่ 11 ม.ค.ที่มีชื่อนายฉลองลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวในวาระ 3 ซึ่งวันที่ 11 ม.ค. เป็นวันเด็กแห่งชาติ มีภาพถ่ายจากเฟซบุ๊กของเทศบาลตำบลอ่างทอง จ.พัทลุง ว่า นายฉลองเป็นประธานในพิธีเปิดงานวันเด็กฯ ที่ อบต.ชะมวง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง โดยนายฉลองเดินทางจากสนามบินนครศรีธรรมราช กลับ กทม.ในวันที่ 13 ม.ค. เวลา 11.55 น.
หลังนายนิพิฏฐ์แถลงเสร็จ ปรากฏว่า นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ภท.ได้ลงมาพบนายนิพิฏฐ์ พร้อมกล่าวว่า นายนิพิฏฐ์กัดไม่ปล่อย
ขณะที่นายฉลองให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ได้ออกจากรัฐสภาช่วงค่ำวันที่ 10 ม.ค.จริง และได้เสียบบัตรทิ้งไว้ แต่ไม่ได้มอบหมายให้ใครกด
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เซ็นคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบพฤติกรรมนายฉลอง กรณีถูกกล่าวหาเรื่องให้คนอื่นเสียบบัตรแทน โดยนายอนุทินย้ำว่า กฏระเบียบของพรรคชัดเจนว่า หาก ส.ส.คนใดทำผิดกฏระเบียบของพรรค จะมีมาตรการลงโทษ ดังนั้นหากนายฉลองทำผิดจริง ยืนยันไม่เลี้ยงเอาไว้อย่างแน่นอน
ขณะที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ให้นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบข้อเท็จจริงการเสียบบัตรแทนกัน และรายงานผลให้ทราบโดยเร็ว
ด้านนายนิพิฏฐ์ ไม่พอใจที่นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.ภท.บอกว่า ตนกัดไม่ปล่อย จึงได้ออกมาเปิดข้อมูลอีกว่า มี ส.ส.ภท.อีก 1 คน ที่มีกรณีเสียบบัตรแทนกัน คือ นางนาที รัชกิจปราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ภท. โดยระบุว่า นางนาทีเดินทางไปจีนระหว่างวันที่ 11-15 ม.ค. แต่มีการแสดงตนเป็นองค์ประชุมและลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ นายนิพิฏฐ์ ยังออกตัวด้วยว่า การออกมาเผยเรื่องเสียบบัตรแทนกัน ไม่ได้มีเจตนาให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เป็นโมฆะ และไม่ได้เป็นการเอาคืนพรรค ภท.หลังแพ้เลือกตั้งเขต 2 พัทลุง
วันต่อมา 21 ม.ค. นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เผยผลตรวจสอบเรื่องเสียบบัตรแทนกันกรณีนายฉลองว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นความจริง แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า เสียบบัตรในตำแหน่งใด คณะกรรมการจึงมีความเห็นว่า ข้อกล่าวหาเป็นจริง ทำให้ผลการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ตั้งแต่มาตรา 31-35 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และว่า กระบวนการที่จะทำให้ถูกต้องคือ ทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 139 ที่ให้ประธานสภาชะลอร่างดังกล่าวไว้ 3 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกของรัฐสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 หรือ 75 คน เสนอประธานสภาให้ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า เป็นร่างกฎหมายที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ข้อสังเกตของคณะกรรมการเห็นว่า กรณีนี้ไม่ทำให้ร่างกฎหมายต้องตกไป
วันต่อมา 22 ม.ค. ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลได้เข้าชื่อ 90 คน ยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภา เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยใน 3 ประเด็นคือ 1.กระบวนการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ขัดหรือแย้งกับหลักการการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 120 หรือไม่ 2.หากมีปัญหา จะมีปัญหาทั้งฉบับหรือเฉพาะมาตรา และ 3. จะดำเนินการในแต่ละกรณีต่อไปอย่างไร
ทั้งนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ได้เดินเรื่องต่อ โดยส่งศาลรัฐธรรมนูญแล้วเมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงสิ่งที่หลายฝ่ายกังวลว่า หากกรณีเสียบบัตรแทนกันส่งผลให้ พ.ร.บ.งบประมาณฯ มีปัญหาหรือเกิดความล่าช้า จะแก้ปัญหาอย่างไร โดย พล.อ.ประยุทธ์ เผยว่า ได้หารือเรื่องนี้กับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รวมทั้งต้องหารือกับกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณว่าจะทำอย่างไร และว่า ในส่วนของงบบุคลากร คงไม่มีปัญหามากนัก แต่จะมีปัญหาเรื่องงบลงทุน ซึ่งมีจำนวนหลายแสนล้านบาท ถ้าทำไม่ได้ จะส่งผลให้เศรษฐกิจของเราไม่ดีขึ้นมากนัก
ขณะที่นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แนะว่า รัฐบาลสามารถใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ เพื่อตรา พ.ร.ก.ได้ โดยอาจทำได้ 2 ทาง ระหว่าง 1.พ.ร.ก.เพื่อใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 หรือ 2.พ.ร.ก.เพื่อนำเฉพาะเงินลงทุนมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งกรณีหลังนี้ รัฐบาลในอดีตเคยทำมาแล้ว