เมื่อวันเด็กที่ผ่านมา รายการหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากเด็กๆ มีผู้ปกครองจูงลูกจูงหลานไปกันอย่างแน่นขนัด ก็คือการเข้าชมเรือหลวงจักรีนฤเบศร ซึ่งเปิดต้อนรับเด็กในวันเด็กทุกปี และต้อนรับประชาชนทั่วไปทุกวันที่ว่างจากภารกิจ
ร.ล.จักรีนฤเบศร เป็นเรือบันทุกเครื่องบินลำเดียวของไทย มีความยาว ๑๘๒ เมตร กว้าง ๓๐.๕ เมจร สูงจากน้ำถึงดาดฟ้าบิน ๑๘.๕ เมตร ดาดฟ้าบินกว้าง ๓๐.๕ เมตร ความสูงถึงยอดเสากระโดง ๔๔.๙๕ เมตร มีระบบตรวจจับด้วยเรด้าร์ ติดปืน ๒๐ ม.ม. ๔ กระบอกเพื่อป้องกันตัวเอง มีเครื่องบินไอพ่นแบบโจมตีและทิ้งระเบิดที่สามารถขึ้นลงในแนวดิ่ง ๙ เครื่อง แต่ตอนนี้ปลดประจำการไปแล้ว ยังเหลือเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ ๖ เครื่อง และเฮลิคอปเตอร์ลำเลียง ๒ เครื่อง เป็นเสมือนฐานทัพเคลื่อนที่ เพื่อปกป้องชายฝั่งทะเลไทย
ภายในเรือจักรีนฤเบศรประกอบด้วยห้องปฏิบัติงานและห้องพักรวมกว่า ๖๐๐ ห้อง ส่วนสำคัญคือสะพานเดินเรือ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการนำเรือและประสานงานรับส่งอากาศยานกับหอบังคับการบิน ห้องควบคุมการจราจรทางอากาศ ศูนย์ยุทธการ ซึ่งเป็นเสมือนมันสมองเรือ รวบรามข่าวสารกำหนดแนวทางในการใช้อาวุธและอากาศยาน และยังมีโรงพยาบาลให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้น สำหรับช่วยเหลือด้านการแพทย์แก่กำลังพลของเรือและมีกรณีพิเศษ ประกอบด้วย ห้องตรวจโรค ห้องผ่าตัด ห้องเอกซ์เรย์ และห้องทันตกรรม ห้องผู้ป่วยสามารถรองรับได้ ๑๕ เตียง ห้องผู้ประสบภัย สามารถรองรับได้ ๒๖ เตียง
ร.ล.จักรีนฤเบศรสั่งต่อจากประเทศสเปนในราคา ๗,๑๐๐ ล้านบาท ใช้เวลาต่อถึง ๔ ปี จากเดือนตุลาคม ๒๕๓๖ ทำพิธีปล่อยลงน้ำในวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๓๙ ครบรอบ ๒๔ ปีในวันนี้ โดย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จไปทำพิธีร่วมกับกองทัพเรือสเปน ที่อู่เรือบาซาน ประเทศสเปน มีการทดลองแล่นเรือ และนำกลับมาประเทศไทย เข้าประจำการในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๔๐
กองทัพเรือได้ขอพระราชทานชื่อเรือ เพื่อเป็นสิริมงคลและเป็นขวัญกำลังใจแก่กำลังพลประจำเรือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเรือหลวงลำนี้ว่า “เรือหลวงจักรีนฤเบศร” แปลว่า “ผู้เป็นใหญ่แห่งราชวงศ์จักรี” และใช้คำขวัญว่า “ครองเวหา ครองนที จักรีนฤเบศร”
นอกจาก ร.ล.จักรีนฤเบศรจะมีหน้าที่ป้องกันประเทศและดูแลผลประโยชน์ของชาติด้านชายฝั่งทะเลแล้ว ยังมีภาระช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติต่างๆทั้งในด้านอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามันหลายต่อหลายครั้ง อย่างเช่นพายุไต้ฝุ่นซีตาห์ ไต้ฝุ่นลินดา หรือคลื่นสึนามิ ที่คลื่นลมแรงจนไม่มีเรือลำใดออกทะลได้ แต่ ร.ล.จักรีนฤเบศรที่สามารถผจญกับคลื่นสูงได้ถึง ๑๓.๘ เมตร ได้ช่วยประชานที่ลอยคออยู่ในทะเลจากเรือแตก และผู้ติดค้างอยู่ตามเกาะต่างๆได้ แม้แต่อุทกภัยที่เกิดขึ้นบนบก การคมนาคมถูกตัดขาด เฮลิคอปเตอร์จาก ร.ล.จักรีนฤเบศรก็เข้าช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ประชาชนได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งคราวเกิดจราลในกรุงพนมเปญที่มีการเผาสถานทูตไทย ทำร้ายคนไทย และปล้นห้างร้านคนไทย รัฐบาลไทยได้จัดหน่วยคอมมานโด หน่วยรบพิเศษ ในการนำของ พลเอก วิชิต ยาทิพย์ และเครื่องบินลำเลียงของกองทัพอากาศ ไปนำเจ้าหน้าที่สถานทูตและคนไทยกลับบ้าน ร.ล.จักรีนฤเบศรก็เข้าลอยลำด้านตะวันตกของเกาะกง นอกน่านน้ำของกัมพูชา พร้อมยานอากาศบนเรือที่เตรียมจะปฏิบัติการณ์ทางทหารได้ทันที หากการนำคนไทยกลับบ้านโดยดีมีปัญหา
ใช้มา ๒๔ ปีเต็มถึงวันนี้ ก็คิดว่าน่าจะคุ้มค่ากับ ๗,๑๐๐ ล้านบาทแล้ว สำหรับการช่วยชีวิตและขจัดความทุกข์ยากให้ประชาชนที่ผจญภัยพิบัติจากธรรมชาติ ทั้งยังมีกำไรที่ทำให้คนที่คิดจะมีปัญหากับไทย เกิดความ “เกรงใจ”