เพจ “ทนายคู่ใจ” โพสต์ข้อความวิเคราะห์ประเด็นที่ นายประสิทธิชัย เขาแก้ว หรือ ผอ.กอล์ฟ คนร้ายปล้นร้านทอง จ.ลพบุรี ยิงน้องไตตั้น โดยทางกฎหมายกรณีดังกล่าว มีทั้งเรื่องเจตนา และเรื่องกระทำการโดยพลาด ซึ่งเรื่องเจตนามีบัญญัติในมาตรา 59 วรรค 2 ซึ่งแยกเป็น 2 ประเภท เจตนาประสงค์ต่อผล, เจตนาเล็งเห็นผล ไว้อย่างชัดเจน
จากกรณีเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 63 คนร้ายก่อเหตุกราดยิงชิงทองร้านทองออโรร่า ในห้าง จ.ลพบุรี และยิงประชาชน เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 4 ราย ก่อนจะขับรถจักรยานยนต์ หลบหนีไป ตำรวจใช้เวลาสืบสวนจนสามารถจับกุมตัวได้เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ทราบชื่อคือ นายประสิทธิชัย เขาแก้ว ผอ.โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.สิงห์บุรี หรือ ผอ.กอล์ฟ โดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยืนยันมีหลักฐานชัดเจน ยังไม่พบคนอื่นเกี่ยวข้อง ขณะที่ผู้ต้องหา รับลงมือจากปัญหาส่วนตัวเรื่องหนี้สิน และไม่ตั้งใจลงมือกับเด็ก
ต่อมา เมื่อวันที่ 23 ม.ค. เพจ “ทนายคู่ใจ” หรือ ทนายรณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กจากกรณีที่ นายประสิทธิชัย เขาแก้ว ยิงน้องไตตั้น โดยระบุว่า “จากประเด็นยิงน้องไตตั้น ผอ.กอล์ฟ ให้สัมภาษณ์กับนักข่าว ว่า ไม่ได้ตั้งใจยิงน้องไตตั้น ตนเองยิง รปภ.แล้วกระสุนแฉลบไปโดนน้องไตตั้นจนเสียชีวิตนั้น แบบนี้ในทางกฎหมายจะอ้างได้หรือไม่ ตอบ !! ในทางกฎหมายกรณีแบบนี้อ้างไม่ขึ้นนะครับ แต่ผมแยกเป็น 3 กรณีละกันนะครับ
1. กรณีไม่ได้ตั้งใจยิงใครเลย ยกปืนยิงเข้าไปในห้างที่มีคนอยู่ แล้วกระสุนไปถูกน้องไตตั้นเสียชีวิต กรณีนี้จะอ้างว่าไม่มีเจตนาฆ่าไม่ได้ ซึ่งการยิงปืนเข้าไปในฝูงชนโดยมิได้คำนึงว่ากระสุนปืนจะไปถูกใครเข้า จำเลยย่อมเล็งเห็นผลที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของตน ถือว่าเป็นการฆ่าคนตายโดยเจตนา (เล็งเห็นผล) (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1818/2514)
2. กรณีตั้งใจยิง รปภ. แต่กระสุนไปถูกน้องไตตั้นถึงแก่ความตาย ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีเจตนายิงน้องไตตั้นก็ตาม ในทางกฎหมายถือว่า “เป็นการกระทำโดยพลาด” อันเป็นการเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่งแต่ผลไปเกิดกับอีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น (ป.อ มาตรา 60) ซึ่งจะอ้างว่าไม่ได้ตั้งใจมาปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 370/2527)
3. กรณีที่ไม่ได้ยิงเข้าไปในฝูงชน ไม่ได้ตั้งใจยิงคน และมีบางข่าวบอกว่าเจตนาที่จะยิงพื้น แล้วกระสุนแฉลบจากพื้นไปถูกน้องไตตั้นถึงแก่ความตาย กรณีนี้ก็อ้างเรื่องไม่เจตนามาปฏิเสธความรับผิดไม่ได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากการใช้อาวุธปืนซึ่งมีสภาพร้ายแรงยิงไปที่พื้น ถึงแม้จะอ้างว่าไม่ตั้งใจยิงน้องไตตั้นก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า เมื่อกระสุนปืนกระทบกับพื้นแล้วจะหักเหไปในทิศทางใด อีกทั้งน้องไตตั้นนั้นยังเด็กความสูงนั้นไม่น่าเกิน 100 ซม. ซึ่งเป็นระยะที่ไม่ห่างจากพื้นมากนัก อันเป็นวิถีที่กระสุนจะทำมุมแฉลบไปโดนได้ ซึ่ง ผอ.กอล์ฟ ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่ากระสุนปืนอาจแฉลบไปถูกคนที่อยู่ในบริเวณนั้นได้ จะอ้างว่าไม่เจตนาคงฟังไม่ขึ้น (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5505/2559)
ทั้งสามกรณีข้างต้นจะเห็นว่า มีทั้งเรื่องเจตนา และเรื่องกระทำการโดยพลาด ซึ่งเรื่องเจตนามีบัญญัติไว้ในมาตรา 59 วรรค 2 ซึ่งแยกเป็น 2 ประเภท
- เจตนาประสงค์ต่อผล
- เจตนาเล็งเห็นผล
ดังได้อธิบายและยกตัวอย่างมาข้างต้น ส่วนอีกเรื่องคือเรื่องกระทำการโดยพลาดเป็นกฎหมายปิดปากในกรณีที่ตั้งใจยิงอีกคน แต่ผลไปเกิดกับอีกคน จะยกเรื่องไม่เจตนามาปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ อย่าเพิ่งไปเดือดดาลคำสัมภาษณ์ของ ผอ.กอล์ฟ ละกันที่บอกไม่ตั้งใจยิง แล้วกลัวว่ากฎหมายจะลงโทษไม่ได้ เพราะถึงแม้ว่าไม่ตั้งใจยิงน้องไตตั้นจริงๆ แต่คนอื่นๆ ตั้งใจยิง เจตนาฆ่าแน่นอน (มาตรา 288 ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี) อย่าลืมว่ายังมีประเด็นชิงทรัพย์จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายอีกนะครับ ตามมาตรา 339 วรรคท้าย ซึ่งมีโทษสูงสุดคือประหารชีวิต เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งดรามากันไปเลยชาวโซเชียล”